ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2566
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบสล โดยมี พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ รองประธานกรรมการ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยว่าที่ ร.ต. ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรรมการและเลขานุการ และกรรมการ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงหรือผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อีกทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.ประภาภัทร นิยม, นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร, นางศุภธิดา พรหมพยัคฆ์, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, รศ.ประวิต เอราวรรณ์
สบน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการและรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับเสนอให้ที่ประชุมทราบและพิจารณา โดยสรุปสาระสำคัญ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมทราบ
ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อทราบต่อที่ประชุม 1 เรื่องได้แก่
ความคืบหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- ระดับนโยบาย การขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจาก 8 พื้นที่ เป็น 19 พื้นที่
- ระดับพื้นที่ อาทิ
- การสร้างการมีส่วนร่วมของ (1) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ในการจัดตั้งสถาบัน RILA (อ่านเพิ่ม 1 , 2 ) และ (2) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ในการสร้างกลไก Satun Coahing Forum ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนา Module การเรียนรู้
- การจัดตั้งกองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Sandbox Fund) จะนําไปใช้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อเตรียมทักษะให้พร้อมเรียนต่อเพื่อประกอบอาชีพ การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ไม่ใช้ O – NET ระบบประกันคุณภาพการศึกษา ระบบ HR โรงเรียนเพื่อสร้างนวัตกรรมการสอนใหม่ ๆ และระบบสารสนเทศ สําหรับการวางแผนงาน ทั้งนี้ สามารถบริจาคเงินได้ที่ https://www.eef.or.th/edusandbox ซึ่งสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- ระดับโรงเรียน ผลการสำรวจของสถาบัน TDRI ใน 4 พื้นที่ พบ โรงเรียนบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระมากในด้านหลักสูตร ร้อยละ 90 การประเมินในชั้นเรียน ร้อยละ 70 และการจัดซื้อสื่อนอกบัญชีของ สพฐ. ร้อยละ 50
- ระดับผู้เรียน
- พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง พบ นักเรียนมีความสุขมากขึ้น จากการติดตามการใช้นวัตกรรมของสถานศึกษานําร่อง พบ การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน นักเรียนมีความสุขมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 69 ซึ่งโรงเรียนมีการจัดสนามเด็กเล่น มีการจัดกิจกรรม Cup Song และมีสื่อที่หลากหลาย นอกจากนี้ พบ นักเรียนกลุ่มอ่อนมีความเข้าใจในการเรียนมากขึ้น ซึ่งจากผลการ ติดตามนักเรียนกลุ่มอ่อน พบว่า นักเรียนเก่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.53 กลุ่มปานกลางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.89
- พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล พบ การสอนของครูผ่าน Satun Coaching Forum ทําให้เกิด (1) โรงเรียนปรับหลักสูตรสถานศึกษาและแผนการสอนด้วยการจัดการเรียนรู้ โดยโครงงานฐานวิจัย (2) ครูพานักเรียนค้นหาปัญหาในพื้นที่ (3) ครูพานักเรียนไปเรียนรู้ในชุมชนเพื่อเข้าใจปัญหาและหาแนวทางแก้ไข และ (4) ครูประเมินการเรียนรู้แบบใหม่ท่ีไม่ใช่การสอบในกระดาษ
- ข้อเสนอแนะ
- ให้กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้บทบาทการเป็นประธานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา บูรณาการยุทธศาสตร์และแผนการดําเนินงานของหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกัน โดยใช้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นแกนกลางในการบูรณาการ
- ให้กระทรวงมหาดไทยนําความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ว่าราชการจังหวัด ในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยให้ความสําคัญกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน ท้ังนี้ 8 จังหวัดเดิม ควรดําเนินการแล้วเสร็จภายในปีการศึกษา 2567 สําหรับ 11 จังหวัดใหม่ ควรดําเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี
- ให้สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดําเนินการคัดเลือกและบรรจุแต่งต้ังผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อํานวยการสถานศึกษาให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อพิจารณาต่อที่ประชุม 4 เรื่องได้แก่
-
การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์
มติที่ประชุม เห็นชอบการขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นการยืนยันตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดําเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
-
การกําหนดนโยบายและการกํากับดูแลการดําเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีข้อมูลเพื่อใช้สําหรับกําหนดนโยบายและกํากับดูแลการดําเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อีกทั้งมีข้อมูลเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้นําแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการศึกษาไปใช้ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐและเอกชน ตลอดจนการออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การปฏิบัติงาน การเงิน สิทธิประโยชน์ และการประเมินผล ภายในสถานศึกษานําร่อง จึงเห็นควรให้การกํากับดูแลการดําเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
มติที่ประชุม เห็นชอบแนวทางการกําหนดนโยบายและการกํากับดูแลการดําเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รายงานผลการดําเนินงานตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และมอบฝ่ายเลขานุการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
-
การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตาม และประเมินผล ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การปรับโครงสร้างหรือองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตาม และ ประเมินผล โดยเพิ่มเติมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่ นวัตกรรมการศึกษาอยู่ในระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการนโยบายและเช่ือมต่อสู่การ ปฏิบัติขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ รวมทั้งกํากับและติดตามให้เป็นเอกภาพขึ้น โดยเพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงาน ต่าง ๆ เป็นอนุกรรมการ
มติที่ประชุม เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ ด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตาม และประเมินผลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเพิ่มเติมอนุกรรมการ อีก ๓ ตําแหน่ง ดังนี้ (1) รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย (2) รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งปลัดกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมอบหมาย (3)รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมอบหมาย
-
การแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แทนตําแหน่งที่ว่างและการแก้ไขตําแหน่งกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
มติที่ประชุม
- แต่งต้ังนายสุริยน สุริโยดร ผู้อํานวยการโรงเรียนแม่คือวิทยา เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทน สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สถานศึกษานําร่องหรือสถานศึกษาที่ประสงค์จะเป็น สถานศึกษานําร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในคําขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
- แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์สุบัน พรเวียง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
- แต่งตั้งนายจําลอง จันทรโชติ ผู้อํานวยการโรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สถานศึกษานําร่องหรือ สถานศึกษาที่ประสงค์จะเป็นสถานศึกษานําร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในคําขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา
- เห็นชอบการแก้ไขตําแหน่งของกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ยะลา จากรองศาสตราจารย์อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต เป็นศาสตราจารย์อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา
- แต่งตั้งนายเกษียร ไลยโฆษิต ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นกรรมการ ที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- แต่งตั้งนายตุลย์ ศิริกิจพุทธิศักดิ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- มอบฝ่ายเลขานุการจัดทําประกาศเสนอประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาลงนามต่อไป
ดูประกาศ
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์