โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม…สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมกาญจนบุรี เป็นโรงเรียน “มีของ” ที่โดดเด่น เน้นเด็กเป็นสำคัญและการเรียนรู้ร่วมกันของครูทั้งโรงเรียน
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 12.30-15.30 น. ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. และคณะ พร้อมด้วยสื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ได้มาตรวจเยียมการดำเนินงานของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม ตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ
มีผู้นำหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่มาร่วมประชุมและให้การต้อนรับหลายท่าน อาทิ นายนิพัฒน์ มณี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 4 นายวิทยาเกียรติ เงินดี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 นายชาลี สำรองทรัพย์ ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนศึกษาเทศก์ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีนายศิวรัตน์ พายุหะ ผู้อำนวยการโรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม และคณะครู ได้สรุปผลการดำเนินงานของโรงเรียนในฐานะสถานศึกษานำร่อง และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในภาพรวม
โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีนักเรียนทั้งสิ้น 265 คน ครู 20 คน สมัครเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ได้เน้นให้ครูเรียนรู้ร่วมกัน ใช้ Lesson Study มีการจับคู่ครู เป็น Model Teacher และ Buddy Teacher และร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC) สะท้อนผลการจัดการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงแก้ไขการสอนให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ครูได้มองเห็นการสอนและการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ครูร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการวางแผนการสอน การสังเกตการสอนและสะท้อนความคิดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในชั้นเรียน การที่ได้สังเกตการณ์สอนจริงในชั้นเรียน ทำให้ครูได้เข้าใจและเห็นภาพว่าการสอนที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยเหลือพัฒนานักเรียนรายบุคคลให้ได้เรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น
การจัดการเรียนการสอนจะแบ่งกลุ่มนักเรียนแบบคละความสามารถ จะมีทั้งเด็กเก่ง ปานกลาง และอ่อน เพื่อให้เด็กได้รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเน้นให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง ครูให้ feedback ที่กระบวนการ ให้ความสำคัญกับความพยายามในการปรับปรุงพัฒนาตนเองของนักเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Growth Mindset นอกจากนั้น โรงเรียนยังมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทั้งความรู้ทางวิชาการ ทักษะศตวรรษที่ 21 และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ควบคู่กัน โรงเรียนยังได้ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีทักษะในการแก้ปัญหาที่สูงขึ้น โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นการนำไปสู่โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ School as Learning Community ที่ผ่านมา ในแต่ละปีการศึกษา จะมีจำนวนนักเรียนสมัครเข้าศึกษาที่โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงผู้ปกครองและชุมชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียน
สิ่งที่ได้พบเห็น ณ โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ ได้เห็นจุดที่น่าสนใจ น่าชื่นชมหลายส่วน อาทิ
1.โรงเรียนมีต้นทุนนวัตกรรมเด่น โรงเรียนอยู่ในโครงการ sQip หรือโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (School Quality Improvement Program) มีภาคีร่วมพัฒนาหลายองค์กร มีทีมโค้ชเข้ามาช่วยพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง มีเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนหลายเครื่องมือ เช่น PLC, Lesson Study, Open Class เป็นการเปิดโอกาสให้เพื่อนครู ผู้ปกครองชุมชน ศึกษานิเทศก์ เข้ามาร่วมเรียนรู้การปฏิบัติการสอนและสะท้อนผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนร่วมกัน
2.โรงเรียนมีแนวคิดเชิงบวกและบูรณาการทุกนโยบายอย่างกลมกลืน โรงเรียนได้หลอมรวมนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานต้นสังกัด และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่่ร่วมทำงานด้วยกัน มาบูรณาการเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อลดภาระงานครู เพิ่มความสุขจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ เน้น “จับถูก” ใช้โอกาสของการเข้าร่วมโครงการต่างๆ เป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพครูและคุณภาพผู้เรียน
3.โรงเรียนให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่าทุกๆ นวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนนำมาใช้นั้น ได้มุ่งไปสู่การเพิ่มคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียรนทั้งสิ้น ผู้อำนวยการโรงเรียนรับประกันว่า “โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ด้วยกระบวนการ PLC และ Lesson Study การใช้ Growth Mindset การใช้จิตศึกษา ตามแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และใช้จิตวิทยาเชิงบวก สร้างบรรยากาศและโอกาสให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
4.โรงเรียนให้ความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ครูเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการพัฒนาผู้เรียน ณ สถานศึกษา ดังนั้น ครูจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาก่อน ให้ครูได้เรียนรู้เทคนิควิธีการ และเครื่องมือสำคัญต่างๆ ให้ได้เรียนรู้จากหน้างานของตนเองผ่านการปฏิบัติการที่สำคัญจากงานในหน้าที่ เรียนรู้ร่วมกันเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง มีการรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมสังเกต ร่วมเรียนรู้การสอน สะท้อนผล และปรับปรุงพัฒนาการสอนอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้ครูได้พัฒนาตนเอง พัฒนาการเรียนการสอน สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
5.ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้อำนวยการโรงเรียนได้นำเสนอกระบวนการและผลการพัฒนาโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของโรงเรียน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และสถานศึกษาอย่างชัดเจน สามารถนำพาองค์กรให้มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ครูมีใจร่วมพัฒนา นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในทุกมิติ ส่งผลให้ชุมชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาและส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6.หน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานระดับจังหวัดส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนอย่างดียิ่ง จากการที่ท่าน ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 4 ได้นำเสนอภาพรวมของกระบวนการรับสมัครสถานศึกษานำร่อง พิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาเป็นสถานศึกษานำร่อง และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ให้การหนุนเสริมการดำเนินงานของโรงเรียนด้วยดีตลอดมา ทำให้เห็นว่า หน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดให้การส่งเสริมการพัฒนาสถานศึกษาอย่างดี ทำให้โรงเรียนได้ดำเนินการพัฒนาและเตรียมการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น โรงเรียนยังสามารถดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ของต้นสังกัดในโครงการต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และสบายใจ ส่งผลให้การพัฒนาโรงเรียนมีผลงานโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์
สิ่งเหล่านี้เป็นภาพ ณ จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากโรงเรียนที่มีต้นทุนที่ดี มีนวัตกรรมการศึกษาที่น่าสนใจ และสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพได้จริง จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่า โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม แห่งนี้ จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาอย่างก้าวกระโดด สามารถเป็น “หัวขบวนรถจักร” ของการขยายผลพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี …ตลอดการนำเสนอและการเรียนรู้ดูงานครั้งนี้ ไม่ได้ยินหรือได้รับข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค หรือการเรียกร้องต้องการใดๆ หรือร้องขอรับการสนับสนุนเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องบุคคล วิชาการ งบประมาณ ดังนั้น การกล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็น “โรงเรียนมีแนวคิดเชิงบวกและบูรณาการทุกนโยบายอย่างกลมกลืน” จึงเป็นจริงและเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
Written by: พิทักษ์ โสตถยาคม และ สุวรรณา กลิ่นนาค
Photo credit: ฐิติรัตน์ สิมมาโครต
Facebook Comments