เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564โรงเรียนวิบูลวิทยา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบผสมผสาน (online and onsite) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้จากการเรียนในตำรามาเป็นการเรียนรู้จากนาข้าว ส่วนเป้าหมายความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้มี 2 ประการ 1. จัดทำปฏิทินนาข้าวเพื่อสื่อสารให้คณะครูในโรงเรียนรับทราบว่าช่วงใด มีกิจกรรมใดเกิดขึ้นที่นาข้าว 2. ออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนใช้นาข้าวและวิถีนาข้าวเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การสร้างสมรรถนะต่างๆ
เมื่อครบองค์ประชุม ท่านพระมหาจีระศักดิ์ ศรีปราบ ในฐานะประธานได้กล่าวเปิดการประชุมและให้ข้อมูลที่สำคัญว่า โรงเรียนวิบูลวิทยาเป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระครูวิบูลภารกิตติ์ (หลวงปู่ภา) เจ้าอาวาสวัดตาขัน/ผู้ก่อตั้งโรงเรียน, พระมหาจีระศักดิ์ ศรีปราบ ผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ, นางศศิธร เนตรภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูผู้สอน จำนวน 12 ท่าน เปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ท่านหลวงปู่ภามีเจตนาที่จะสร้างคนด้วยการศึกษา ต้องการจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในชุมชนท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทัดเทียมกับเด็กทั่วไป เพราะเยาวชนคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ ส่วนแปลงนาข้าวนั้นเป็นที่ว่างในวัด ท่านมีเจตนาจะทำให้เห็นว่านาข้าวคือวิถีชีวิตคนไทยที่ต้องเรียนรู้และสานต่อจากบรรพบุรุษของเรา
บอกเล่าปฏิทินนาข้าว
พระมหาจีระศักดิ์ ศรีปราบ และคณะครูได้ร่วมกันจัดทำปฏิทินนาข้าว โดยใช้ google calendar มีกิจกรรมที่สำคัญอันได้แก่ การไถนา ตีดิน เตรียมดิน เพาะกล้า ดำนา กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย จนถึงการเก็บเกี่ยว ระยะเวลาจากการเพาะกล้าถึงการเก็บเกี่ยวประมาณ 4 เดือน ในระหว่างกิจกรรมการทำนาข้าว ทางโรงเรียนวิบูลวิทยาจะเปิดให้มีกิจกรรม “กินลมชมนา” ปีละ 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ประมาณปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหลังการดำนา ๑ เดือน ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต, ครั้งที่ 2 ประมาณต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระยะที่ใส่ปุ๋ยบำรุงเมล็ดข้าว และครั้งที่ 3 ประมาณปลายเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวใกล้เก็บเกี่ยว และเป็นระยะที่โรงเรียนเตรียมการจะเก็บเกี่ยว การชมนาทั้ง 3 ครั้ง จะมีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้บูรณาการความรู้จากนาข้าวในพื้นที่จริง และนักเรียนที่ได้เรียนรู้จากนาข้าวได้มีเวทีนำเสนอชิ้นงานหรือแนวคิดต่างๆ อันเป็นการขึ้นเวทีบอกข่าวเล่าเรื่องราวที่นักเรียนได้เรียนรู้ไปสู่สาธารณชน พระอาจารย์ยังกล่าวอีกว่า ในอดีตมีนักเรียนและผู้ปกครองบางกลุ่มมีความสนใจใฝ่รู้ได้มาร่วมกิจกรรมลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว แต่ในปีนี้เราได้นำวิถีการทำนาเข้าไปในห้องเรียนตามกำลังความสามารถของครูและนักเรียนร่วมกันออกแบบเรียนไปพร้อมๆกับการทำนาข้าว ในส่วนตัวยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเรียนรู้ของนักเรียนและครูผู้สอนจะปรากฏผลเช่นไร แต่มีความยินดีและภูมิใจที่ได้เริ่มต้นกิจกรรมเรียนรู้จากนาข้าว
ออกแบบการจัดการเรียนรู้ “เรียนรู้อะไรจากนาข้าวได้บ้าง”
นายไกรสิทธิ์ ดิบรุณย์ และคณะครูได้ร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนรู้ “เรียนรู้จากนาข้าว” เป็นการเชื่อมโยงกิจกรรมและวิถีนาข้าวกับวิชาการในกลุ่มสาระต่างๆ รวมทั้งกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง หรือ Rayong MARCO ทั้งนี้ครูวิชาการกล่าวว่า หลักสูตรของโรงเรียนวิบูลวิทยา ปีการศึกษา 2564 ได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะทำงานกลั่นกรองหลักสูตรสถานศึกษาแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นหลักสูตรที่วัดความสำเร็จของนักเรียนด้วยสมรรถนะ 10 ประการ ตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง หรือ Rayong MARCO ในปีนี้นับเป็นปีแรกที่เราต้องปรับเปลี่ยนหลายด้าน แต่เราเลือกจุดเริ่มต้นที่นาข้าว เนื่องจากนักเรียนของเรามีความผูกพันกับนาข้าวและมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เช่น การดำนา การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว เป็นต้น เราจึงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของเรากับวิถีนาข้าวให้เป็นเรื่องเดียวกัน โดยเริ่มต้นที่การออกแบบของครูทุกคนในโรงเรียน โดยพร้อมใจกันนำวิชาที่ตนสอนมาเชื่อมโยงกับนาข้าว เราตั้งคำถามไว้ว่า “วิชาที่เราสอนจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อะไรจากนาข้าวได้บ้าง” เราเริ่มต้นที่ความสมัครใจและการมองเห็นของครูก่อนเป็นอันดับแรก และจะค่อยๆเรียนรู้และหาวิธีที่ดีกว่าต่อไป คาดว่าในปีการศึกษา 2564 ทุกคนในโรงเรียนวิบูลวิทยาจะช่วยกันทำให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์กับนักเรียนได้อย่างแน่นอน และได้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆโดยเน้นที่ผลลัพธ์และสมรรถนะ ดังปรากฎในตาราง
ครูขอ 1 เดือน เพื่อเรียนรู้และปรับเปลี่ยน
นางสาวธิยาพร สรรพสมบรูณ์ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้ทดลองฝึกการออกแบบกิจกรรม “นักการตลาดในนาข้าว” ซึ่งเป็นการออกแบบร่วมกันระหว่างตนเองกับครูสอนวิชาภาษาไทย (นายเอกชัย แสงสุวรรณ์) ว่ายังไม่เคยออกแบบการจัดกิจกรรมแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อหลักสูตรฉบับใหม่นี้ปรับเปลี่ยนไปเป็นการเน้นผลสำเร็จที่สมรรถนะของนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนก็ให้อิสระกับครูผู้สอนในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ใหม่ จึงมองว่า “ถึงเวลาของการปรับเปลี่ยนแล้ว คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวเราเปลี่ยนไปมาก หากจะให้ปรับเปลี่ยนได้อย่างชัดเจน ต้องมีเวลากับการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยน ได้ออกแบบไว้ว่าในเวลา 1 เดือนจะพยายามเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์เรื่องการตลาดกับนาข้าว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า “นักเรียนจะเป็นนักการตลาดประจำนาข้าวได้” ขั้นตอนในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนรู้คุณค่าของการทำการตลาดหรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว ขั้นที่ 2 ให้นักเรียนค้นหาวิธีการทำการตลาด ขั้นที่ 3 นักเรียนตัดสินใจและออกแบบวิธีการทำการตลาด และขั้นที่ 4 นักเรียนจะนำเสนอแนวคิดในการทำการตลาดจากนาข้าวได้
นายสมรัก ใยนนท์ ครูสอนวิชาสังคมศึกษาฯ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 กล่าวว่า วิชาสังคมศึกษาฯ เป็นการเรียนรู้เรื่องรอบตัว 5 เรื่อง คือ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และเศรษฐศาสตร์ มองว่าวิชาสังคมศึกษาฯสามารถเรียนรู้จากนาข้าวได้มาก เนื่องจากนาข้าวเป็นวิถีชีวิตไม่ใช่แค่การเพาะปลูกเหมือนพืชอื่นทั่วไป จึงออกแบบให้นักเรียนเป็นผู้เล่าขานตำนานนาข้าว ถ้าในเวลา 1 เดือน คิดว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน แล้วจะพาคิดชวนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนาข้าวในแง่มุมต่างๆ ทั่วโลก ทั้งของคนไทยและคนทั่วโลกที่เขาทำนากัน หลังจากนั้นจะให้นักเรียนสื่อสารเล่าขานให้คนอื่นๆรับรู้ด้วยวิธีต่างๆ อาจทำเป็นโปสเตอร์ หรือนิทรรศการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียน และมองว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ครูและนักเรียนต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน
พระมหาจีระศักดิ์ ศรีปราบ กล่าวเสริมว่า ถ้าหากนักเรียนได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของการทำนา ความเชื่อจากนาข้าว โดยสืบค้นว่าพื้นที่ใดในโลกหรือในประเทศไทยที่นิยมการทำนา ประเพณีวัฒนธรรมในการทำนา เช่น การบูชาพระแม่โพสพ พิธีแรกนาขวัญ ศึกษาคุณธรรมในนาข้าว เช่น รวงข้าวที่เมล็ดมากจะน้อมลงเสมือนคนเราถ้ามีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ เป็นเด็กก็น่ารัก เป็นผู้ใหญ่ก็น่าเคารพหรือเป็นคนเสมอกันก็น่านับถือ เป็นต้น จะทำให้นักเรียนรู้คุณค่าและรักในวิถีนาข้าวได้มากขึ้น
นางสาวแสงเทียน ชารัมย์ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 เห็นว่าวิธีการออกแบบการเรียนรู้แบบนี้ทำให้ครู 3 คน ที่จะสอน 3 วิชาในนาข้าว ได้แก่ วิชาภาษาไทย วิทยาศสตร์ และศิลปะ มาออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการด้วยกันได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะสอนแยกกัน แต่ละวิชาก็จะมีชิ้นงานของวิชานั้นๆ ทำให้เป็นภาระกับนักเรียน ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่การนำวิชาทั้งสามมาออกแบบร่วมกัน เราจะส่งเสริมให้นักเรียนเป็นนักประชาสัมพันธ์ระบบนิเวศในนาข้าว โดยสามารถทำได้ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นสร้างแรงบันดาลใจ ขั้นเรียนรู้ ขั้นลงมือทำและขั้นการนำไปใช้ ครูทั้งสามก็ต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเรา
นางศศิธร เนตรภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า การให้เวลาในการทดลองปรับเปลี่ยน 1 เดือนแรกเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ครูผู้สอนไม่เครียด กลับทำให้มีความพากเพียรพยายามและอยากรู้ผลมากขึ้น เมื่อก่อนเราสอนกันเป็นชั่วโมง ครูมีหน้าที่เขียนแผนการสอนแล้วก็สอน ไม่มีการออกแบบเชิงบูรณาการและเน้นที่สมรรถนะเหมือนในหลักสูตรฉบับนี้ ในความคิดส่วนตัวรู้สึกชื่นชมครูทุกท่านที่มองเห็นความสำคัญที่จะให้โอกาสนักเรียนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้
นัดเสวนากิจกรรมกินลมชมนาครั้งแรกปลายเดือนมิถุนายน
พระมหาจีระศักดิ์ ศรีปราบ กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมิถุนายนขอเชิญชวนท่านผู้ใฝ่เรียนรู้ชมนาข้าว เพราะหลังการดำนาและใส่ปุ๋ย ข้าวก็จะเริ่มแตกกอสวยงามน่าชม และเป็นบรรยากาศในห้องเรียนนาข้าวน่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง และก็พอจะเห็นแววความสำเร็จของนักเรียนที่ได้เรียนรู้และทำกิจกรรมเกี่ยวกับนาข้าวตามที่เขาสนใจ เรียกได้ว่าพอมีผลงานมาร่วมนำเสนอได้แล้ว เช่น นักเล่าข่าว กังหันไล่นก นักการตลาดในนาข้าว คลิปเล่าข่าว คลิปประวัตินาข้าว เป็นต้น หากว่าผลงานที่ปรากฏในวันนั้นเกิดจากการเรียนรู้ของนักเรียนจริงๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการออกแบบหรือการสอนของครูไปถูกทางแล้ว แต่หากว่ายังพบอุปสรรคหรือนักเรียนยังทำงานเองไม่ได้ ยังไม่เป็นผู้เรียนรู้ แต่จำจากครูมาพูด อันนี้ก็คงต้องย้อนกลับไปดูว่าอะไรเป็นอุปสรรค ก็คงต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป
บทสรุป : นาข้าวสอนคน
นายธงชัย มั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง หัวหน้าศูนย์ประสานงานยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง กล่าวว่า จากการได้ร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียนวิบูลวิทยา มองเห็นการปรับเปลี่ยนของโรงเรียนวิบูลวิทยาในครั้งนี้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการศึกษาโดยใช้บริบทพื้นที่เป็นฐาน ในที่นี้คือนาข้าวที่เป็นเสมือนชีวิตของชาวตำบลตาขัน หากโรงเรียนจัดวิถีการเรียนรู้กับวิถีนาข้าวให้ไปด้วยกันเช่นนี้จะทำให้วิถีและวิธีการทำนาจะอยู่คู่กับตำบลตาขันไปตลอดกาล
ผู้เขียน: พระครูวิบูลภารกิตติ์ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน), พระมหาจีระศักดิ์ ศรีปราบ (ผู้รับใบอนุญาต/ผู้จัดการ), ศศิธร เนตรภักดี (ผู้อำนวยการโรงเรียน)
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์