เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนหนึ่งของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่ มีรองศาสตราจารย์ ดร.อรรณพ พงษ์วาท เป็นประธาน มีกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมหลายท่าน อาทิ นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ นายบรรเจิด สิทธิโชค นายเรืองฤทธิ์ อภิวงค์ นายอารักษ์ หาญฤทธิ์ นายเจริญ วงษ์ษายะ นางฐิติรัตน์ อินตายวง นางดารณีย์ พยัคฆ์กุล นายโสภณ จุโลทก นายวิชาญ กาญจนไพโรจน์ ซึ่งผู้เขียนได้รับเกียรติจากท่านประธานและผู้ทรงคุณวุฒิให้นำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และโอกาสที่จังหวัดเชียงใหม่จะใช้ พ.ร.บ.นี้ เป็นเครื่องมือหรือตัวช่วย ทำให้ความมุ่งหวังของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หลังจากที่ผู้เขียนนำเสนอ กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้สะท้อนความคิด เห็นโอกาสของ พ.ร.บ. และแนวทางสานพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาของคนเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การศึกษาไทยเปลี่ยนได้โดยให้โรงเรียนยืนบนขาของตนเอง ให้คิดเอง ทำเอง ลดสั่งการแบบ top down ให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้สามารถบริหารเรื่องคนได้ เช่น หากโรงเรียนขาดครูในสาขาที่จำเป็น ขอให้โรงเรียนสามารถจัดหาได้เองในเวลารวดเร็ว ทันเวลา
- คณะกรรมการขับเคลื่อนจะต้องรู้บทบาทชัดเจน จึงจะช่วยโรงเรียนนำร่องได้ถูกทาง
- โรงเรียนนำร่องต้องจัดการตนเองได้และอธิบายคุณภาพตนเองได้ โรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องต้องมีเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ขยายผลนวัตกรรม ที่สำคัญโรงเรียนนำร่องต้องบอกคุณภาพการจัดการศึกษาของตนเองได้ด้วยตนเอง ต้องบอกผลลัพธ์ผู้เรียนที่มุ่งหวัง ต้องชี้ให้ผู้อื่นเห็นได้ว่าจะดูความสำเร็จของโรงเรียนดูได้ที่ใด และแสดงให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นได้ว่าที่สำเร็จ/ได้ผลลัพธ์ตามหวังนั้น ทำได้ด้วยนวัตกรรมใดที่โรงเรียนตนเองได้ใช้แล้วยกระดับคุณภาพได้จริง
- การสานพลังทีมพัฒนาต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และประสานกันทุกระดับ การพัฒนาการศึกษา/ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ต้องประสานกันทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ บูรณาการกัน ทีมทำงานจะต้องรู้จัก รู้ใจ และเข้าใจ ในการทำงานร่วมกัน
- การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ต้องมี Design Thinking ร่วมกันออกแบบหลายภาคส่วน เช่น เขตพื้นที่ต้องหนุนเอื้อเปิดโอกาสให้โรงเรียนนำร่องทำตาม พ.ร.บ.เต็มที่ ให้อิสระคิดและทำเอง เอื้อเชิงนโยบาย/ไม่มอบให้ทำสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบพัฒนาครูพันธุ์ใหม่ต้องปรับเปลี่ยนความคิดที่จะทำหนังสูตรพัฒนาครูที่หนุนเสริมแนวคิดพื้นที่นวัตกรรม สร้างครูที่ได้รับการฝึกประสบการณ์รอบด้าน ให้สามารถสอนเน้นทักษะชีวิตได้ สามารถส่งเสริมเด็กให้ได้เรียนรู้ตามความถนัดความสนใจ หรือสนับสนุนให้โรงเรียนเปิดสอนเฉพาะด้านตามอาชีพที่เด็กสนใจและมีศักยภาพไปถึงได้
- พ.ร.บ. และภาคีมีเป้าหมายเดียวกันที่จะร่วมสร้างสรรค์คุณภาพการศึกษาเชียงใหม่ให้สำเร็จ เป้าหมายของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเรื่องเดียวกัน ปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องผสานพลังกัน ต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ และต่อยอดได้
หมายเหตุ รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
1. รศ. ดร.อรรณพ พงษ์วาท ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา
2. นายสมชาย เกตะมะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น (ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่)
3. นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นายบรรเจิด สิทธิโชค ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา)
5. นายเรืองฤทธิ์ อภิวงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา)
6. นายนิคม เมฆะ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา)
7. นายอารักษ์ หาญฤทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา)
8. นายเจริญ วงษ์ษายะ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา)
9. นางฐิติรัตน์ อินตายวง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ (สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่)
10. นางดารณีย์ พยัคฆ์กุล ผอ.กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล (ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่)
11. นางปัญญดา กันจินะ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 จังหวัดเชียงใหม่
12. นางทองเหรียญ อินต๊ะพิงค์ นายกสมาคมผู้ดูแลเด็กศรีนครพิงค์
13. นายประพันธ์ มูลปา ผู้ทรงคุณวุฒิ
14. นายสมศักดิ์ สุขพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
15. นางสาวทัศนียา ไชยสมบัติ ผู้ทรงคุณวุฒิ
16. นางนฤมล พรหมมหาราช หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการศึกษานอกระบบ สนง.กศน.จังหวัดเชียงใหม่
17. นายอาทิตย์ แคเซอ ครู ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 จังหวัดเชียงใหม่
18. นางสาววรรณศรี ปัญญาประชุม ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
19. นางกรรณิการ์ พุทธิมา นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ
ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปวรวรรณ พัฒนคุ้ม