เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย ที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งแทบไม่มีรางวัลจากการส่งเด็กไปประกวดแข่งขันใด ๆ แม้มีการส่งเด็กไปประกวดบ้างและถึงแม้โรงเรียนจะมีศักยภาพฝึกฝนเด็กได้ แต่ในปีที่ผ่านมา กลับปรากฏว่ามีหน่วยงานการศึกษามาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนแห่งนี้หลายคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารการศึกษาแห่งหนึ่งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำบุคลากรและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดมาศึกษาดูงานเพื่อค้นหา how to และ Benchmark ด้วยตนเองและโรงเรียนที่กำลังจะนำทุกท่านไปรู้จักนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ใช้รางวัลหรือความดีความชอบเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติงาน แต่กลับส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนทุกคนอย่างมีคุณภาพ ให้เต็มที่ เต็มเวลา เพื่อเด็ก….โรงเรียนแห่งนี้ คือ โรงเรียนวัดตาขัน โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
โรงเรียนวัดตาขัน โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง อยู่ในพื้นที่การเกษตร ท่ามกลางความหลากหลายทางชีวภาพ อยู่ใกล้แม่น้ำ ใกล้วัด และอยู่ใกล้ตัวเมือง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 204 คน ข้าราชการครู 10 คน และครูอัตราจ้าง 3 คน มีนายวิชัย จันทร์ส่อง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จัดการเรียนการสอนภายใต้ School Concept ของโรงเรียน TK Bio-Culture & Innovation school (โรงเรียนนวัตกรเชิงชีววิถี) เป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 Smart kids สู่การเป็น Smart people ผ่านการเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สอดคล้องกับภูมิสังคม วัฒนธรรมและสร้างพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง อยู่ในแวดวงการศึกษาไทยมากว่า 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่เป็นครูผู้สอนจนมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน ถือเป็นประสบการณ์ที่ยาวนานมากพอในการมองเห็นพัฒนาการรวมทั้งปัญหาด้านการศึกษาไทย ผ่านการสะท้อนมุมมองซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังเช่น คุณภาพแรงงานหรือบัณฑิตที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับการบ่มเพาะจากสถาบันการศึกษาเป็นสำคัญ หรือ แม้กระทั่งปัญหาด้านการศึกษาได้รับการกล่าวถึงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับต่าง ๆ มากมาย แต่ส่วนใหญ่ผู้คนเหล่านี้กลับให้ความสำคัญน้อยต่อการมุ่งแก้ปัญหาเหล่านั้น จึงเกิดประโยคขึ้นในใจของ ผอ.วิชัย จันทร์ส่องว่า “คนส่วนใหญ่พูดถึงแต่ปัญหา แต่น้อยคนมากที่จะบอกว่า แล้วจะแก้ยังไง” ประโยคนี้เอง ที่นำไปสู่การนำพาโรงเรียนวัดตาขัน เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อต้องการทดลองทำ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาไทย
ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ได้เท้าความว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นแนวคิดของการปฏิรูปการศึกษาในเชิงพื้นที่ ที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการหาวิธีการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ต่อมามีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นหลักประกันการทดลองการปฏิรูปการจัดการศึกษา ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ได้มองเห็นเป็นโอกาส เป็นช่องทางที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา จึงไม่ลังเลใจที่จะนำโรงเรียนภายใต้การบริหารของตนเองเข้าสู่การเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กว่า 1 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนวัดตาขันได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สรุปได้ดังนี้
1. พัฒนานวัตกรรม ยกระดับผลสัมฤทธิ์เด็ก ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ความสุขของเด็กในการมาโรงเรียน (A S K) หลังจากได้รับการปลดล็อกกฎระเบียบบางส่วน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อม กันทั้งระบบ (4.0 Whole school transform) เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด พร้อมสำหรับการเพาะพันธุ์แห่งปัญญาของเด็ก ๆ ทุกคน ให้งอกงามตามธรรมชาติ ด้วยการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน
2. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ซึ่งมีศักยภาพสูง มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมาก กำลังสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แม้ที่ผ่านมาจะมีส่วนร่วมอยู่บ้าง แต่ยังไม่เต็มรูปแบบหรือไม่มีรูปแบบกระบวนการความร่วมมือที่ชัดเจน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองจึงอยู่ระหว่างเสนอแนวคิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมทำ Action Plan และกำลังจะนำเสนอกลไกความร่วมมือด้วยโครงการ 1 school 2 partners ต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน หมายความว่า 1 โรงเรียนในพื้นที่ควรมี 2 partners เป็นอย่างน้อย partners ดังกล่าว เช่น เอกชน ท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม เมื่อทำได้สำเร็จ จะทำให้เด็กทุกคนในพื้นที่มีโอกาสได้เรียนและมีโอกาสได้ใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียมกัน
3. พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามบริบทความต้องการของพื้นที่ โดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก แต่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการนำหลักสูตรมาใช้ในภาคปฏิบัติการ หันกลับมามองเรื่องจริง ชีวิตจริงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเป็นสำคัญ เพิ่มมุมมองหรือสายตาในการมองให้เห็นสมรรถนะของนักเรียนมากขึ้น ออกแบบการเรียนรู้ให้ครอบคลุมฐานสมอง ฐานกายและฐานจิตใจ ให้เกิดความสมดุลกัน
จากการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ผ่านมากว่า 1 ปี มีกรณีที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อยสำหรับโรงเรียนวัดตาขัน คือ โรงเรียนแทบจะไม่มีรางวัลใด ๆ จากหน่วยงานต้นสังกัด จากการส่งเด็กไปประกวดแข่งขันต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มีการวัดผลระดับต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยสูงจนโดดเด่น แต่ในรอบปีที่ผ่านมา กลับปรากฏว่ามีโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนวัดตาขัน จำนวนกว่า 10 คณะ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารและคณะครูจากสถานศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นด้านการบริหารและการจัดการศึกษาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่ยิ่งทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีความน่าค้นหามากยิ่งขึ้น จนอาจเป็นแรงจูงใจสำคัญให้หน่วยงานการศึกษามาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนวัดตาขัน ความน่าสนใจดังกล่าว สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. การบริหารจัดการ
1.1 ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง คำนึงถึงเด็กและครูเป็นสำคัญก่อนตนเอง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการคว้ารางวัลหรือความดีความชอบสำหรับตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ใช้รางวัลเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติงาน แต่กลับส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนอย่างมีความสุข เน้นคุณภาพให้เต็มที่ เต็มเวลา สำหรับเด็กทุกคน
1.2 ครูทุกคนจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบเลื่อนเงินเดือนตามปกติ และหากมีคุณสมบัติที่จะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ครูทุกคนสามารถนำสิ่งที่ครูทำอยู่ในปัจจุบัน คือ ภาระหน้าที่หลักในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ใช้ห้องเรียนและนักเรียนเป็นฐาน นำมาเสนอขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้
2. การให้ความสำคัญกับ Learning Outcome ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน
2.1 โรงเรียนวัดตาขัน ได้นำผลการทดสอบ O-NET NT และ RT ที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น วิเคราะห์ว่า ระดับคะแนนที่ได้เกิดจากสาเหตุใดบ้าง วิเคราะห์ไปถึง input และ process ที่ใส่เข้าไประหว่างการจัดการเรียนการสอน จากนั้นผอ.และครูจึงช่วยกันวางแผน หาวิธีการปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
2.2 โรงเรียนแห่งนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการส่งเด็กไปประกวดแข่งขัน แม้มีการส่งไปบ้าง ก็เพื่อต้องการให้เด็กได้รับประสบการณ์ และมิใช่โรงเรียนที่มีคะแนน O-NET สูง แต่พยายามให้เด็กมีความสุขในการเรียนให้มากที่สุด เป็น“ความสุข”จากการที่เด็กได้เรียนจากสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวันในหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดของตนเอง ถือเป็น “รางวัล” ของเด็ก
2.3 โรงเรียนให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวให้มากที่สุด เด็กจึงไม่เครียดกับการเรียน ได้รับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ผ่านการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย วิชาที่เป็น literacy หลัก 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และหมวดวิชาบูรณาการซึ่งให้เด็กได้นำวิชา literacy 4 วิชาหลักนำมาใช้แก้ปัญหา ลงมือทำด้วยตนเอง ออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มีกระบวนการชัดเจน ส่งผลให้เมื่อเด็กเกิดปัญหาหรือความสงสัย แล้วสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อค้นหาความจริงและแก้ปัญหาได้
การเรียนภาคสนามเป็น learning how to learn หรือ เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ การเรียนรู้ภาคสนาม เช่น เด็กสนใจเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนปากน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเป็นมาน่าสนใจ อุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ เด็กจึงเริ่มตั้งปัญหาในมิติต่าง ๆ แล้วลงมือค้นหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เช่น จากหนังสือ อินเทอร์เน็ต แล้วจึงสรุปสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการค้นหาความจริงโดยการวางแผนออกภาคสนาม ตั้งแต่ เขียนโครงการ วางแผนการทำงานร่วมกัน เป็นการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม เมื่อถึงภาคสนาม เด็กจะนำความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนจากในห้องเรียนมาใช้ เช่น เมื่อเรียนวิชาภาษาไทยเพื่อให้สื่อสารเป็น เด็กก็จะใช้ความรู้ทักษะที่ได้จากการเรียนวิชาภาษาไทยไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล การใช้ทักษะด้าน ICT หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ ดังนั้น การเรียนภาคสนาม จะทำให้ทราบว่าเด็กสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนจากในห้องเรียนไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการออกภาคสนามของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 ในหน่วยบ้านค่ายน่าอยู่ ณ สถานีตำรวจภูธรบ้านค่ายและที่ว่าการอำเภอบ้านค่าย เพื่อเรียนรู้ว่าสถานที่ราชการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไร มีหน้าที่อะไร ทำไมผู้คนถึงต้องไปสถานีตำรวจหรือต้องไปที่ว่าการอำเภอ เด็ก ๆ จึงได้ใช้วิชาภาษาไทย ใช้ทักษะการสื่อสาร การตั้งคำถาม การบันทึกข้อมูล การสังเกต การใช้เครื่องมือด้าน ICT การวางแผน และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ครูก็ได้เรียนรู้การออกแบบการเรียนรู้ที่เป็น Active learning เรียนรู้ที่จะเป็นโค้ช เรียนรู้ที่จะมองหาสมรรถนะของเด็ก ๆ (การวัดและประเมินผล) เพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไปนั่นเอง
2.5 เด็กมีพื้นที่การเรียนรู้มากขึ้นจากการที่โรงเรียนสร้าง learning space ทั้งในและนอกโรงเรียน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นไปของท้องถิ่น ชุมชนให้มากขึ้น เด็กจะได้เห็นคุณค่าและความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป
การบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึง Learning Outcome เป็นสำคัญ ส่งผลให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งเกิดจากปัจจัยแห่งความสำเร็จใดบ้าง และยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นผลกระทบเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนวัดตาขัน รายละเอียด ดังนี้
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและการสืบสานต่อ
- การพัฒนานวัตกรรมแนวใหม่ตาม School concept ที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น หรือ TK Bio-culture & Innovation school “นวัตกรเชิงชีววิถี” เป็นเป้าหมายที่กำลังออกแบบการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนเพื่อให้เป็นแม่พิมพ์ที่ดีที่สุดในการพัฒนาเด็ก ๆ ตาขัน ให้เป็น Smart kids ตอบโจทย์ชุมชน จังหวัดและประเทศชาติ รวมทั้งการเป็นพลโลกในยุคปัจจุบัน
- สร้าง coding center โดยออกแบบและวางแนวคิด กระบวนการเรียนรู้ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้ชัดเจนขึ้นเป็นไปตาม School Concept ของโรงเรียน
- ส่งเสริมการค้นหาความชอบและความถนัดทางด้านอาชีพของเด็ก ให้เด็กมีโอกาสเลือกและสัมผัสอาชีพใหม่ ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งอาชีพภาคการเกษตร งานหัตถกรรม งานศิลปะ อุตสาหกรรม งานบริการการค้าขาย เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแต่ละอาชีพ
- เน้นการพึ่งพาตนเองเรื่องการลดใช้พลังงาน พลังงานโซล่าเซลล์ที่เป็นเป้าหมายของโรงเรียน จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการ และบรรจุในหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด
- การพัฒนาทักษะชีวิต (Life Skill) ให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจชีวิต การดำรงชีวิต การพึ่งพาตนเอง และการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ สอดคล้องในเชิงพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนวัดตาขัน อยู่ใกล้วัด มีแม่น้ำระยองสายเก่า จึงส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการเอาตัวรอดจากภัยทางน้ำด้วย เช่น ฝึกว่ายน้ำ ฝึกพายเรือ เพิ่มเติม เป็นต้น
- การจัดการเรียนการสอนวิชาที่เป็น literacy 4 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จะปรับปรุงกระบวนการนำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
ภาษาไทย นวัตกรรมที่นำมาใช้ คือ การเรียนรู้แบบ BBL
คณิตศาสตร์ นวัตกรรมที่นำมาใช้ คือ การเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบ Open approach
วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมที่นำมาใช้ คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Inquiry , STEAM (Science Technology Engineering Art and Mathematics Education) และ วิทยาการคำนวณ
ภาษาอังกฤษ นวัตกรรมที่สนใจนำมาใช้ คือ EIS (English integrated study) การเรียนการ
สอนโดยการบูรณาการใช้ภาษาอังกฤษจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใน 4 สาระวิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น
การดำเนินการดังกล่าว ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ผลการพัฒนาในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระบวนการที่ครูได้รับการอบรม พัฒนา เรียนรู้และศึกษา จนถึงการออกแบบการเรียนรู้ สื่อ การวัดและประเมินผล ว่าสามารถดำเนินการได้ในระดับใด มีตัวแปรแทรกซ้อนใดบ้าง เพื่อให้สามารถปรับปรุงการดำเนินการในปีการศึกษาใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
- ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง มองเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนเอง เพื่อให้สามารถส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติงานของครูให้ตรงเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ต้องสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน ตรงกันกับครูเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามแนวทางของโรงเรียน
- ด้านงบประมาณ โดยปกติงบประมาณที่โรงเรียนได้รับมีความเพียงพอสำหรับจัดซื้อสิ่งจำเป็นในการบริหารและจัดการศึกษาทั่วไป หากเกิดโครงการ/กิจกรรมใหม่ในเชิงพัฒนา เช่น การสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน [โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โรงเรียนวัดตาขัน (โรงเรียนเสียดายแดด)] การสร้างห้อง coding center สำหรับการทำนวัตกรรมต่าง ๆ (TK maker) จำเป็นจะต้องมีการระดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการโรงเรียนประชารัฐด้วยการเจรจาความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าระยอง 3 บริษัทเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมต่าง ๆ เป็นต้น
เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ
- โรงเรียนวัดตาขันอยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะตามกระบวนการสร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และจะถอดเป็นภาคปฏิบัติการถึงวิธีการนำไปใช้ หลักสูตรมีความสมบูรณ์ประมาณ 90% ซึ่งตาม Roadmap จะทำประชาพิจารณ์ในเดือน เมษายน 2563 และนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองเพื่อขอความเห็นชอบใช้ในปีการศึกษา 2563 ในหลักสูตรนี้ต้องการให้เด็กมีสมรรถนะ ดังต่อไปนี้
1.1 สมรรถนะหลักพื้นฐาน (Basic Core Competencies) ประกอบด้วย 4 สมรรถนะ ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและความเป็นไทย (Thai Language for Communication and Thainess), คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (Mathematics in everyday life), การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry & Scientific Mind) และ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication)
1.2 สมรรถนะหลักทั่วไป (Generic Core Competencies) ประกอบด้วย 6 สมรรถนะ ได้แก่ ทักษะการคิดชั้นสูงและนวัตกรรม (Higher Order Thinking Skills (4R) and Innovations): 4Rs; Reasoning, Critical, Thinking, Problem solving and Creative thinking), การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (Media, Information and Digital Literacy: MIDL), ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน (Life Skills and Personal Growth), ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ (Career and learning Skills), การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีและภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) และ พลเมืองมีส่วนร่วมและสำนึกสากล (Active Citizen and Global Mindedness) - การบรรจุเรื่องพลังงานลงในหลักสูตร โดยเน้น BIO Culture ความหลากหลายทางชีวภาพ
- การสร้างโจทย์ปัญหา/สถานการณ์/กิจกรรม ที่หลากหายสอดแทรกในรายวิชาให้เด็กเกิดความท้าทายในการแก้ปัญหา เช่น การนำนวัตกรรมมาลดใช้พลังงาน การอำนวยความสะดวก การลดภาระการทำงาน การนำเศษขยะกลับมาใช้หรือทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เป็นต้น เพื่อมุ่งฝึกเด็กในด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
ผลที่เกิดขึ้นต่อโรงเรียน บุคลากรในโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และชุมชน
- โรงเรียน
โรงเรียนวัดตาขันได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้น มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัยและน่าเรียนมากยิ่งขึ้น ประเมินได้จากความไว้วางใจในการส่งนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้น และความร่วมมือจากคนในชุมชน - ครู
2.1 ครูเห็นคุณค่าของตนเองและปรับเปลี่ยนมุมมองให้ความสำคัญต่อการออกแบบการจัดการเรียนรู้ การใช้และพัฒนาสื่อ ระบบการวัดและประเมินที่สะท้อน เจตคติ ทักษะ ความรู้ (A S K)
2.2 ครูเห็นประโยชน์และทดลองออกแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการสอน Learning how to learn ได้มากขึ้น - ผู้บริหารโรงเรียน
ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ได้เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมคิดว่าตนเองมีความสามารถด้านการบริหารจัดการศึกษาในระดับดีอยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนมุมมอง ได้พิจารณาพบว่า ด้านการบริหารงานวิชาการยังดำเนินการได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ - สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มองพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นงานเชิงภารกิจมากขึ้น มีศึกษานิเทศก์เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับโรงเรียนมากขึ้น - ชุมชน
ชุมชนให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ และกำลังจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาผ่านการร่วมทำ Action Plan และโครงการ 1 school 2 partners ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วในตอนต้น
โรงเรียนขนาดเล็กอย่างโรงเรียนวัดตาขัน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนกล้าเปลี่ยนแปลงความคิดตนเอง ใช้ learning outcome ของเด็กเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติงาน ครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มเวลา เน้นการพัฒนาทักษะให้กับเด็ก ให้เด็กมีความสุขกับการเรียนจากเรื่องใกล้ตัวผ่านหลักสูตรสถานศึกษาที่ปรับใช้จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้ากับบริบทพื้นที่ ตามที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นหลักประกันให้กระทำได้ ความสุขของเด็กจากการเรียน รวมทั้งการบริหารและการจัดการศึกษาภายใต้หลักสูตรนี้ จะสามารถตอบโจทย์พื้นที่จังหวัดระยองได้มากน้อยเพียงใด ระยะเวลาหลังจากพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประกาศใช้จนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 1 ปี เพียงเท่านี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้น่าติดตามการจัดการศึกษาของโรงเรียนวัดตาขันในการณ์ต่อไป
ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, วิชัย จันทร์ส่อง
ผู้ให้สัมภาษณ์: วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ทัศวรรณ ชินวัลย์ ครูผู้ช่วยโรงเรียนวัดตาขัน