นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
เดินหน้าขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชิงนโยบาย
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2565
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่าน ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยรองประธาน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ และกรรมการและเลขานุการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. พร้อมทั้งปลัด (หรือผู้แทน) จากสำนักงานปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ สบน. ในฐานะรับผิดชอบงานเลขานุการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และนำเสนอ (ร่าง) ประกาศ และข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมพิจารณา ดังต่อไปนี้
ก่อนเริ่มการประชุมนายพิทักษ์ โสตถยาคม ผอ.สบน. ได้อธิบายรูปแบบการทำงาน การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจและทิศทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ตามแผนภาพ) ดังนี้
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2565 มีวาระเสนอให้ที่ประชุมที่ทราบและพิจารณา รวม 8 ประเด็น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมทราบ
1. วิสัยทัศน์ ทิศทาง และผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด
การประชุมในวันนี้นอกจากจะมีวาระเพื่อทราบและพิจารณาตามปกติแล้ว ยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการของทั้ง 8 จังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเข้าร่วมประชุมนำเสนอวิสัยทัศน์ ทิศทาง และผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา บรรยากาศการนำเสนอเต็มไปด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น ประธานฯ ได้กล่าวชื่นชมการขับเคลื่อนงานของทั้ง 8 จังหวัดและข้อมูลที่นำมาเสนอเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดใหม่ที่กำลังจะสมัครเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 2 จังหวัด (จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.สุโขทัย) คณะกรรมการในที่ประชุมมีการสอบถามผู้ว่าราชการและผู้แทนฯ ด้วยความสนใจ ทั้งนี้รายละเอียดการนำเสนอของแต่ละจังหวัดผู้เขียนจะนำมาเสนอแยกเป็นบทความของแต่ละจังหวัดต่อไป โดยผู้นำเสนอมีรายชื่อและลำดับการนำเสนอ ดังต่อไปนี้
- นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
- นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
- นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
- นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส
- นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี
- นายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา แทน ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา
- นางยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ แทน ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
- นายโอภาส ต้นทอง ศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี แทน ประธานกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี
ผลการดำเนินของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 8 จังหวัด ท่านสามารถรับชมวิดีทัศน์และรายงานผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ โดยสแกนคิวอาร์โค้ด ตามแผนภาพนี้
2. ความคืบหน้าการดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลของสถานศึกษานำร่องนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ ก.ค.ศ. และ สพฐ.
นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้เสนอผลการพิจารณา (ร่าง) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อ ก.ค.ศ. โดยมีสาระสำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้
1. อัตรากำลัง โรงเรียนสามารถบริหารจัดการร่วมกันระหว่างโรงเรียนหลักกับโรงเรียนเครือข่ายได้ หากโรงเรียนเครือข่ายเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 ในส่วนบุคลากรสายสนับสนุนซึ่งในเกณฑ์ยังไม่ได้ครอบคลุมมาถึงโรงเรียนขนาดเล็ก อาจจะใช้ในลักษณะการจ้างลูกจ้างชั่วคราว
2. การสรรหา บรรจุและแต่งตั้ง
– ผู้บริหาร สามารถใช้เกณฑ์การย้ายได้ในกรณีที่ย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาสามารถคัดเลือกผู้บริหารที่มีความเหมาะสมเข้าไปบริหารสถานศึกษาได้ โดยให้ทาง กศจ. ประกาศสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสถานศึกษาที่ต้องการพัฒนาคุณภาพและดำเนินการสรรหาได้โดยตรง
– ข้าราชการครู กำลังปรับหลักเกณฑ์ให้สถานศึกษามีสิทธิเลือกครูได้และครูมีสิทธิเลือกสถานศึกษาได้ ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญที่ทางพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถใช้ได้
3. การเลื่อนเงินเดือน เป็นอำนาจของ กศจ. ที่จะดำเนินการได้ ในส่วนเกณฑ์ PA เป็นเกณฑ์ที่ให้อำนาจกับสถานศึกษาและผู้อำนายการเขตพื้นที่การศึกษาในการกำหนดภาระงานร่วมกัน สถานศึกษาสามารถกำหนดภาระงานต่าง ๆ ที่จะให้ครูสามารถปฏิบัติได้เลย
4. การเสริมสร้างสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และแรงจูงใจ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนถูกวิพากษ์ วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ก.ค.ศ. ได้มีการกำหนดระเบียบว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีความต้องการพิเศษของข้าราชการที่สมรรถนะสูง สามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งในที่ประชุม ก.ค.ศ. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติเรื่องนี้แล้วขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
ในส่วนของ สพฐ. นายอนันต์ พันนึก ผอ.สพร. ได้นำเสนอ (ร่าง) ข้อเสนอด้านการบริหารบุคคล ซึ่ง สพฐ.ได้มีการจัดประชุมจัดทำข้อเสนอด้านการบริหารบุคคล เมื่อวันที่ 4-6 เมษายน 2564 ซึ่งได้เชิญบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารบุคคลจากพื้นที่และส่วนกลาง ร่วมจัดทำร่างดังกล่าว โดยสรุป 5 ประเด็น ดังนี้
1. การคัดเลือก/กำหนดอัตรา จะยึดตามเกณฑ์ ว23/2563 เป็นหลัก
– การกำหนดเวลาเรียนต่อสัปดาห์เพิ่มเติมตามหลักสูตรอิสลาม
– การยกเว้น การจัดสรรคืนตำแหน่งเกษียณ
– การกำหนดอัตรากำลังสายงานการสอนเพิ่มเติม
– ยกเว้นตามมาตรฐานวิชาเอก
– ขอยกเว้นเงื่อนไข การปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐที่ คปร. กำหนด
2. การบรรจุแต่งตั้ง
– ครูผู้ช่วย ให้คัดเลือกตามหลักเกณฑ์ ว16/17 ทุกกรณี โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเฉพาะ
– ผู้บริหารสถานศึกษา ดำเนินการโดยการคัดเลือก โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดำเนินการ และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเฉพาะ
3. การโยกย้าย
– การย้ายข้าราชการครู ตำแหน่งสายงานการสอน เพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ
– การย้ายข้าราชการครู ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และให้สรรหาแทนตำแหน่งว่างภายใน 30 วัน
4. การเลื่อนเงินเดือน เป็นขวัญกำลังใจ ทั้งในกรณีพิเศษ ตามผลการปฏิบัติงาน และเพิ่มโควต้าการเลื่อนค่าจ้างประจำและค่าตอบแทนพนักงานราชการ
5. การประเมินวิทยฐานะ
– ลดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
– ปรับรูปแบบการประเมิน
– ผลงานทางวิชาการ
– คณะกรรมการการประเมิน เคยปฏิบัติงานหรือมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
3. ผลการพิจารณาของสำนักงบประมาณเกี่ยวกับ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินงานในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ฝ่ายเลขานุการ นำเสนอ ผลการพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินงานในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง สังกัด สพฐ. ที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาและแจ้งกลับมา ตามหนังสือสำนักงบประมาณ ที่ นร 0721/3713 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสาระสำคัญ คือ
ขอให้ สพฐ. เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินงานในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกว่านี้ พร้อมเสนอแนะให้มีการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ มากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรใหม่ โดยให้นำผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ผ่านมาของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ สพฐ. ได้โอนจัดสรรงบประมาณไปให้มาประกอบการพิจารณาร่วมกับผลการประเมินพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563–2565 โดยคณะผู้ประเมินอิสระตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 รวมทั้ง ให้มีการกำหนดน้ำหนักแต่ละองค์ประกอบที่เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรที่ต้องมุ่งเน้นองค์ประกอบในการพัฒนาผู้เรียนให้มากยิ่งขึ้น การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง
4. แนวปฏิบัติในการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
ฝ่ายเลขานุการ นำเสนอแนวปฏิบัติในการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและได้แจ้ง สพท. และสถานศึกษานำร่องทราบและนำไปปฏิบัติแล้ว (ตามหนังสือ สพฐ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04288/ว 75 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565) ซึ่งการใช้จ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าวจะต้องใช้งบใน 3 ลักษณะคือ งบบุคลากร งบดำเนินงาน และงบลงทุน โดยจะต้องมีการดำเนินงาน ดังนี้
1. สถานศึกษาทำแผนปฏิบัติการประจำปี
2. เสนอแผนปฏิบัติการประจำปีต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ความเห็นชอบ
3. รร. เบิกใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ดาวน์โหลด
5. การใช้หลักสูตรของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ฝ่ายเลขานุการ แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้นำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติไปปรับใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษานำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ดังนี้
ปัจจุบันสถานศึกษานำร่องทั้ง 467 แห่ง
มีสถานศึกษานำร่องได้มีการขอความเห็นชอบปรับหลักสูตรแล้ว 253 แห่ง แบ่งเป็น หลักสูตร ประเภทที่ 1 จำนวน 184 แห่ง หลักสูตรประเภทที่ 3 จำนวน 69 แห่ง และกำลังดำเนินการขอความเห็นชอบปรับหลักสูตร จำนวน 214 แห่ง
ขณะนี้ มีสถานศึกษานำร่องที่เข้าร่วมทดลองนำร่องใช้ (ร่าง) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน …. จำนวน 192 แห่ง
ทั้งนี้ ขั้นตอนการขอความเห็นชอบปรับใช้หลักสูตประเภทที่ 3 (หลักสูตรฐานสมรรรถนะ) มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
1. การแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
วาระเพื่อพิจารณา เรื่องแรกสำหรับการประชุม ครั้งนี้ คือ การแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ยะลา ในตำแหน่งที่ว่างและแต่งตั้งเพิ่มเติม คือ
- แทนตำแหน่งที่ว่าง 1) นางอรวรรณ เรืองหิรัญ ผอ.รร.อนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนสถานศึกษานำร่อง แทนนายไพโรจน์ ทองศิริ ผอ.รร.บ้านนิคมสร้างตนเองธารโต เนื่องจากเกษียณอายุราชการ 2) น.ส.เพชรรัตน์ สุริยาเรืองฤทธิ์ เป็นกรรมการการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนนายอัษร แสนใหญ่ เนื่องการลาออกจากตำแหน่ง
- แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เนื่องต้องการให้ครบองค์ประกอบคณะกรรมการขับเคลื่อน 21 จากเดิม 20 คน
ที่ประชุมได้เห็นชอบตามเสนอและมอบ สบน. ดำเนินการจัดทำประกาศเสนอประธานกรรมการลงนามต่อไป
2. การขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย
ความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ฯต่อคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม มีสาระสำคัญดังนี้
1. ผู้แทนจังหวัดสุโขทัยสามารถนำเสนอกระบวนการจัดการศึกษาของจังหวัดได้อย่างชัดเจน
2. มีภาคีเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือการจัดการศึกษาของจังหวัดสุโขทัยจากทุกภาคส่วน
3. เป็น 1 ใน 20 จังหวัด ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เลือกเป็นจังหวัดในโครงการ การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาค
4. มีความตั้งใจในการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งจังหวัด
5. เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเพื่อสนองเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้เป็นอย่างดี
6. มีความพร้อมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศจากการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
และที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนคณะผู้เสนอ คือ นายสุทธิ์ศักดิ์ เพร็ชผึ้ง ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษา ศธจ.สุโขทัย นำเสนอองค์ประกอบของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมที่ประชุมเห็นชอบตามเสนอและมอบ สบน. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีการประกาศจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. การขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ฯต่อคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม มีสาระสำคัญดังนี้
1. ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและสนับสนุนเรื่องการจัดการศึกษาของจังหวัด
2. มีภาคีเครือข่ายที่พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนการจัดการศึกษาในจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีนักวิจัย เพื่อท้องถิ่นเป็นเครือข่ายสำคัญ
3. มีความตั้งใจสูงในการเข้าร่วมเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
4. มีความพร้อมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศจากการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
และที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนคณะผู้เสนอ คือ นายนิติศักดิ์ โตนิติ อุปนายกสมาคมสถาบันปัญญาวิถี นำเสนอองค์ประกอบของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมที่ประชุมเห็นชอบตามเสนอและมอบ สบน. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีการประกาศจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
4. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง นโยบายการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน พ.ศ. ….
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายเร่งรัดการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนและได้จัดทำ(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง นโยบายเร่งรัดการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน พ.ศ. …. เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านบริหารวิชาการ ได้พิจารณาทบทวน ปรับปรุง แก้ไข และให้ข้อเสนอแนะแล้ว ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอ (ร่าง) ประกาศที่ได้มีการปรับปรุงต่อที่ประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ให้สถานศึกษานำร่อง จัดทำ ออกแบบ หลักสูตรสถานศึกษา มุ่งพัฒนานวัตกรรมของครูเพื่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่มีประสิทธิภาพ
- ให้สถานศึกษานำร่องพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายที่ได้ประกาศไปแล้ว
- ให้คณะกรรมการขับเคลื่อน กำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ และเผยแพร่การดำเนินงานโรงเรียน ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ให้คณะกรรมการขับเคลื่อน สนับสนุน ส่งเสริม หรือจัดหาเครื่องมือในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ในการประชุมครั้งถัดไป ประธานกรรมการได้กำชับให้มีการจัดประชุมเร็วขึ้น เพื่อเป็นการติดตามที่ได้มอบหมายและพิจารณาจังหวัดที่ขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ ตาม พ.ร.บ. และก่อนจบการประชุมประธานกรรมการ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า
“พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไม่ใช่เพียงพื้นที่อย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ในการปฏิรูปอย่างหนึ่งและเป็นการปฏิรูปประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นรูปธรรมมากกว่าการปฏิรูปด้านอื่น ๆ”
วิษณุ เครืองาม
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์