TSQP เสริมสร้างโรงเรียนสู่การพัฒนาตนเอง
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ผอ.สบน.) ได้มอบหมายให้ผู้เขียน นายเก ประเสริฐสังข์ เข้าร่วมเวที การนำเสนอนโยบายจากผลวิจัยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองต่อหน่วยงานระดับนโยบายที่เกี่ยวข้อง วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 เวลา 09.30 น. – 14.30 น. ณ ห้องประชุมเดซี่ โรงแรม ที่เค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร บรรยากาศในเวทีงานวิชาการแต่มีกลิ่นไอของความเป็นกันเอง มีข้อมูลและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดจากความทุ่มเทของผู้เกี่ยวข้องทั้งจากคณะทำงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะผู้วิจัยที่ดำเนินการประเมินผลและถอดบทเรียนโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนมุมมอง ทำให้ในเวทีวันนี้ผู้เขียนรู้สึกถึงความอิ่มเอิบใจของทุกคนในเวทีทั้งทางห้องประชุมและออนไลน์จนล่วงเลยเวลาเที่ยงวันลืมเวลาทานข้าวกันเลยทีเดียว
เมื่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวทักทายและเปิดการประชุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญญ แม้นโกศล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการหลัก ได้มอบเวทีให้กับ รศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการวิจัย ประเมินผล และถอดบทเรียนโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ปี 2565 ได้นำเสนอผลวิจัยจากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ปี 2565 ผู้เขียนได้เห็นภาพความเป็นมาและวัตถุประสงค์ กระบวนการดำเนินการทำวิจัย ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีหลายเรื่องราวที่เป็นข้อค้นพบที่ถูกสกัดเป็นองค์ความรู้ที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการด้านการพัฒนาการศึกษาของประเทศเราเดินต่อไป แม้ตัวโครงการวิจัยครั้งนี้จะสิ้นสุดลง ความพยายามในการประเมินผลครั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงที่จะยกระดับเป็นองค์ความรู้ได้ถูกออกแบบและมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งวิธีการเชิงปริมาณกับผู้เกี่ยวข้องกว่า 3,294 คน และวิธีการเชิงคุณภาพทั้งสัมภาษณ์ สนทนากลุ่ม ศึกษาชั้นเรียน/สังเกตการเรียนการสอน ศึกษาเอกสารหลักฐาน สังเกตพฤติกรรมนักเรียน และทดสอบนักเรียน รวมผู้ที่ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพกว่า 2,656 คน
ผลการวิจัยถูกนำเสนอในเวทีที่มีระยะเวลาไม่นานแต่ก็สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ดังภาพประกอบ
และคณะผู้วิจัยได้ฝากประเด็นท้าทายไว้อย่างน่าสนใจ 3 ข้อ ได้แก่
- การกำหนดแนวคิด เป้าหมาย หลักการ แนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการ ให้ความสำคัญกับนักเรียนให้เรียนรู้อย่างทั่วถึง โดยการสนับสนุนของทุกภาคส่วน
- การแก้ปัญหาที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ กสศ. หน่วยงานต้นสังกัดและที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาทำความเข้าใจและเตรียมบุคลากรอย่างชัดเจน ปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
- การสานต่อและประยุกต์การพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งระดับนโยบาย ระดับกำกับสนับสนุน ระดับบริหารจัดการ และระดับปฏิบัติการ ทั้งจาก กสศ. สถาบันพัฒนา โรงเรียน และต้นสังกัด
จากนั้น ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา ได้นำเสนอนโยบายที่ได้จากการถอดบทเรียนโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ต่อผู้ร่วมเวทีที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานระดับนโยบายทั้งจาก สพฐ. สช. อปท. และ สบน. โดยมีการนำเสนอภาพให้เห็นถึงความดีงามที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) ตลอดจน ต้นทุนทางปัญญาที่ กสศ. และภาคีเครือข่ายร่วมกันสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565 ถูกสังเคราะห์ออกมาเป็นรูปแบบ“การขับเคลื่อนขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” Teacher and School Quality Movement: TSQM จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การขับขบวนการเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงพื้นที่ (Teacher and School Quality Movement – Area: TSQM-A) รูปแบบที่ 2 การขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Movement – Network: TSQM-N) และ รูปแบบที่ 3 การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงประเด็น (Teacher and School Quality Movement – Issue: TSQM-I) ซึ่งคาดว่าเมื่อการดำเนินโครงการนี้สังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้เสร็จสิ้นทาง กสศ. จะได้นำเสนอสู่สาธารณะในลำดับต่อไป
ในช่วงท้ายที่ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมกับเวทีเป็นประเด็นที่ทางผู้จัดต้องการให้แต่ละหน่วยงานช่วยพิจารณาข้อเสนอแนะที่คณะผู้วิจัยได้ยกร่างไว้ เพื่อดูว่าอะไรในข้อเสนอแนะที่มองเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้เพื่อเคลื่อนงานของสำนักงาน ซึ่งในฐานะที่เป็นตัวแทนของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงได้สะท้อนต่อที่ประชุมในสามเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ สบน. จะนำไปใช้งานต่อ ได้แก่
เรื่องที่ 1 ต่อข้อเสนอแนะระยะยาว ที่กล่าวว่า “ปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา”
น่าสนใจว่า 4 ปีที่ผ่านมา TSQP เราพบระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับใดที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน
หากมีข้อเสนอตรงนี้ที่ชัดเจน จะสอดคล้องกันกับสิ่งที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ได้สะท้อนคิดและท้าทายท่านอาจารย์สมเกียรติไว้เมื่อคราวประชุมตอนเริ่มต้นการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 12 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 อาคาร SM Tower สกสว. ว่า
…ต้องการให้มีชุด/Package ของการปลดล็อก โดยรวมทุกประเด็น/นวัตกรรม ที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ทำแล้วการศึกษามีคุณภาพขึ้นได้จริง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คืออะไรที่มันเป็นอุปสรรคควรปลดล๊อกไปเลยปลดล๊อกให้ รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ไปทดลองดูว่ามันสามารถพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยเราได้หรือไม่ แทนที่จะรอให้พื้นที่วัตกรรมการศึกษาเสนอเรื่องปลดล๊อกขึ้นมา ก็ให้เราส่วนกลางปลดล๊อกแล้วให้โรงเรียนนำร่องใช้โอกาสของการมี พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้โรงเรียนนำร่องได้ทดลองทำเลย…ถ้าไม่ปลดล๊อกลงไปนี่คงยากเลยที่จะประสบความสำเร็จท้าอาจารย์สมเกียรติเลย
ซึ่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ มีความชัดเจน ตรงจุดนี้ สบน. สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เสนอต่อ กนน. ใช้อำนาจตามกฎหมายพิจารณาต่อไป เช่น
มาตรา 15 (8) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยนำผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว
มาตรา 15 (11) ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การปฏิบัติงาน การเงิน สิทธิประโยชน์ และการประเมินผล ภายในสถานศึกษานำร่อง
มาตรา 15 (13) ออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
และตอนนี้เป็นโอกาสดีมาก ที่ รมว. มหาดไทย เป็นรองนายก และนั่งเป็นประธานบอร์ดนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งด้วยบทบาทของท่านแม้ยังไม่มีใครบอกให้บูรณาการท่านก็บูรณาการของท่านเองอยู่แล้ว เพราะคือตัวท่านคนเดียวในสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการเคลื่อนเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาของพื้นที่ต่อไป
เรื่องที่ 2 “ส่งเสริมให้สถาบันพัฒนา หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนและพัฒนา”
ต่อประเด็นนี้น่าสนใจว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา TSQP เราพบ วิธีการผลักดันหรือส่งเสริมให้สถาบันพัฒนา หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนและพัฒนา การจัดการศึกษาหรือไม่? ในลักษะที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อหรือสนับสนุนให้สถาบันเหล่านั้น เข้าร่วม หรือไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งข้อเสนอตรงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการที่ สบน. จะได้นำไปจัดทำเป็นข้อเสนอต่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กนน.) เพื่อให้ กนน. ได้ใช้อำนาจตาม “มาตรา 15 (5) ในการกำหนดแนวทางให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กขน.) ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของหน่วยงานทางการศึกษาหรือสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ทั้งนี้ปัจจุบัน พบว่า ในการขับเคลื่อนงานงานด้านวิชาการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้มุ่งหวังให้สถาบันพัฒนา หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญควรจะเข้าร่วมมือในการขับเคลื่อนฯ แต่จากการติดตาม สบน. พบว่า ประเด็นหลักที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจนว่าพื้นที่ต้องดำเนินการ เช่น มาตรา 20 (6) กำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อน (กขน.) มีหน้าที่และอำนาจ ในการจัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และผู้ออกแบบกฎหมายได้ตระหนักว่า กขน. อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว จึงได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของ กขน. อีกมาตราหนึ่งไว้ใน มาตรา 20 (3) ที่กำหนดไว้ชัดว่า หน้าที่ของ กขน. คือ ประสานงานให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการจัดทำสื่อการสอน จัดการเรียนรูปแบบใหม่ พัฒนาบุคลากร จัดระบบประเมินและวัดผล และการอื่นที่จำเป็นสำหรับพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ปัจจุบันการเคลื่อนงานด้านวิชาการยังเคลื่อนได้น้อยหรือมีมหาลัยบางส่วนที่เข้ามา ก็จะเป็นการเข้ามาเพื่อทำงานวิจัยให้บรรลุตามเป้าหมายของผู้ให้ทุนวิจัยเป็นหลัก
เรื่องที่ 3 ระยะเร่งด่วน “กำหนดนโยบายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ให้เป็นการพัฒนาที่โรงเรียนเป็นสำคัญ”
จากข้อเสนอข้อนี้อยากให้เพิ่มสาระสำคัญของข้อเสนอที่เปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจเชิงนโยบาย ได้นำบางส่วน หรือทั้งหมด ของสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ไปปรับประยุกต์ใช้หรือผสานเข้าไปร่วมกับนโยบายที่ต้นสังกัดดำเนินการอยู่แล้ว จึง เสนอให้ปรับปรุงเนื้อหาในข้อเสนอดังนี้
“กำหนดนโยบายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ให้เป็นการพัฒนาที่โรงเรียนเป็นสำคัญ หรือ ปรับประยุกต์ผสาน ส่วนที่เป็นประโยชน์ เหมาะสมสอดคล้อง เข้าไปรวมกับนโยบายที่ต้นสังกัดดำเนินการอยู่แล้ว”
โดย
เก ประเสริฐสังข์
ร่วมประชุมแทน ผอ.สบน.
22 ก.พ. 67
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์