ช่วงที่มีการระบาดของ Covid 19 ระบาดอย่างรุนแรง ส่งผลให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองไม่ได้จัดการเรียนการสอน ต้องปิดสถานศึกษาตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อช่วยให้ประชาชนในจังหวัดระยองปลอดภัย
การจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษานำร่องทุกแห่งจึงเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนที่บ้าน ทั้งระบบออนไลน์ ออฟไลน์ และผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ความพร้อมหลายประการ ทั้งความพร้อมของสถานศึกษาเอง และความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามของทุกฝ่ายที่จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับบ้าน
จากข้อสังเกตของนายธงชัย มั่นคง หนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การศึกษา จังหวัดระยอง กล่าวว่า “การให้การบ้านหรือกิจกรรมที่นำไปทำที่บ้านในปัจจุบัน ยังคงเป็นการบ้านที่มาจากตำราเรียน ทั้งที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน อันที่จริงในเมื่อนักเรียนอยู่ที่บ้าน เราต้องให้เขาเรียนรู้เรื่องราวที่บ้าน จากบริบทบ้าน แล้วนำมาเชื่อมโยงกับศาสตร์ของวิชาต่างๆ เช่น นับต้นไม้ที่บ้าน แล้วสังเกตใบของต้นไม้ วาดภาพใบไม้ แยกแยะใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่ ทำแผนภาพแสดงร้อยละของต้นไม้ที่มีใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่ ถ้าทำเช่นนี้ นักเรียนก็จะใช้บริบทของบ้านเป็นฐานการเรียนรู้ เชื่อมโยงไปสู่วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) วิทยาศาสตร์ (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์) คณิตศาสตร์ (แผนภูมิ ร้อยละ) ภาษาไทย (การเขียน) นอกจากนี้นักเรียนยังมีสมรรถนะการเรียนรู้ การสังเกต การฝึกตนเองให้เป็น “Learner” สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ฉบับปัจจุบัน เช่นนี้จึงจะสอดคล้องและแสดงความเป็นนวัตกรรมของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง นวัตกรรมนี้เราจะเรียกว่า Rayong Home-Based Learning”
นอกจากนี้นายธงชัย มั่นคง แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า Rayong Home-Based Learning นับว่าสอดคล้องกับนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดระยอง ด้วยการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จากตำรา เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง เพื่อตอบโจทย์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ตอบสนองความต้องการเชิงพื้นที่จังหวัดระยอง อาศัยความรู้ทางวิชาการมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสังคมให้ดีขึ้น โดยสถานศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการออกแบบกิจกรรมที่ใช้บริบทของบ้านเชื่อมโยงไปสู่วิชาการตามหลักสูตรของสถานศึกษา และแนวคิดหลักของสถานศึกษา หรือ School Concept
แนวคิดของนายธงชัย มั่นคง ได้ถูกนำมาขยายความ และนำไปใช้ในโรงเรียนบางแห่งแล้ว เช่น โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม และโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ในช่วงเวลานี้
นางอัญชลี สารสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม กล่าวว่า “ได้นำแนวคิดนี้ไปพูดคุยกับคุณครูเพื่อช่วยกันค้นหาวิธีการให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่บ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากครูเป็นอย่างดี ครูบอกว่าเป็นแนวคิดที่ดี ถ้าพูดเป็นภาษาระยองก็ต้องบอกว่า …เอาได้… นับว่าเป็นสีสันของการให้การบ้านในช่วงนี้เลย ตนเองได้บอกกับครูว่าเรามาออกแบบวิชาบ้านๆ ที่ทำให้นักเรียนลงมือทำแล้วเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง การบ้านแบบเดิมเป็นความวิตกกังวลทั้งของครูและผู้ปกครอง เกรงว่าจะต้องบังคับให้ทำ แต่แนวคิดนี้นักเรียนน่าจะชอบ ผู้ปกครองก็น่าจะสบายใจด้วย ขณะนี้ครูได้ทยอยส่งวิธีการให้การบ้าน แบบ Rayong Home-Based Learning มาให้พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่ครูนึกถึงภาพบริบทของบ้านนักเรียนจากการเยี่ยมบ้านแบบ 100 % มาแล้ว จึงทำให้เข้าใจออกแบบการบ้านได้ง่ายขึ้น”
นางอิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย กล่าวว่า “โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย จัดการเรียนรู้เป็นหน่วยการเรียนรู้ ที่มีสมรรถนะเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว เมื่อได้รับรู้แนวคิดนี้ จึงนำมาร่วมกันออกแบบชิ้นงานประจำหน่วย โดยไม่ต้องรอให้นักเรียนมาเรียนรู้ที่โรงเรียน ได้ปรับชิ้นงานประจำหน่วยการเรียนรู้ เป็นการนำบริบทรอบบ้านมาใช้อย่างกลมกลืน ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนมีหน่วยการเรียนรู้ที่ชื่อว่า … ระยองเมืองน่าอยู่ … ซึ่งมีเป้าหมายให้นักเรียนมีความเป็นพลเมืองที่ดี ช่วยกันสร้างสังคมที่ดี และร่วมสร้างให้ระยองเป็นเมืองน่าอยู่ เดิมมีกิจกรรมจะพานักเรียนสำรวจชุมชน ค้นหาของดีในชุมชน และอีกหลายกิจกรรม เมื่อมาพบกับสถานการณ์ช่วงระบาดของโควิด จึงปรับกิจกรรมในหน่วยการเรียนรู้นี้ให้นักเรียนทำงานที่บ้าน ให้นักเรียนทำ “ผังเครือญาติ” โดยการสัมภาษณ์พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และคนในครอบครัว เรียกว่าเรียนรู้จากครอบครัวตนเอง แล้วนำมาจัดระบบเขียนเป็นชิ้นงานที่เรียกว่า “ผังเครือญาติ” ซึ่งสอดคล้องกับวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และสมรรถนะพลเมืองตื่นรู้ ส่วนรูปแบบการวัดและประเมินผล จะต้องทำอย่างไร ในส่วนตนคิดว่า ต้องพาครูเรียนรู้จากชิ้นงานของนักเรียนนี้ โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงไปสู่วิชาต่างๆ และจะต้องปรับปรุงการบ้านไปอย่างต่อเนื่อง”
ดร.สุรพงษ์ งามสม ที่ปรึกษาโรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ตากสินแกลง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานศึกษานำร่องอีกแห่งหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นว่า “Rayong Home-Based Learning” เป็นแนวคิดที่ดี เหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมไทยในเวลานี้ ถ้าทำได้ เด็กของเราจะถูกยกระดับให้มีสมรรถนะที่สำคัญอีกหลายอย่าง นอกจากสมรรถนะของหลักสูตรสถานศึกษาแล้ว หากนำไปเชื่อมโยงกับระบบดิจิตัล จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมี “Digital Literacy” อย่างทันตาเห็นเลยทีเดียว ในส่วนนี้ยังจะสามารถขยายวงกว้างไปสู่การเรียนรู้ในสังคมโลกด้วย”
บทสรุปจากการสนทนาเชิงวิชาการของบุคคลที่กล่าวว่าข้างต้น แสดงลำดับการเรียนรู้ที่บ้าน สู่หลักสูตรสถานศึกษา การบรรลุสมรรถนะ และสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ดังแผนภาพ 1
ส่วนแผนภาพที่ 2 แสดงให้เห็นตัวอย่างการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้บริบทบ้านเป็นฐาน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ครูเป็นผู้กำหนดกิจกรรม และรูปแบบที่ให้นักเรียนเลือกกำหนดหัวข้อเรื่องและกิจกรรมที่ตนสนใจ
ตัวอย่างกิจกรรม Rayong Home-Based Learning
หมายเหตุ
1. กรณีที่นักเรียนมีความพร้อม อาจนำเสนอในรูปแบบดิจิตัลได้ หากนักเรียนไม่พร้อม ให้บันทึกหรือนำเสนอในกระดาษ โดยการเขียนและวาดภาพ
2. การออกแบบกิจกรรมเป็นเพียงตัวอย่าง อาจมีการปรับเพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเป้าหมายของสถานศึกษาแต่ละแห่งได้ตามความเหมาะสม
ผู้เขียน: นางนงค์นุช อุทัยศรี คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ผู้ประสานงาน ศูนย์ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์