ผู้ปกครองเริ่มตระหนักรู้เข้าใจใน “สมรรถนะ” ผลลัพธ์ของการศึกษา พร้อมร่วมส่งเสริมพัฒนาลูกที่บ้าน ผ่านการออกแบบกิจกรรมในชีวิตประจำวันใหม่ ในพื้นที่นวัตกรรมสตูล

19 มีนาคม 2020

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ผู้เขียนได้มาร่วมเรียนรู้ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาโค้ชเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล มีวิทยากรหลักจากสถาบันอาศรมศิลป์ นำโดยรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์

ผู้เขียนมาถึงสถานที่ประชุม เป็นวันที่สองของการประชุมปฏิบัติการ เช้าวันนั้นวิทยากรได้เล่าให้ฟังว่าในวันแรกของการประชุมมีผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลสตูลร่วมอยู่ในกระบวนการการประชุมครั้งนี้ด้วยและได้สะท้อนเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ จากสิ่งที่เข้าใจในความหมายของสมรรถนะ จะนำไปใช้กับลูกในทันที เช่น เมื่อพาลูกไปเที่ยวก็จะจัดประสบการณ์ให้ลูกได้มีสมรรถนะ ไม่เพียงแค่ไปเที่ยวตามปกติเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ผู้เขียนก็ยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ปกครองคนดังกล่าว

ในบ่ายวันที่ 13 มีนาคม ขณะลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกาะเภตราจังหวัดสตูล ในกิจกรรมการเรียนรู้ ณ สถานที่จริง เกี่ยวกับอุทยานธรณี (Geopark) ของจังหวัดสตูล ทุกโรงเรียนต้องเรียนรู้พื้นที่และออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้หรือหน่วยการเรียนรู้ โรงเรียนละ 1 แผน หรือ 1 หน่วย ที่จะใช้แหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในชุมชนนี้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ “สมรรถนะ” ในการจัดการศึกษาของจังหวัดสตูล ตามสมรรถนะที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันกำหนดขึ้นจากการประชุมในสองวันที่ผ่านมา และผู้เขียนก็ได้พบกับผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูลที่ทีมวิทยากรกล่าวถึง จึงได้มีโอกาสพูดคุยสอบถาม

ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูลดังกล่าวคือ แม่อุ๊ ปราณี บูชางกูร คุณแม่ของนักเรียนชั้น ป.1 และแม่จี จันจิรา สุรวาทิน คุณแม่ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 และชั้น ป.1 คุณแม่ทั้งสองเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้เข้าใจสมรรถนะ รู้เป้าหมายในการพัฒนาลูก ซึ่งตรงกับใจของแม่ที่มุ่งหวังให้ลูกได้รับการศึกษาที่เป็นการฝึกฝนลูกให้มีทักษะชีวิต และได้ความรู้เชิงวิชาการในแบบที่ไม่ใช่การยัดเยียด แต่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ สร้างความรู้เอง

แม่อุ๊ และแม่จี มีความตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะร่วมสร้างสมรรถนะให้ลูก ในทุก ๆ กิจกรรม ที่ลูกและพ่อแม่จะทำร่วมกันเช่น การไปท่องเที่ยว การเข้าค่าย นับจากนี้ไปพ่อแม่จะออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน จะส่งเสริมให้ลูกได้มีสมรรถนะที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสมรรถนะและเป้าหมายเดียวกันกับเป้าหมายการจัดการศึกษาของ จ.สตูล และประเทศ

“การเข้าร่วมครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจถึงคำว่าสมรรถนะ โอเคอาจจะไม่เข้าใจอย่างที่ครูเข้าใจ แต่เราเข้าใจในรูปแบบของแม่ สามารถเอาสิ่งตรงนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันเราได้ ล่าสุดนี้อุ๊จะพาลูกไปเที่ยว จะเอาสมรรถนะเข้าไปใส่ในการท่องเที่ยวของลูก ที่นอกจากจะมีแต่ความสนุกอย่างเดียว เรามีความคิดแล้วว่า เราจะใส่อะไรไปในทริปท่องเที่ยว เพื่อเห็นลูกเราเกิดประโยชน์มากที่สุด” (แม่อุ๊ ปราณี บูชางกูร)

“เข้าใจความหมายของสมรรถนะว่าเป็นเรื่องการสื่อสาร ทักษะชีวิต เราเข้าใจแบบภาษาแม่ ๆ ไม่ใช่วิชาการจ๋า เรารู้ว่าต้องร่วมสร้างทักษะการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี เราเข้าใจแล้วจะเอาไปใช้กับลูกได้ …ตอนแรกเข้าใจว่าลูกเรียนแนวใหม่ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเน้นวิชาการเกินไป แต่พอมาฟัง มาดูแผนการสอนของโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้เห็นว่ามีวิชาการและความรู้แทรกอยู่ในการเรียนการสอนด้วย ถ้าครูเข้าใจเช่นนี้หมดทุกคนก็จะทำให้จัดการเรียนการสอนแนวนี้ได้อย่างเข้าใจ ซึ่งจะดีมาก เด็ก ๆ จะเรียนรู้อย่างมีความสุขมาก” (แม่จี จันจิรา สุรวาทิน)

แม่อุ๊กล่าวในตอนท้ายว่า พ่อแม่ต้องร่วมสร้างการเรียนรู้ให้ลูกเข้มแข็ง ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนและครูฝ่ายเดียว พ่อแม่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ร่วมด้วยช่วยกัน เพราะลูกคือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด ให้ได้เรียนรู้ งอกงาม

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่า ความรักของพ่อแม่จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมจัดการเรียนรู้ให้ลูก หากพ่อแม่ได้ตระหนัก ได้เห็นคุณค่า ได้เข้าใจในเป้าหมายของการจัดการศึกษาของโรงเรียนของพื้นที่

ความเข้าใจที่สำคัญคือ ความเก่งของลูกในยุคสมัยนี้และอนาคต ไม่ใช่เก่งท่องจำความรู้ หรือไม่ใช่ความเก่งในวิถี/วิธีการเรียนแบบที่พ่อแม่เคยได้รับมาในสมัยที่พ่อแม่เป็นเด็ก เพราะปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสูง ภัยคุกคามก็มากตามมา การจัดการศึกษาจึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิด ให้ลูกรู้เท่าทัน

การเรียนจึงไม่ใช่การ “รับความรู้” หรือ “รอให้ครูป้อนเนื้อหาความรู้ให้” เพราะเนื้อหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตมีมากมายหลากหลาย แทบจะแยกแยะได้ยากว่าเนื้อหาข้อมูลใดจริงหรือเท็จ การจัดการศึกษาจึงต้องสร้างการคิด ให้ลูกมีทักษะชีวิต ใช้เทคโนโลยีเป็น สื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ การเรียนจึงต้องฝึกให้ลูกประยุกต์ใช้ความรู้ มีสมรรถนะที่พร้อมแก้ไขปัญหาที่ยังมาไม่ถึง หรือพร้อมแก้ปัญหาในอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าปัญหานั้น ๆ คืออะไร จะมาในรูปแบบใด รวมทั้งต้องสร้างลูกให้มีความเป็นพลเมืองที่ตระหนักเห็นคุณค่าของพหุวัฒนธรรมและทรัพยากรในถิ่นฐานบ้านเกิดด้วย

ความเข้าใจในเป้าหมายหรือผลลัพธ์สุดท้ายในการจัดการศึกษาและเรียนรู้เช่นนี้ เริ่มขยายจากพ่อแม่ เช่น แม่อุ๊ แม่จี หรือพ่อแม่ที่เป็นเครือข่ายผู้ปกครอง “ครูผู้ปกครอง” หนึ่งใน 3 ของนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสตูล และโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 10 แห่ง ที่เรียกว่า “ครู 3 เส้า” (ครูโรงเรียน ครูผู้ปกครอง และครูชุมชน)

นับว่า การขยายความเข้าใจ สร้างการรับรู้ให้ผู้ปกครองทั้งโรงเรียน และคนในชุมชน พื้นที่ และสังคม ให้เปลี่ยนมุมมองความคิด หันมาร่วมมือรวมพลังกับโรงเรียนและครู เพื่อสร้างเด็กเยาวชนและคนคุณภาพ มุ่งสร้าง “สมรรถนะ” ถือว่าเป็นความท้าทาย ของผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ..ซึ่ง จ.สตูล ถือว่ามีแต้มต่อและมีโอกาสสำเร็จสูง เพราะมีพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีความมุ่งหวัง ตั้งใจ รวมตัวเป็นเครือข่าย Active Parent ที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นกำลังหลักในการช่วยสร้างความเข้าใจในผลลัพธ์ที่ผู้เรียนแนวใหม่นี้ให้กันและกัน


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ถิรวัฒน์ คงจันทร์, พิทักษ์ โสตถยาคม

Facebook Comments
โรงเรียนมุสลิมสันติชน ครูทุกคนใช้นวัตกรรม Open Approach และ Lesson Study พร้อมเปิดชั้นเรียน ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ในการพัฒนาการคิดแก้ปัญหาของผู้เรียนพัฒนาโค้ชพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พลังขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ต่อยอดบนฐานทุนของพื้นที่ จังหวัดสตูล
บทความล่าสุด