คณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ หาญวงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษรี เพ่งเล็งดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง อาจารย์ ดร.ภักดีกุล รัตนา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ เขียนงาม พร้อมคณะ เข้าวิเคราะห์สถานการณ์ของโรงเรียนดาราวิทยาลัย หนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ ณ ห้องประชุมโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี โรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทยาลัย ดร.ชวนพิศ เลี้ยงประไพพันธ์ และทีมงานให้การต้อนรับ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า โรงเรียนดาราวิทยาลัยดำเนินการมาถูกทาง คือมีการออกแบบการเรียนโดยใช้นักเรียนเป็นฐาน ลดบทบาทครูลง นำเอาปัญหารอบตัวมาบูรณาการเข้าสู่ห้องเรียน และหาหนทางให้นักเรียนค้นพบอาชีพได้โดยเร็ว ซึ่งการออกแบบใหม่นี้จะทำให้นักเรียนไปได้ไกลในทางที่เลือก นอกจากนั้นยังสามารถดึงทั้ง 8 กลุ่มสาระมาสอนในเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์ได้อีกด้วย
สถานการณ์ของโรงเรียนดาราวิทยาลัย
คุณครูรวิวรรณ ทองศรีแก้ว หัวหน้างานหลักสูตรและการสอน กล่าวถึงการดำเนินงานของโรงเรียนดาราวิทยาลัยว่า เมื่อปี 2562 ทางโรงเรียนได้ทำการอบรมแบบเชิงลึกเพื่อพัฒนาครูแกนนำโดยการใช้ DARA Thinking Model ในการพัฒนาครูก่อน พร้อมทั้งมีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่เสมอเพื่อให้เป็นไปตามความเป้าหมายของทางโรงเรียน
การปรับตัวในช่วงโควิด-19
ในช่วงโควิต-19 โรงเรียนดาราวิทยาลัยได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการ ซึ่งเแพตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่แบ่งปันไอเดียในการสอน แบ่งเป็น 3 ส่วน 1) เป็นพื้นที่ให้ความรู้ 2) เป็นพื้นที่ให้ครูเข้ามาแบ่งปันไอเดีย และ 3) เป็นช่องทางการพูดคุยปรึกษาหารือด้านการสอน โดยแพตฟอร์มนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา
ในปี 2563 ทางโรงเรียนได้ริเริ่มการเผยแพร่นวัตกรรมที่ตนได้ทำขึ้น ซึ่งได้จัดทำพ็อดคาสท์ (Podcast) ซึ่งเป็นรายการที่เผยแพร่เสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สามารถรับฟังได้ทุกที่ทั่วโลก โดยพ็อดคาสท์ของดาราวิทยาลัยนี้ได้เผยแพร่เสียงของนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และครูที่มาสะท้อนคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ทำอยู่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือครู เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจในการสอนให้แก่ครู
การสอนของโรงเรียนดาราวิทยาลัย
คุณครูรวิวรรณ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ทางโรงเรียนได้เพิ่ม “การรู้ รับ ปรับ เปลี่ยนกับห้องเรียนที่ออกแบบได้” โดยใช้ Design Thinking ซึ่งต้นแบบของเราคือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) “เสน่ห์ของ Design Thinking คือล้มเร็ว เริ่มต้นแล้วเอาใหม่ทำใหม่ อย่ากลัวการล้มเหลว”
ต่อมานำมาปรับใช้ในห้องเรียน 2 แบบด้วยกัน 1) จัดตั้งวิชาใหม่ขึ้นมา ซึ่งวิชานี้มีตัวชี้วัดที่ไม่ใหญ่มาก เป็นการให้นักเรียน 2 ห้องช่วยกันสร้างโครงงานเล็ก ๆ หลังจากนั้นมีการต่อยอดโดยให้นักเรียนทุกห้องจัดทำโครงงานห้องละประมาณ 10 โครงงาน และเปลี่ยนหัวข้อใหม่เป็น “โปรเจกต์เล็ก ๆ แก้ปัญหาอะไรก็ได้รอบตัว” การคิดโปรเจกต์ของนักเรียนจะไม่กำหนดกรอบความคิด โดยครูจะเป็นเพียงผู้คอยให้คำปรึกษา ทำให้นักเรียนเลือกในสิ่งที่สนใจได้อย่างเต็มที่ เช่น การทำเกม 2D การทำนิทานอักษรเบลเพื่อให้เด็กพิการทางสายตาได้อ่านหนังสือ การทำสื่อการสอนเรื่องพันธะเคมีให้เพื่อนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น การคิดค้นวิธีการลดไขมันในน้ำนมวัวดิบ แต่ยังคงความอร่อยและคุณค่าทางอาหารเหมือนเดิม และโปรเจกต์อื่น ๆ 2) โรงเรียนดาราวิทยาลัยมีการขับเคลื่อนนำเอา Design Thinking เข้าไปสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ยังมีคุณครูธิดารัตน์ อิงคนันทวารี ครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และคุณครูอรุณ สุวรรณ์ ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าร่วมให้ข้อมูลการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอีกด้วย
ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, ปนัดดา ไชยศักดิ์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปนัดดา ไชยศักดิ์