โรงเรียนสุไหงโก-ลก เป็นโรงเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในโครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นเมืองการค้าชายแดนมีสภาพแวดล้อมเป็นเมืองท่องเที่ยว มีแหล่งผลิตผ้าปาเต๊ะมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ เช่น ป่าพรุสิรินธร ป่าบาลา-ฮาลา ประกอบครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนมีความพร้อมครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีภาคีเครือข่ายชุมชนที่เอื้อต่อการสนับสนุนในการจัดการศึกษา โรงเรียนมีจุดแข็งในด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นประตูที่เปิดสู่การเรียนรู้ โดยจุดเน้นดังกล่าวดำเนินการบนพื้นฐานของบริบทของพื้นที่อำเภอสุไหงโกลกเชื่อมโยงกับสังคมไทยสู่สากล
การเริ่มต้นเข้าเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
นายนิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุไหงโก-ลก กล่าวว่า เนื่องจากการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ได้ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งบางอย่างยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการและความถนัดของผู้เรียน จึงมองว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้หลักสูตรที่ใช้อยู่ปัจจุบัน พัฒนาเพื่อตอบโจทย์เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี อาชีพต่าง ๆ จึงมองว่า เราจะต้องปรับหลักสูตรเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลในการพัฒนาหลักสูตร คณะทำงานจึงสรุปประเด็นได้ว่า ครูและบุคลากรของโรงเรียนมีคุณภาพ มีศักยภาพพร้อมครอบคลุม ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในความต้องการของวิชาเอก จึงได้ครูตามความต้องการโรงเรียนในการสอน ผู้ปกครองมีศักยภาพ ความพร้อมสนับสนุนผู้เรียน และภาคีเครือข่ายชุมชนพื้นที่ เครือข่ายการศึกษา สมาคมศิษย์ ฯลฯ ร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง โดยปี 2562 ได้เกิด พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2562 จึงได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งบริบทของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตอบโจทย์ในสิ่งที๋โรงเรียนสุไหงโก-ลก กำลังที่จะดำเนินการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางพื้นฐาน 2551 ให้เป็นหลักสูตรของโรงเรียน
การเข้ามาเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำให้มีอิสระในการจัดการศึกษามีความคล่องตัวและสามารถจัดการศึกษาให้เต็มตามศักยภาพของผู้เรียนได้มากที่สุด และภาคภูมิใจในตนเองรวมถึงถิ่นฐานบ้านเกิดมีอาชีพและชีวิตที่ดีบนแผ่นดินเกิด
ในส่วนของการดำเนินงานของโรงเรียนสุไหงโกลกทางโรงเรียนได้ใช้โมเดล SK Sandbox ซึ่งประกอบไปด้วยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา
P = Participative management การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา)
O = Opportunity การสร้างโอกาสทางการศึกษาจัดทำหลักสูตรที่หลากหลาย
N = Network partners ภาคีเครือข่าย
ในปีการศึกษา 2564 นี้ทางโรงเรียนสุไหงโกลกได้นำหลักสูตรพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาใช้โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
วิสัยทัศน์
โรงเรียนสุไหงโก-ลก จัดการศึกษาเพื่อความรักและสันติสุข
อุดมการณ์
โรงเรียนสุไหงโก-ลกจัดการศึกษา เพื่อรักและภาคภูมิใจในตนเองและถิ่นที่อยู่อาศัย รักชาติมีจิตใจที่เป็นสากลสามารถสร้างงานสร้างอาชีพและมีชีวิตที่ดีบนแผ่นดินเกิด
เป้าหมาย
เป็นผู้เรียนรู้ร่วมสร้างนวัตกรรมและพลเมืองที่เข้มแข็ง
School Concept
สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
คุณภาพผู้เรียนด้านสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนได้ยึดตามกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เพิ่มเติมสมรรถนะสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้
- ความสามารถในการสื่อสาร
- ความสามารถในการคิด
- ความสามารถในการแก้ปัญหา
- ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
- ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
- ความสามารถในการจัดการตนเอง
- ความสามารถในการสื่อสารมิติทางภาษาอย่างมีคุณภาพ
- ความสามารถในการร่วมพลังทำงานเป็นทีม
- ความสามารถในการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
- ความสามารถในการมีทักษะอาชีพสามารถเป็นผู้ประกอบการและประกอบการทางสังคม
แผนการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แบ่งออกเป็นห้องเรียนพิเศษและห้องเรียนทั่วไป
ห้องเรียนพิเศษ
- ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (smte) ห้องเรียนพิเศษในโครงการ สสวท.
- ห้องเรียนพิเศษโปรแกรมวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ (Science + Mathematic Bilingual SMBP) Education Hub
- ห้องเรียนดนตรี
ห้องเรียนทั่วไป เรียนวิชาเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
- วิชาทักษะวิชาการ
- วิชาทักษะชีวิต
- วิชาทักษะอาชีพ
- วิชาเพิ่มเติมตามความถนัด
- วิชา SKPPF สุไหงโก-ลก กับการเรียนรู้อดีตเข้าใจปัจจุบันและสร้างสรรค์อนาคต
แผนการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งออกเป็นห้องเรียนพิเศษและห้องเรียนทั่วไป
ห้องเรียนพิเศษ
- ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (smte) ห้องเรียนพิเศษในโครงการ สสวท.
- ห้องเรียนพิเศษโปรแกรมวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ (Science + Mathematic Bilingual SMBP) Education Hub
- ห้องเรียนดนตรี
ห้องเรียนทั่วไป เรียนรายวิชาเพิ่มเติมตามศักยภาพและความถนัดด้านต่อไปนี้
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- แผนการเรียนวิศวกรรมศาสตร์
- แผนการเรียนสังคมศาสตร์
- แผนการเรียนมนุษยศาสตร์
สิ่งที่ประสบความสำเร็จ
ผลที่เกิดกับผู้เรียน
ผู้เรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเอง ผู้เรียนจะเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจของตนเองผู้เรียนเรียนรู้ความเป็นมาของถิ่นฐานของตนเอง ทำให้เกิดความรักและหวงแหนในบ้านเกิด
ผลที่เกิดกับครู
ครูได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในการค้นคว้าหาความรู้เพื่อนำมาจากประสบการณ์การเรียนรู้
ผลที่เกิดกับผู้ปกครอง
ผู้ปกครองร่วมกันตัดสินใจในการเลือกแผนการเรียนของนักเรียน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
ผลที่เกิดกับชุมชน
ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
นายนิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุไหงโก-ลก กล่าวทิ้งท้ายว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนการสอน ให้เกิดความอิสระ ความคล่องตัว ส่งผลต่อการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลต่อตัวผู้เรียนมากที่สุด มีสื่อนวัตกรรมที่ท้ายท้ายตัวผู้เรียน ผู้ปกครองมีความพึ่งพอใจ ชุมที่อยู่อาศัยเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ มุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน
โรงเรียนสุไหงโก-ลก เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ต้องการหาความถนัดให้กับผู้เรียน เพื่อส่งเสริมผู้เรียนนั้นมีความสามารถในการสร้างงาน สร้างอาชีพและมีวิถีชีวิตที่ดีบนแผ่นดินเกิด ตอบโจทย์ในบริบทของพื้นที่ เป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เรียน และประโยชน์สูงสุดที่ผู้เรียนควรจะได้รับ
ผู้เขียน: ฉัตรชัย หล้ากันหา
ผู้ให้สัมภาษณ์: นิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุไหงโก-ลก
ผู้สัมภาษณ์ : ฉัตรชัย หล้ากันหา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนสุไหงโก-ลก