กระบวนการเรียนรู้ Research-Based Learning (RBL) สู่นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ

11 มิถุนายน 2020

โรงเรียนไพรบึงวิทยา สังกัดสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เขตพื้นที่การศึกษาที่ ศรีสะเกษ เขต 3  ตั้งอยู่ที่ 50 หมู่ที่ 20 ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ มีภารกิจหลักการจัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นภารกิจหลักด้วยหลักการส่งเสริม การพัฒนาสำหรับนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  โดยได้ขับเคลื่อนตามนโยบายและกิจกรรมต่าง ๆ

จุดเริ่มต้นของการนำนวัตกรรมการศึกษามาดำเนินการภายในโรงเรียน

โรงเรียนไพรบึงวิทยาคมนำกระบวนการเรียนรู้โครงงานบนฐานวิจัยด้วยนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 โดยการนำของนายสุจินต์ หล้าคำ รองผู้อำนวยการสมัยนั้น เป็นผู้ริเริ่มสมัครเข้าร่วมโครงการ และใช้นวัตกรรมกับทุนเดิมมาจนถึงปีการศึกษา 2561 รวมระยะเวลา 6 ปี และยังได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบเพาะพันธุ์ปัญญา 1 ใน 16 โรงเรียนทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2563 จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับเลือกเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนวัตกรรมที่ใช้หนึ่งในนั้นคือนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา

โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องในการใช้นวัตกรรมอีกด้วย โดยมีแรงบันดาลจากการที่โรงเรียนต้องการเปลี่ยนวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนตามแนวทางการบวนการเรียนรู้ Active Learning เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีบทบาทในการแสวงหาความรู้และเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์จนเกิดความรู้ความเข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาตนเอง เต็มความสามารถ รวมถึงการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เขาได้มีโอกาสร่วมอภิปรายให้มีโอกาสฝึก ทักษะการสื่อสาร ทำให้ผลการเรียนรู้เพิ่มขึ้น 70% และจัดเวทีการนำเสนอผลงานทางวิชาการเรียนรู้ในสถานการณ์จำลอง ทั้งมีการฝึกปฏิบัติในสภาพจริง มีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีผลการเรียนรู้เกิดขึ้นถึง 90% จึงได้สมัครเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

กระบวนการเรียนรู้ Research-Based Learning  (RBL) สู่นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา

“นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา” เป็นการขยายการเรียนรู้ที่ยกระดับการทำโครงการ (project) ที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะการคิดสังเคราะห์สร้างความรู้โดยผู้เรียนเอง ครูปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยการสอนให้นักเรียนเอาประสบการณ์ปฏิบัติมาทำความเข้าใจด้วยสาระวิชาที่เรียนอยู่ เพื่อนำไปสู่การตีความ การบูรณาการความรู้เดิมจนเข้าใจและสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองโดยนักเรียนเอง ซึ่งเรียกกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ว่า Research-Based Learning  (RBL) วิธีนี้จึงเป็น Learning by Doing อย่างแท้จริงที่สร้างทักษะคิดจนเกิดปัญญา ไม่ใช่ได้ Doing แต่ไม่มี Learning อย่างเต็มที่

นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาเปลี่ยนหลักคิดครูอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. ครูเป็นผู้ถามไม่ใช่ผู้บอกความรู้ ถามเพื่อให้นักเรียนเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนให้เข้าสู่เป้าหมายการเรียนรู้ที่สูงขึ้น จนร้องอ๋อด้วยตนเอง
2. ครูสร้างสัมพันธ์แนวราบกับนักเรียน เพื่อให้ห้องเรียนเป็นสภาพแวดล้อมที่รู้สึกปลอดภัย นักเรียนหลุดออกจากความหวาดกลัวที่จะกล้าคิด
3. การคิดแบบเหตุ-ผล (cause-effect) เพื่อพัฒนาทักษะของการคิดเชื่อมโยงปรากฏการณ์ผลกับสาเหตุ

ในปัจจุบันโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ใช้นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญามาใช้และปรับให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน บริบทของครู บริบทของนักเรียน และบริบทของชุมชน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการหลายๆ กระบวนการ เช่น

  1. กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ปรับฐานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฐานกาย ฐานจิต และให้พร้อมที่จะเรียนรู้
  2. การลงพื้นที่สำรวจปัญหาหรือหาความสนใจ ในการลงพื้นที่จะลงทั้งในโรงเรียนและชุมชน เพื่อให้นักเรียนได้เจอสภาพจริงของพื้นที่ก่อนทำโครงงาน หลังจากนั้นนักเรียนและครูร่วมกันถอดบทเรียน และเลือกหัวข้อหลักของโครงงาน
  3. การนำเสนอหัวข้อโครงงาน เมื่อนักเรียนได้หัวข้อโครงงานของตัวเองแล้ว นักเรียนร่วมกันทำเค้าโครงงาน เพื่อนำเสนอครูที่ปรึกษาโครงงาน และเพื่อปรับปรุงโครงงานให้มีความถูกต้องตามกระบวนการศึกษา และถูกต้องตามวิธีการ โดยจัดเป็นกิจกรรมการนำเสนอหน้าชั้นเรียน
  4. การดำเนินงาน นักเรียนลงมือทำโครงงาน โดยมีครูที่ปรึกษาดูแลควบคุมและให้คำปรึกษา และติดตามผลงานเป็นระยะ
  5. การนำเสนอผลของโครงงาน จัดการนำเสนอโครงงานผ่านกิจกรรมใหญ่ โดยให้นักเรียนจัดเวทีนำเสนอบนเวทีและบริเวณจัดงาน โดยในวันนำเสนอ มีการเชิญครูและผู้ปกครองของนักเรียนมาร่วมรับฟังด้วย และจัดให้มีเวทีนำเสนอความรู้สึกของนักเรียนหลังผ่านโครงการ และความรู้สึกของผู้ปกครองต่อการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน
กระบวนการสู่ความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปัญญา

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนไพรบึงวิทยาคมถือเป็นโรงเรียนหนึ่งที่กระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญามีความเข้มแข็ง มีความโดดเด่นในเรื่องการทำงานเป็นทีม ของครูแกนนำที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทและมาจากหลากหลายสาระวิชา การสนับสนุนจากผู้ปกครองกรรมการสถานศึกษารวมทั้งชุมชนที่เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียน ไพรบึงวิทยาคมได้นำเพาะพันธุ์ปัญญาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน รวมทั้งยังสร้างนักเรียนรุ่นพี่เพาะพันธุ์ปัญญาที่จะคอยมาเป็นผู้ช่วยครูในการดูแลให้คำปรึกษารุ่นน้องคู่ขนานกับการทำงานของตัวเอง รวมทั้งยังมีเครือข่ายโรงเรียนที่ใช้ไพรบึงวิทยาคมเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาแบบเพาะพันธุ์ปัญญา

โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ได้ดำเนินงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละปี เพื่อให้งานประสบผลสำเร็จของโครงการ โดยใช้กระบวนการของเพาะพันธุ์ปัญญาในการบริหารจัดการทั้งครูและนักเรียน เริ่มต้นด้วยการทำจิตตปัญญาศึกษา พัฒนาระบบการคิดเชิงเหตุผล การคิดวิเคราะห์ แยกแยะ การเชื่อมโยงข้อมูล

กิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องเพื่อให้เกิดความรักและสามัคคี และเพื่อละลายพฤติกรรมให้น้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งจิตใจและอารมณ์ ผลสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม มาจากความเป็นตัวตนของครูแกนนำแต่ละคน ผสมผสานกับกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ  ทำให้ทุกกิจกรรมที่จัดให้กับผู้เรียน มีประสิทธิผลที่น่ามหัศจรรย์ทุกครั้ง 

เรื่องเล่า เราชาวเพาะพันธุ์โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม 

“ แรก ๆ ที่เข้ามาร่วมโครงการพวกเราคิดว่าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ต้องเป็นโครงการที่เครียดและยากแน่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนไม่ชอบ มันทำให้พวกเรากลัวหลายๆเรื่องเข้ามาในหัว เช่น  กลัวทำไม่เป็น ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น  ไม่กล้าแม้กระทั่งการตั้งคำถาม ”

ซึ่งนี่ถือการบ้านทำให้เราต้องช่วยกันวิเคราะห์ ทำให้พวกเราคิดว่าเราจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาเด็กๆบางส่วนซึ่งเป็นส่วนมากของห้องให้ได้ พวกเราคิดว่าถ้าแก้ปัญหาที่พบตอนนี้จะทำให้การจัดการเรียนการสอนง่ายขึ้นและที่สำคัญคือต้องเป็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้อย่างแน่นอน การเรียนรู้มีอยู่ทุกที่พวกเราจัดกิจกรรมที่เน้นในเรื่องการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น โดยนำกิจกรรม “หนึ่งคำถามวิเศษ” เป็นสื่อช่วยในการสร้างความกล้าแสดงออกและการฝึกการตั้งคำถามแต่ที่สำคัญคือเราใส่ความจริงใจ ความเป็นกันเอง ความสนุกสนานในการเรียนรู้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือรุ่นพี่ เรานำรุ่นพี่มานำการทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมและกิจกรรมการเรียนรู้ เพราะการที่มีพี่มามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและให้คำปรึกษาน้องๆทำให้เราได้ทราบความจริงอะไรบางอย่างที่เราจะต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อนำไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในกิจกรรมต่าง ๆ

การจัดกิจกรรมของพวกเราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องทำโครงงานสำเร็จ เขียนงานวิจัยได้ 5 บทที่สมบูรณ์ หรือเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมทุกคน ถ้าพวกเราคิดแบบนั้นห้องเรียนจะกลายเป็นห้องเรียนที่เคลียดและน่าเบื่อที่สุดและคนที่เครียดที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหนเขาคนนั้นคือ “ครู” อย่างแน่นอน สิ่งที่พวกเราคาดหวังในตัวเด็กๆมากที่สุดคือพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของเด็กๆ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงคนเดียวก็ตามเราถือว่าเราประสบผลสำเร็จเพราะเราเชื่อว่าแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไปแล้วสามารถนำความสามารถหรือศักยภาพที่ตนเองมีนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และในที่สุดพวกเราก็ได้เริ่มให้นักเรียนได้ทำแบบทดสอบคือเรื่อง “กว่าจะเป็นใบเตยผง”แต่กว่าจะได้หัวข้อที่จะศึกษาเด็กๆต้องทำการศึกษา ค้นคว้า และที่สำคัญคือได้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าอะไรคือความเหมาะสมที่สุดและน่าสนใจที่สุด ทุกคนต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า “ใบเตย”และคำถามต่อมาคือ เราจะศึกษาเรื่องอะไรบ้าง เด็กๆต่างช่วยกันระดมความคิดว่าจะศึกษาอะไรบ้างจนได้ทั้งหมด 10 เรื่องจากเรื่องใหญ่ 1 เรื่อง คือ ใบเตย เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาที่ครบวงจรเริ่มจากการศึกษาเรื่องการปลูกใบเตย จนถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์เลยทีเดียว

เราพยายามจัดกิจกรรมให้เด็กๆได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่นช่วยกันปลูก ช่วยกันหาพันธุ์ใบเตย การคัดเลือกต้นใบเตย การทำผงใบเตย และการทำบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เด็ก ๆ ได้คุยกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดกันและสนิทสนนมากขึ้นห้องเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนานและเป็นกันเองเพราะเด็กๆมาจากหลายห้องเรียนที่สนใจ มันเป็นวิธีการที่ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของเราง่ายขึ้นแต่ในความมุ่งหวังที่แท้จริงคือพวกเราอยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการด้วยตัวของเขาเองโดยเขาไม่รู้ตัว พวกเราพยายามให้นักเรียนได้ฝึกการวางแผนการทำงานกลุ่มด้วยวิธีการของแต่ละกลุ่ม หลายคนตั้งคำถามว่าแล้วครูทำอะไร ครูมีหน้าที่เปรียบเสมือนฝ่ายตรวจสอบการตรวจสอบจะมีเป็นระยะๆตามห้วงเวลาที่กำหนดให้เสร็จแล้วพวกเราก็ทำการประเมินว่าเด็กๆทำงานแล้วยังบกพร่องในเรื่องใดแล้วเราจะทำการวิเคราะห์ว่าเราจะพัฒนาเด็กในเรื่องใดแล้วจัดกิจกรรมให้พวกเขา ที่สำคัญคือจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเขาไม่ได้โดนทอดทิ้งหรือโดนลอยแพอย่างแน่นอน

ในความเครียดยังมีความสนุกสนาน เมื่อเราพบว่าเด็ก ๆ เครียด พวกเราจะหากิจกรรมนันทนาการมาให้เด็กๆผ่อนคลายโดยให้รุ่นพี่มาดำเนินกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเคลียด โดยมีพวกเราเข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม ทุกกิจกรรมดำเนินไปด้วยความสนุกสนาน เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม นี่แหล่ะคือการเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขต ไร้ขีดจำกัด ในกิจกรรมที่สนุกสนานทุกกิจกรรมที่พี่ ๆ ได้จัดขึ้นนั้นแฝงไปด้วยการเรียนรู้ การปลูกฝังให้แก่เด็ก ๆ โดยที่เด็กๆรับไปโดยไม่รู้ตัวและในทางเดียวกันสิ่งเหล่านั้นก็กำลังติดตัวเด็ก ๆ ไปด้วยอย่างแยบยล

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาทำให้ได้รับความรู้มากมายมีทักษะ กระบวนการในการคิดวิเคราะห์ ทำให้กลายเป็นคนกล้าแสดงออก”

นี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อความจากการให้เด็กๆเขียนประเมินตัวเองจากการเข้าร่วมโครงการตามวัตถุประสงค์จากข้างต้นคือนักเรียนเปลี่ยนหนึ่งคนพวกเราถือว่าเราประสบความสำเร็จในการทำโครงการนี้ แต่จากการประเมินด้วยจากพฤติกรรมและการทดสอบทำให้เราทราบว่าเด็ก ๆ หลายคนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เด็ก ๆ อาจจะไม่เก่งที่สุดหรือดีที่สุดแค่เด็ก ๆ มีแนวความคิดที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเราถือว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ประสบผลสำเร็จ

แต่ในทางกลับกันถ้ามีเด็กเพียงคนเดียวที่ไม่มีการพัฒนาเลยแถมยังมีพัฒนาการที่แย่ลง หรือไม่มีความรับผิดชอบเลยก็ถือว่าพวกเราล้มเหลวในการจัดการเรียนการสอนเช่นเดียวกัน

การจัดการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับโครงงานหลายคนคิดว่าจะต้องยาก ต้องมีทฤษฏี แต่ถ้ารองมองข้ามทฤษฎีแล้วมาจัดกิจกรรมที่สนุกสนาน จัดกิจกรรมที่อยู่ใกล้ตัวเราแล้วเรียนรู้ไปพร้อมกันจะทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราทำโครงงานแต่เรากำลังเรียนรู้และแก้ไขปัญหากับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการนวัตกรรมการศึกษา ต่อ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน
  1. นักเรียน มีความรู้และมีทักษะการทำโครงงานฐานวิจัย (RBL) รู้จักคิดเชิงเหตุ-ผล การคิดวิเคราะห์คิดเชื่อมโยง มีทักษะการทำงานเป็นทีม เชื่อมโยงความรู้ที่ได้กับทฤษฎีต่าง ๆ มีความกล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าพูดกล้าทำ มีภาวะความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
  2. ครูผู้สอน มีความเข้าใจการเรียนการสอนโครงงานฐานวิจัย (RBL) เรียนรู้พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ครูได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาที่ใช้ยังทำให้ครูมีการวางแผนการจัดกิจกรรมตลอดเวลา เนื่องจากการจัดการเรียนรู้นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาเนื้อหาขึ้นอยู่กับปัญหาที่นักเรียนสนใจ
  3. ผู้ปกครองและชุมชน ผู้ปกครองได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิด ทักษะการทำงาน และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักเรียน ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ที่เกิดผลงานของนักเรียน
ปัจจัย/เงื่อนไขของความสำเร็จในการดำเนินการของนวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนไพรบึงวิทยา
  1. นวัตกรรม ด้วยความโดดเด่นของนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาที่จัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย (RBL) และใช้การคิดเชิงระบบในการพัฒนานักเรียน และจัดการเรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง จึงทำให้การใช้นวัตกรรมประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
  2. ผู้บริหาร กิจกรรมต่าง ๆ เมื่อผู้บริหารเห็นชอบและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมอย่างจริงจัง ก็จะทำให้การดำเนินกิจกรรมประสบผลสำเร็จได้ดี
  3. หลักสูตร โรงเรียนไพรบึงวิทยาคมได้บรรจุนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาลงในหลักสูตรของโรงเรียน มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มีการวัดและประเมินผลการเรียน ตามระเบียบงาน วัดและประเมินผลของโรงเรียน
  4. ครู ครูผู้สอนนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญามีความจริงจังกับการสอน มีความเสียสละ มีความรับผิดและดูแลเอาใจใส่เด็กนักเรียน พูดง่ายๆ คือ ครูเล่นด้วยกับนวัตกรรม
  5. นักเรียน โรงเรียนไพรบึงวิทยาคมรับสมัครนักเรียนที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาโดยตรง จึงทำให้ได้นักเรียนที่มีใจมาแล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะประสบผลสำเร็จ

ความสำเร็จทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเพียงสิ่งเดียว ทุกอย่างต้องรวมกันอย่างสมดุลและขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้

เป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในปีการศึกษา 2563

เป้าหมายเชิงปริมาณ

  1. โรงเรียนมีการจัดกระบวนการเรียนรู้โครงงานบนฐานวิจัยด้วยนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  2. นักเรียนทุกคนรู้และเข้าใจการจัดกระบวนการเรียนรู้โครงงานบนฐานวิจัยด้วยนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา โดยมีนักเรียนที่ผ่านการใช้นวัตกรรมแล้วมาเป็นพี่เลี้ยง
  3. ครูทุกคนร่วมเรียนรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้โครงงานบนฐานวิจัยด้วยนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา โดยมีครูที่ผ่านการสอนนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญาแล้วมาเป็นพี่เลี้ยง

เป้าหมายเชิงคุณภาพ

  1. นักเรียนที่ผ่านการใช้นวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา มีทักษะในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการคิดสังเคราะห์สร้างความรู้โดยผู้เรียนเอง ครูปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยการสอนให้นักเรียนเอาประสบการณ์ปฏิบัติมาทำความเข้าใจด้วยสาระวิชาที่เรียนอยู่ เพื่อนำไปสู่การตีความ การบูรณาการความรู้เดิมจนเข้าใจและสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองโดยนักเรียนเอง ซึ่งเรียกกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ว่า Research-Based Learning (RBL)
  2. นักเรียนถ่ายทอดความรู้ของตัวเอง ด้วยการจัดงานนำเสนอผลงาน โดยให้ครูและนักเรียนและผู้ปกครอง ได้เยี่ยมชมผลงาน
  3. มีแหล่งเรียนรู้ที่เป็นผลที่เกิดผลงานโครงงานของนักเรียน และสามารถเปิดให้นักเรียน ครู และชุมชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้
  4. จัดให้มีห้องเรียนสาธิตการจัดการเรียนการสอนนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา
การพัฒนาศึกษาแนวใหม่ การศึกษาสมรรถนะ โรงเรียนไพรบึงวิทยา

ในการพัฒนาการศึกษาแนวใหม่ และการศึกษาสมรรถนะ ต้องทำความเข้าใจถึงจุดแข็งจุดอ่อนของรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน เลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และต้องมีความเหมาะสมกับการศึกษาแนวใหม่ด้วย จึงจะทำให้การใช้รูปแบบการศึกษาใหม่ประสบผลสำเร็จ

  1. สร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะของผู้บริหาร คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา
  2. ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา เกิดการมีความร่วมมือและการทำงานเป็นทีมเพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
  3. ขยายผลรูปแบบและกระบวนการพัฒนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ เชื่อมสู่กรอบสมรรถนะ, การสร้างคำอธิบายสมรรถนะ, การฝึกออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างสมรรถนะ, การฝึกนำแผนฯ ไปสอนจริง, การร่วมสะท้อนผลการใช้แผนฯ, การฝึกประเมินสมรรถนะ, โค้ชนำความรู้ไปใช้จริงช่วยโรงเรียนพัฒนาหลักสูตร


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, สุจินต์ หล้าคำ 
ผู้ให้สัมภาษณ์: สุจินต์ หล้าคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: สุจินต์ หล้าคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ

Facebook Comments
Update Link การประชุมผู้นำการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2563 ผ่าน Zoom Cloud Meetingsขอเชิญ รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่สมัครขอรับมอบสื่อส่งเสริมการอ่านจาก สสส. และ รร.ทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom Could Meeting ในหัวข้อ การพัฒนาสื่อและการเรียนรู้เพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยสู่ชั้น ป.1
บทความล่าสุด