จุดประกายการศึกษาที่เท่าเทียม ด้วยนวัตกรรมด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส

14 พฤศจิกายน 2024

จุดประกายการศึกษาที่เท่าเทียมด้วยนวัตกรรมด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 183 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ แบ่งออกเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 77 แห่ง โรงเรียนเฉพาะความพิการจำนวน 53 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์จำนวน 53 แห่ง โรงเรียนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญใน

การพัฒนาทักษะชีวิตและการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนที่ต้องการการสนับสนุนเฉพาะทางในจำนวนทั้งหมดนี้มีโรงเรียนจำนวน 15 แห่งที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อสร้างและพัฒนาระบบ กลไก หรือรูปแบบการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่เพิ่มขีดความสามารถและความคล่องตัวใน การบริหารและการจัดการศึกษาสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาหรือนำร่องนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

การส่งเสริมสนับสนุนดำเนินงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษานำร่องในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานการศึกษาพิเศษ โดยมีนางภัทริยาวรรณ พันธุน้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเป็นประธาน นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อํานวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และนางสาวนพศร พรมณีพิสมัย รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นรองประธาน มีนางสาวศรีวรรณ ศรีสุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส  สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ http://(https://drive.google.com/file/d/1kgCe5frrstIyOlvW_wIL-sSd5uSxT8_y/view?usp=sharing)

การเตรียมการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้จัดทีมศึกษาชุดความรู้ และเรียนรู้แนวทางขับเคลื่อนส่งเสริม สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาสจากผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ต่าง ๆ ทีมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายชนะ สุ่มมาตย์ ที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นางสาวศิริรัตน์ สุภาพทรง รักษาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและประเมินคุณภาพทางการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) นางสาวนพศร พรมณีพิศมัย ผู้อำนวยการกลุ่มแผนและงบประมาณ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) นางสาวศรีวรรณ ศรีสุวรรณาภรณ์  ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) นางสาวธันย์ชนก โครธาสุวรรณและนางสาวฮานาน สามะ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพบริหารการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ครั้งนี้

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับเกียรติจาก ดร.ศรินธร วิทยะสิรินันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาพิเศษ (ด้านการศึกษาเพื่อคนพิการ)ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เปิดโอกาสให้ทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เข้าพบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ณ โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส กรุงเทพฯ ซึ่งทีมงานได้รับข้อคิดและบทเรียนที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและผู้ด้อยโอกาสยังมีอุปสรรคและสิ่งที่ท้าทายหลายประการ  ดังนั้นนวัตกรรมที่จะพัฒนาจึงอาจทำในลักษณะ problem-based คือ พัฒนาระบบหรือวิธีการเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคหรือสิ่งที่ท้าทายเหล่านี้

๑. ความรู้ที่ลึกซึ้งของครูในวิชาพื้นฐานและทักษะการสอนวิชาพื้นฐาน เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิชาอื่นๆ โดยเฉพาะการสอนวิชาดังกล่าวให้แก่เด็กที่มีความยากลำบากในการเรียนรู้ในโรงเรียนเฉพาะความพิการได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาให้ครูมีความสามารถในการช่วยแก้ไขหรือสอนความสามารถบางอย่างที่จำเป็นต่อการชดเชยความบกพร่อง เช่น เบรลล์ O & M ภาษามือ ครูในโรงเรียนดังกล่าวมักเป็นครูการศึกษาพิเศษที่ได้รับการเตรียมตัวเพื่อสอนเด็กพิการแต่ละประเภท  แต่ขาดการเติมเต็มในเรื่องความรู้ในเนื้อหาวิชาพื้นฐาน เช่น วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ รวมทั้งเทคนิควิธีการสอนสาระในวิชาพื้นฐานดังกล่าว  เมื่อพื้นฐานความรู้ของครูไม่แน่น เมื่อต้องย่อยงานให้เป็นขั้นย่อยๆ เพื่อช่วยให้เด็กพิการซึ่งเรียนรู้ได้ช้าและต้องการความช่วยเหลือ ก็ไม่เข้าใจและไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กจึงไม่สามารถเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ได้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตน
เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตนเอง การเข้าสังคม และการทำกิจวัตรประจำวัน เพราะเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตและการเรียนรู้อื่นๆต่อไป ดังนั้น การสอนวิชาพื้นฐาน เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์  จึงควรบูรณาการเข้ากับการฝึกทักษะการใช้ชีวิตและการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ แต่การบูรณาการดังกล่าวจะทำได้ ครูต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอจึงจะทำได้ จึงทำให้การเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิชาพื้นฐานอื่นๆ จำกัดอยู่ในบทเรียนซึ่งยากมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้
นอกจากนี้ แม้โรงเรียนหลายแห่งจะมีการจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย แต่ครูจำนวนหนึ่งยังขาดทักษะในการใช้สื่อเหล่านี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้สื่อเหล่านี้ไม่สามารถสร้างประโยชน์ต่อการเรียนรู้ได้เต็มที่  เนื่องจากครูบางท่านขาดความรู้เข้าใจอย่างแท้จริงในเนื้อหาวิชาและวิธีการสอนที่จะช่วยให้นักเรียนกลุ่มนี้สามารถเข้าใจหรือพัฒนาทักษะได้อย่างมีประสิทธิผล
ยกตัวอย่างการสอนในรายวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านสะกดคำซึ่งเป็นเรื่องของระบบเสียง  ไม่ใช่การท่องจำ  นักเรียนจึงควรเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรูปและเสียงของตัวอักษร  และเข้าใจว่าการอ่านสะกดคำคือ การผสมเสียง  เช่น คำว่า กา  ควรอ่านเสียงของตัวอักษร “กอ – อา – กา”  ไม่ควรอ่านว่า “ก ไก่ สระ อา อ่านว่า กา” เพราะเป็นการนำชื่อตัวอักษรมาปน ทำให้เสียงของพยัญชนะและสระที่อ่านไม่ต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนไม่สามารถสังเกตความต่อเนื่องของเสียงซึ่งรวมเป็นคำได้

จากการลงพื้นที่ในหลายโรงเรียน พบว่าคุณครูหลายท่านยังไม่ได้รับการนิเทศเพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้  จึงทำให้การอ่านสะกดคำเป็นเรื่องยากมากสำหรับเด็กพิเศษ 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การใช้อักษร ห นำ พยัญชนะต่ำเดี่ยว เช่น หนา  หมู  คุณครูหลายท่านไม่ทราบว่า ทำไมจึงต้องมี ห นำ และควรสอนคำที่มี ห นำ อย่างไร (อักษรต่ำเดี่ยวไม่มีอักษรสูงที่คู่กัน จึงผันวรรณยุกต์ได้ไม่ครบ เมื่อมี ห นำ ก็จะช่วยให้ผันวรรณยุกต์ได้ครบ 5 เสียง เช่น นา น่า น้า หนา หน่า หน้า รวมกันเป็น นา หน่า น่า / หน้า น้า หนา) 

นอกจากนี้ ความสามารถในการวางแผนการสอน การลำดับจากง่ายไปหายาก ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจอย่างแท้จริงในเนื้อหาที่สอน และวิธีการสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กพิเศษ ครูผู้สอนควรเน้นการใช้สื่อการสอนและกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมก่อนที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เชิงนามธรรม การสอนให้เด็กพิเศษเริ่มจากสิ่งที่จับต้องได้หรือเห็นภาพชัดเจน เช่น การสอนผ่านวัตถุ สิ่งของหรือภาพประกอบ  จะช่วยให้เด็กเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายและมีความเข้าใจในพื้นฐานก่อนที่จะพัฒนาสู่การคิดวิเคราะห์หรือเชื่อมโยงในระดับนามธรรม  ยกตัวอย่างเช่น ในการสอนคณิตศาสตร์เรื่องการนับจำนวน  ครูอาจเริ่มโดยให้เด็กนับวัตถุที่มองเห็นหรือจับต้องได้ เช่น ลูกปัด หรือแท่งไม้  เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์การนับจริง จากนั้นค่อย ๆ นำเข้าสู่การนับในลักษณะนามธรรมมากขึ้น เช่น การใช้ตัวเลขสัญลักษณ์หรือการแก้โจทย์ปัญหาที่ไม่ต้องมีสิ่งของจับต้อง ในทำนองเดียวกัน การสอนอ่านภาษาไทย ก็ต้องเริ่มจากสื่อและวิธีการอ่านที่มีความเป็นรูปธรรม เช่น ใช้บัตรตัวอักษรในการประสมคำ แล้วจึงไปสู่การอ่านบนกระดาษหนังสือในที่สุด เป็นต้น ครูจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการสอน ที่ช่วยให้นักเรียนค่อยๆ เรียนรู้จากระดับรูปธรรมไปสู่ระดับนามธรรม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเด็กพิเศษสามารถเข้าใจเนื้อหาหรือหลักวิธีการต่างๆ ได้อย่างแท้จริงโดยไม่ได้อาศัยการท่องจำอย่างไม่มีความหมาย เพื่อให้มีความสามารถในการเรียนรู้และปฏิบัติงานต่างๆ ด้วยตัวเองในชีวิตข้างหน้าต่อไป

ดร.ศรินธร วิทยะสิรินันท์ ได้ย้ำความสำคัญของความเข้าใจในเนื้อหาที่ครูต้องการจะถ่ายทอด หากครูขาดความรู้และความแม่นยำในการสอน เด็กก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น การสอนที่ขาดความถูกต้องหรือการสอนแบบให้จำโดยไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียน เช่น การอ่านสะกดคำ หรือการใช้อักษรนำอาจทำให้เด็กโดยเฉพาะเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า สับสน เข้าใจผิด และไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างราบรื่น และมีผลต่อเจตคติต่อภาษาไทย การอ่าน เขียน รู้สึกล้มเหลว และสูญเสียความนับถือตนเอง จึงควรแก้ที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาความรู้ในเนื้อหาวิชา และความสามารถในการสอนวิชาพื้นฐานเหล่านี้ ให้แก่ครูในโรงเรียนเฉพาะความพิการ  โรงเรียนราชประชาฯ และศูนย์การศึกษาพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการสอนวิชานั้นๆให้แก่เด็กที่มีความล่าช้าหรือความยากลำบากในการเรียนรู้ 

ปัญหาที่เกี่ยวข้องอีกข้อหนึ่งคือ การที่เขตพื้นที่บางแห่งไม่ได้สนับสนุนโรงเรียน/ศูนย์การศึกษาพิเศษซึ่งอยู่คนละสังกัด โดยไม่ได้เชิญให้เข้าร่วมรับการอบรม พัฒนา เมื่อมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาพื้นฐานดังกล่าว หรือเคยมีกรณีที่ปฏิเสธคำขอของโรงเรียนหรือศูนย์ฯ ที่ขอเข้าร่วมด้วย  ทั้งๆที่ส่วนกลางก็ได้แจ้งขอความร่วมมือในเรื่องนี้ไปแล้ว ประเด็นนี้จึงนำไปสู่การพัฒนาอีกเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาระบบหรือโมเดลความร่วมมือร่วมใจระหว่างสถานศึกษาสังกัด สศศ. กับเขตพื้นที่

๒.  ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อเด็กที่เรียนรวม การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษมีความท้าทายที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่การสอนวิชาการ แต่ยังครอบคลุมถึงการเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ ในโรงเรียนหรือชุมชนบางแห่ง เด็กพิเศษถูกละเลย ไม่ให้ความสำคัญทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้และเกิดปัญหาทางสังคมต่างๆมากมาย 

แต่ในทางกลับกัน ในบางโรงเรียนที่มีผู้ใหญ่ที่มีเมตตา แต่ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมเด็กพิเศษในโรงเรียนเหล่านี้มักได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความบกพร่องของตนเอง เช่น การได้เลือกของเล่นก่อนการชมอย่างออกนอกหน้าและบ่อยกว่าเพื่อนๆจนเป็นที่สะดุด การได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบางอย่างทั้งที่เป็นสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ดี  การได้รับสิทธิพิเศษเกินความจำเป็นจากครูหรือผู้ดูแล อาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดีในแง่ของการเอาใจใส่ แต่กลับกลายเป็นว่าสิทธิพิเศษที่มากเกินไปนี้ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกแตกต่างจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มนักเรียนปกติซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่กลมกลืนกับสังคมที่อยู่รอบข้าง  เด็กพิเศษที่ได้รับสิทธิพิเศษจนเกินไปจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนๆตามปกติ และไม่มีโอกาสเรียนรู้ทักษะทางสังคมต่างๆที่จำเป็นต่อการอยู่ในสังคมในอนาคตต่อไปในทางกลับกันนักเรียนอื่นๆ หลายคนก็มักตั้งคำถามว่าทำไมเพื่อนในกลุ่มเด็กพิเศษจึงได้รับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้รับสิ่งนี้ ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ ไม่สบายใจ และสร้างช่องว่างระหว่างนักเรียนสองกลุ่ม ซึ่งยิ่งทำให้เด็กพิเศษรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น  หลายคนอาจรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของสังคม และมองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ขาดความพยายามและมุ่งมั่นอันเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และดำรงชีวิต

๓.  การช่วยเยียวยาจิตใจหรือโปรแกรมการฟื้นฟูทางจิตใจ ในอีกบริบท คือ โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ หรือโรงเรียนราชประชาฯ ต่างๆ  นักเรียนในโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์จำนวนมากมาจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ถูกละทิ้งจากครอบครัว หรือกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์  รวมไปจนถึงเด็กที่เป็นยุวอาชญากร หรือเคยเข้าร่วมกิจกรรมผิดกฎหมายบางอย่างมาก่อน  เด็กเหล่านี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งในด้านการปรับตัวและการใช้ชีวิตในสังคม  ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการขาดการศึกษา การดูแล และการสนับสนุนที่เหมาะสม  เด็กกลุ่มนี้มักรู้สึกว่าตนเองด้อยค่าและไม่สามารถมีอนาคตที่สดใสได้ ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้พวกเขาขาดความมั่นใจในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รู้สึกถึงความแตกต่างและไม่มีกำลังใจในการปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีความหวัง เด็กบางคนผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย ถูกกระทำทารุณ ล่วงละเมิด หรือหลอกลวงโดยคนใกล้ชิดในครอบครัว  เด็กมีบาดแผลทางใจ  หรือได้เกิดการเรียนรู้ผิดๆ เช่น เรื่องการติดยา การพนัน การใช้กำลังตัดสินปัญหา  สุขภาพจิตของเด็กเหล่านี้จึงมักอ่อนแอกว่าเด็กทั่วไปมาก จึงควรมีการพัฒนาระบบหรือโมเดลการเยียวยาหรือฟื้นฟูทางจิตใจให้แก่เด็กกลุ่มนี้

แนวทางการแก้ไขปัญหา การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและผู้ด้อยโอกาสเป็นงานที่ต้องการความละเอียดอ่อนและการสนับสนุนที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งด้านการพัฒนาครูผู้สอน การสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม การให้การปฏิบัติที่เท่าเทียม การเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองการสนับสนุนจากชุมชนและสังคม การพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้จึงสามารถทำได้หลายด้านมาก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

     ๑) พัฒนาความรู้ความสามารถด้านที่จำเป็นแก่ครูผู้สอน หนึ่งในหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ  คือการที่ครูผู้สอนมีความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดแก่เด็กพิเศษ  ครูควรได้รับการฝึกอบรมในเนื้อหาวิชาที่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ต่างๆและการดำเนินชีวิต เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ รวมถึงทักษะการใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนการช่วยให้ครูมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาพื้นฐานจะช่วยให้สามารถสื่อสารและอธิบายเนื้อหาได้ชัดเจนโดยไม่ทำให้เด็กเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด นอกจากนี้  ครูยังควรได้รับการอบรมด้านจิตวิทยาสำหรับเด็กพิเศษ เพื่อให้สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของเด็กแต่ละคนซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของเด็กพิเศษแต่ละคน

      ๒) สร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษและผู้ด้อยโอกาส สำหรับเด็กพิเศษการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขาต้องการการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางของตนเอง ซึ่งสิ่งแวดล้อมนี้รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สื่อ บรรยากาศในชุมชนโรงเรียนและในชั้นเรียน และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ความปลอดภัยในการเรียนรู้ และความรู้สึกสำเร็จในแต่ละขั้นของการเรียน

การรักษาสมดุลย์ในการปฏิบัติต่อเด็กพิเศษ และการให้โอกาสเด็กพิเศษที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ไม่ถูกมองข้าม ไม่มีตัวตน แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยู่ในลักษณะของผู้รับข้างเดียวส่งเสริมให้ชุมชนโรงเรียนมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการอยู่อย่างเท่าเทียม

การสร้างความเข้าใจในความแตกต่างและการให้ความเท่าเทียมระหว่างเด็กพิเศษกับนักเรียนทั่วไปสามารถทำได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เพื่อให้เด็กทั่วไปได้สัมผัสถึงความท้าทายที่เด็กพิเศษต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรมจำลองบทบาทผู้พิการในโรงเรียนจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจระหว่างนักเรียน  และยังช่วยให้พวกเขาเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม

    ๓) สนับสนุน เยียวยา ฟื้นฟู ด้านจิตใจและการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง การเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กพิเศษและเด็กที่มีบาดแผลในชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง  การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่เด็กพิเศษจะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับความเครียดและความท้าทายที่อาจเผชิญได้ดีขึ้น ตัวอย่างวิธีที่มีประสิทธิภาพคือ

  • การนำผู้ที่ประสบความสำเร็จซึ่งเคยเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันมาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน การได้เห็นและรับฟังจากบุคคลที่เคยผ่านความยากลำบากมาก่อนและสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองได้  จะช่วยให้เด็กพิเศษเกิดความหวังและความมั่นใจว่า แม้พวกเขาจะมีข้อจำกัด แต่ก็ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ในแบบของตนเอง
  • กิจกรรมที่ส่งเสริมความมั่นใจ เช่น การแสดงความสามารถ กิจกรรมที่เด็กได้รับคำชื่นชมและการให้กำลังใจจากครู จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและสามารถพัฒนาไปได้ในอนาคต อีกทั้งควรมีการฝึกทักษะชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตนเอง การจัดการงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กพิเศษรู้สึกมั่นใจและเห็นคุณค่าในตนเอง รวมถึงมองเห็นเส้นทางในอนาคตที่สดใส
  • การจัดการเรียนการสอนที่ดูแลให้แน่ใจว่า นักเรียนประสบความสำเร็จในแต่ละขั้นเล็กๆของการเรียน ให้ได้ประสบความสำเร็จในการเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกวัน ทุกสัปดาห์ สะสมความรู้สึกสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และความนับถือตนเองให้เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

    ๔) ส่งเสริมการสนับสนุนจากชุมชนและสังคม สังคมและชุมชนรอบข้างมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาของเด็กพิเศษ การสร้างความเข้าใจในสังคมเกี่ยวกับเด็กพิเศษสามารถช่วยลดอคติและทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับและความสนใจอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ครอบครัวยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนด้านจิตใจและความมั่นคงให้กับเด็กโดยครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเด็กพิเศษได้ในหลายรูปแบบ เช่น การให้คำปรึกษา หรือการส่งเสริมให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน

นวัตกรรมการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและผู้ด้อยโอกาส 
การศึกษาพิเศษในไทยมีสิ่งท้าทายหลายประการรอการแก้ไขหรือปรับปรุง  นวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาพิเศษ โดยขอเสนอแนะ 5 ด้านหลัก ดังนี้

๑. นวัตกรรมด้านหลักสูตร

  • สร้าง “ลู่เทียบ” เพื่อเชื่อมโยงหลักสูตรโรงเรียนพิเศษกับหลักสูตรแกนกลาง
    พัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนพิเศษโดยแบ่งเป็นระดับชั้นตามพัฒนาการของเด็ก เช่น ระดับ 1, 2, 3 โดยแต่ละระดับสามารถเทียบเคียงกับชั้นเรียนในหลักสูตรแกนกลาง เช่น ระดับ 3 เทียบเท่า ป.1 วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการยึดติดกับหลักสูตรตามอายุ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ตามศักยภาพและลดปัญหาเด็กเรียนไม่ทันตามเกณฑ์ของหลักสูตรแกนกลาง
  • พัฒนาหลักสูตรร่วมกับ กศน. เพื่อรองรับเด็กที่ไม่สามารถเรียนตามหลักสูตรแกนกลาง เช่น เด็กในโรงเรียนปัญญานุกูล โดยอาจพัฒนาหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า  เน้นการฝึกทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และเมื่อจบหลักสูตรจะได้รับวุฒิที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้
  • นำระบบ “เครดิตแบงค์” มาใช้กับเด็กพิเศษ
    ให้เด็กสามารถสะสมหน่วยกิตจากการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน  และเมื่อสะสมหน่วยกิตครบตามเกณฑ์ก็สามารถจบการศึกษาในระดับต่าง ๆ ได้  ระบบนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัด  รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กเรียนจบเร็วขึ้น

๒. นวัตกรรมด้านการสอน

  • พัฒนาวืดีโอคลิปและเอกสาร “คู่มือครู” ที่เน้นความเข้าใจเนื้อหาและหลักการสอนที่ถูกต้อง
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาพื้นฐานเช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ คู่มือนี้ควรมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย มีตัวอย่างกิจกรรมและเทคนิคการสอนที่หลากหลาย รวมถึงเน้นการย่อยเนื้อหาให้เหมาะกับระดับของเด็กแต่ละคน 
  • พัฒนาสื่อการสอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อที่เป็นรูปธรรม เช่น หุ่นจำลอง เกม และสื่อดิจิทัลเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง 
  • จัดอบรมครูอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กพิเศษแต่ละประเภทเทคนิคการสอนที่เหมาะสม และการใช้สื่อการสอนอย่างมีประสิทธิภาพอาจปรับเป็น
  • พัฒนาการสร้างและใช้สื่อที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะการนำสื่อดังกล่าวไปใช้หลากหลายวิธีทั้งในการเรียนการสอนตามปกติและการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านสื่อ
  • พัฒนาครูด้วยวิธีการที่เน้นการปฏิบัติจริงและตรงตามความต้องการจำเป็นของครู เช่น  การอบรมเชิงปฏิบัติและติดตามผลด้วยการนิเทศชั้นเรียน   โดยสำรวจเนื้อหาความรู้ ทักษะที่ครูยังขาดและควรได้รับความช่วยเหลือ เพื่อเติมเต็มให้แก่ครู
  • สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาวิชาชีพครู เช่น การมีพี่เลี้ยง (mentor) ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) และเครือข่ายครูผู้สอนเด็กพิเศษ
  • สร้างความตระหนักรู้ให้ครูเห็นถึงผลกระทบของการสอนที่มีต่อชีวิตเด็ก เช่น การจัดกิจกรรมให้ครูได้สัมผัสประสบการณ์การเป็นเด็กพิเศษ

๓. นวัตกรรมด้านการพัฒนาตนเองของนักเรียน

  • พัฒนาโปรแกรมที่ช่วยให้เด็กพิเศษรู้จักและยอมรับตนเอง โดยเน้นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กค้นพบจุดแข็ง มองเห็นคุณค่าในตนเอง  และสามารถก้าวผ่านปัญหาในอดีตได้
  • จัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะชีวิต เช่น การทำงานกลุ่ม การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  สอนทักษะการป้องกันตนเองการปฏิเสธ  และการขอความช่วยเหลือ เป็นต้น
  • ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมชมรม กีฬา และศิลปะ เพื่อช่วยให้เด็กได้แสดงออกและพัฒนาความสามารถ
  • ให้คำปรึกษาและสนับสนุนเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาครอบครัวหรือปัญหา ส่วนตัว

๔. นวัตกรรมด้านความร่วมมือ

  • พัฒนาระบบเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเฉพาะความพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนเรียนรวม  เขตพื้นที่  สพฐ. และโรงพยาบาล เพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
  • พัฒนาโปรแกรมการส่งต่อ (transitioning program) เพื่อช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้เมื่อต้องย้ายจากโรงเรียนหนึ่งไปยังอีกโรงเรียนหนึ่ง  หรือจากโรงเรียนไปสู่การทำงาน
  • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ และวางแผนการสนับสนุน การทำงานของผู้พิการในที่ทำงาน เกี่ยวกับความพิการ การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพการจัดตารางเวลาการทำงาน  การจัดกลุ่มผู้ร่วมงาน  วิธีการสื่อสาร  วิธีการปฏิบัติตัวกับคนพิการ  และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • สร้างระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
  • พัฒนาระบบการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการพัฒนาหลักสูตร สื่อ การสอน  และโอกาสในการฝึกงานและทำงาน
  • รณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการในสังคม เพื่อลดอคติและการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งรู้ถึงวิธีปฏิบัติต่อคนพิการอย่างเหมาะสม

๕. นวัตกรรมด้านการส่งเสริมอาชีพ

  • พัฒนาหลักสูตรอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับบริบทของชุมชน โดยเน้นการฝึกกระบวนการทำงานและทักษะที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน เช่น ทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาต่างประเทศ  และทักษะการแก้ปัญหา
  • จัดหาสถานที่ฝึกงานที่เหมาะสม และให้คำแนะนำในการหางานแก่เด็ก
  • สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกงานและทำงานจริง
  • ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ โดยพัฒนาทักษะกระบวนการประกอบอาชีพอิสระ ให้ความรู้ เงินทุน และช่องทางการตลาด และความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ
  • เน้นการสอนกระบวนการเรียนรู้และการแก้ปัญหา มากกว่าการสอนให้ทำตามสูตรสำเร็จ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากการมองคนพิการว่าเป็นผู้รับบริการ  ไปสู่การมองคนพิการว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม

“การศึกษาพิเศษไทยจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของคนรุ่นหลังได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังโดยใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน”

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


ผู้เขียน: ฮานาน  สามะ, ธันย์ชนก โครธาสุวรรณ และพิทักษ์ โสตถยาคม

ผู้พิจารณา/ปรับปรุง: ดร.ศรินธร วิทยะสิรินันท์

Facebook Comments
บรรณาธิการกิจรายงานผลกระทบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนการประชุมฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด