พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 30 – 31 พ.ค. 2562 ณ โรงแรม แกลเลอรี่ ดีไซน์
โดยได้รับเกียรติจาก นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธานจัดกิจกรรม พร้อมให้กำลังใจคณะครู ผู้บริหาร บุคคลากรทางการศึกษา และภาคีเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน ท่ีมาร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาการศึกษาของจังหวัด ร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่ออนาคตของเด็กเยาวชนน ลูกหลานศรีสะเกษ ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ดังความตอนหนึ่งว่า
” การทำงานทุกอย่างล้วนมีอุปสรรค์
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
แต่เมื่อพวกเราร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค์จนผ่านพ้นมันไปได้
ความสำเร็จที่ได้มามันจะทำให้เราชื่นใจและมีความสุข
ที่สำคัญคือเราจะตายตาหลับ… “
โดยมีนายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 กล่าวรายงานและเน้นย้ำถึงความตั้งใจของคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูจากสถานศึกษานำร่อง และภาคีเครือข่ายการศึกษาไทย ที่จะร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ อย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ได้ฝากให้คณะผู้ร่วมประชุมทุกคนช่วยกันใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้ได้มากที่สุด ตรงจุดไหนที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินการพัฒนาการศึกษาที่เป็นอยู่ ให้ช่วยกันเสนอแนะและพยายามเสนอแนวทางการดำเนินการที่คณะทำงานในพื้นที่คิดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการศึกษา
“การปฏิรูป ไม่ใช่การทำครั้งเดียวเสร็จ
นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4
เราทุกคนต้องช่วยกัน”
“ความเป็นอิสระนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
เราต้องทำให้เค้าเห็นว่าเรามีความรับผิดชอบ
มีมาตรฐานของเรา”
ผลจากการประชุมทำให้เกิดข้อเสนอแนะเพื่อการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่โรงเรียน อาทิ
ด้านหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผล
หลักสูตรแกนกลางที่ยังคงเป็นอุปสรรค์ต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้และการประเมินการเรียนรู้ในโรงเรียนนำร่องที่มีนวัตกรรมการศึกษาของตนเอง ที่ประชุมมีความเห็นที่สอดคล้องกันที่จะมีการรวมกลุ่มระดมความคิดของโรงเรียนที่มีนวัตกรรมเดียวกันเพื่อออกแบบหลักสูตรแม่แบบของแต่ละนวัตกรรม รวมถึงการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดเน้นของแต่ละนวัตกรรม
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันหลายหน่วยงานต่างๆ จัดทำหลักสูตรต่างๆ มาให้โรงเรียนทำเพิ่ม/เสริมจากหลักสูตรแกนกลาง เช่น
1) หลักสูตรต้านทุจริต จากปปช. ร่วมกับ สพฐ.
2) หลักสูตรโครงการโรงเรียนคุณธรรม (มีแผนการสอนมาให้หยิบไปใช้สอนในวิชาหน้าที่พลเมือง)
3) หลักสูตรสถานศึกษาพอเพียง มีการระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (หมายเหตุ: ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม)
4) หลักสูตรเพศศึกษา จัดทำโดย สสส. มีแผนการสอนมาให้สอนตั้งแต่ม.1-6 และมีการประเมินว่าโรงเรียนใช้หรือไม่ อยู่ในตารางสอนหรือไม่
5) รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ให้โรงเรียนทำกิจกรรม กินเวลาการเรียนการสอนตามหลักสูตรของโรงเรียน
หลายโรงเรียนมองว่า หลักสูตรเหล่านี้ บางส่วนมีประโยชน์ต่อนักเรียน แต่ที่เป็นปัญหาคือการจัดการประกวด แข่งขัน ที่มาพร้อมกับโครงการเหล่านี้ ทำให้เกิดภาระงานมากขึ้น กินเวลาการเรียนการสอนของนักเรียน บางโครงการให้โรงเรียนเลือกเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ แต่ทั้งครูและผู้บริหารจำนวนหนึ่งก็ให้ความสำคัญกับการทำโครงการเหล่านี้ เพื่อให้ได้รางวัลเป็นผลงานประกอบการขึ้นเงินเดือน การย้าย การเลื่อนวิทยฐานะ (หมายเหตุ: ตามระเบียบปัจจุบัน เข้าใจว่าการประเมินวิทยฐานะไม่ได้เน้นที่รางวัลแล้ว)
ด้านบุคลากร
ประเด็นเรื่องการบริหารบุคคลากรในพื้นที่ เรื่องของความล่าช้าของการบรรจุแต่งตั้งและย้ายออก ย้ายเข้า ทั้งนี้โรงเรียนนำร่องเสนอให้ทุกโรงเรียนจัดทำข้อมูลตำแหน่งว่างและคุณสมบัติที่ต้องการให้เป็นปัจจุบันเสมอ เพื่อให้สำนักงานเขตสามารถส่งเรื่องให้ กศจ.พิจารณาได้ทันที
ในกรณีที่ไม่สามารถปลดล็อกด้านการบรรจุและย้าย ทำให้โรงเรียนนำร่องยังต้องเผชิญกับภาวะขาดครู มีประชุมมีการเสนอทางเลือกให้จัดตั้งกองทุนจัดหาครู โดยเสนอแนะแนวทางที่เป็นทางเลือกไว้ 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุน ทางเลือกที่ 2 หน่วยงานภาคี อาทิเช่น ทีดีอาร์ไอ หรือ มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดตั้งกองทุนเพื่อการใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มเติมและการอบรมพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรม จ.ศรีสะเกษ
ด้านบริหารงบประมาณ
ที่ประชุมร่วมแลกเปลี่ยนและพบว่าระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณไม่เอื้อต่อความต้องการและความจำเป็นและโรงเรียน อาทิ การจัดซื้อหนังสือที่ต้องจัดซื้อตามรายการที่ สพฐ.กำหนด ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ตรงกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ และโรงเรียนก็ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณส่วนนี้ไปจัดซื้อหนังสือที่ตรงกับความต้องการในการใช้ของโรงเรียนได้ ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าควรใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลที่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้
เหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่ทางผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านี้จะได้ถูกรวบรวมและนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป อันเป็นกระบวนการที่จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามกรอบเวลาของทางราชการ
หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากเวทีการประชุมในครั้งนี้ คือ รอยยิ้มแห่งความสุข ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ผู้ว่าราชการได้สร้างความมั่นใจและพร้อมจะร่วมเดินทางเพื่อการนำร่องปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ การแสดงออกถึงความจริงใจและการเอาใจใส่จากส่วนกลาง สพฐ. และภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับคณะครู ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดของจังหวัดศรีสะเกษได้เป็นอย่างดี
Written & Photo: Kejizad
Rewriter: พิทักษ์ โสตถยาคม