พลิกโฉมโรงเรียนสู่กระบวนการ Brain-Based Learning : BBL โรงเรียนบ้านพงสิม จังหวัดศรีสะเกษ

18 เมษายน 2020

โรงเรียนบ้านพงสิม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 บ้านพงสิม ตำบลจานแสนไชย อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ภารกิจหลักจัดการเรียนรู้ 2 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 – 3 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 มีเขตพื้นที่บริการ 3 หมู่บ้าน ในตำบลจานแสนไชย คือ บ้านพงสิม หมู่ที่ 8 บ้านผือหมู่ที่ 9 และบ้านน้ำคำหมู่ที่ 11 มีนักเรียนทั้งหมด 120 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 13 คน

ในปีการศึกษา 2546 โรงเรียนบ้านพงสิมได้มีการนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บูรณาการจัดการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระ และในทุกระดับชั้น เป้าหมายที่นำแนวคิดนี้มาจัดการเรียนการสอนเพื่อต้องการให้นักเรียนได้รู้จักความพอเพียง ปลูกฝัง ให้นักเรียนได้เข้าใจด้วยการสอดแทรก หลักคิด หลักปฏิบัติ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สาระเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เกิดความสมดุลในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ให้เห็นคุณค่าทรัพยากรต่าง ๆ ที่อยู่ในรอบ ๆ ตัว

จากการนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการนั้น โรงเรียนบ้านพงสิมได้ส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และพื้นที่เกษตร ให้นักเรียนได้ปฏิบัติ กิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ที่นักเรียนมีความสนใจร่วมกัน และมีการจัดกิจกรรมการเปิดบ้านการศึกษา คือ การจัดกิจกรรมให้นักเรียนนำผลผลิตของตนเองมาจำหน่าย ซึ่งทางโรงเรียนบ้านพงสิมได้เชิญผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมชื่นชมผลงานของนักเรียน และกิจกรรมนี้ โรงเรียนได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน    

ในปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบ้านพงสิมได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในเรื่อง การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning : BBL) โดย ดร.พรพิไล เลิศวิชา ซึ่งผู้อำนวยการชูชาติ ชัยวงศ์ ให้ความสนใจกับประเด็น พลิกโฉมโรงเรียนอ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี โดยเล็งเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือของนักเรียนและประเด็นนี้มีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนบ้านพงสิมเป็นอย่างมาก

โรงเรียนบ้านพงสิมได้นำการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning : BBL) โดยในช่วงระยะแรกได้นำมาใช้การเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล 2 – 3 และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 โดยการนำกระบวนการกุญแจ 5 ดอก มาดำเนินการบูรณาการให้เกิดความเหมาะสมกับในแต่ละระดับชั้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

กุญแจดอกที่ 1

สนามเด็กเล่น การเปลี่ยนสนามเด็กเล่นเพื่อพัฒนาสมองน้อย ๆ และไขสันหลังให้แข็งแกร่ง เมื่อเด็กออกกำลังกาย ร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กุญแจดอกที่ 2

ห้องเรียน การเปลี่ยนห้องเรียนเพื่อเปลี่ยนสมองของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่  มีความเข้มข้น มีสีสัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น

กุญแจดอกที่ 3

กระบวนการเรียนรู้ คือ การกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สมองของเด็กตื่นตัว สนใจ ท้าทายการคิด ค้นหา ลองผิด ลองถูก เรียนรู้และจดจำ โดยครูผู้สอนต้องศึกษาและนำกระบวนการสอน 5 ขั้นตอนมาใช้  คือ

  1. ขั้นอุ่นเครื่อง  (Warm-up) กิจกรรมที่ทำให้สมองตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้วิชาต่อไปหรือระหว่างชั่วโมง เพื่อกระตุ้นสมอง 
  2. ขั้นนำเสนอความรู้  (Present) เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเสนอความรู้ใหม่ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น  สื่อของจริง  บัตรภาพ  บัตรคำ บัตรตัวเลข  ชาร์ตบทกลอน บทเพลง  กระดานเคลื่อนที่  เป็นต้น
  3. ขั้นลงมือเรียนรู้- ฝึกทำ-ฝึกฝน (Learn-Practice) ครูนำเสนอความรู้ เป็นเพียงการเสนอความรู้และประสบการณ์ใหม่ให้นักเรียน แต่การเรียนรู้จริง ๆ อยู่ที่การลงมือทำ ใช้ความรู้นั้นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พานักเรียนไปดูของจริง  สำรวจและบันทึกจากสิ่งที่พบเห็น  ทำกิจกรรมจากใบงาน เช่น เล่นเกมบิงโก ใช้อุปกรณ์เคาะลงบนข้อความหรือคำศัพท์ ให้เด็กได้เคลื่อนไหวและมีใบงานให้นักเรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ 
  4. ขั้นสรุปความรู้ (Summary) เป็นการนำประสบการณ์ทั้งหมดจากการเรียนรู้มาสรุปรวบยอดเป็นความรู้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  เรามักสังเกตได้ว่า  นักเรียนอาจทำการฝึกผิดพลาด  ทำแบบฝึกหัดไม่ถูก  สร้างความรู้จาก (Concept) ที่ผิด เป็นต้น ความผิดพลาดเหล่านี้จะปล่อยไปไม่ได้  การตรวจงาน ต้องทำงานแก้ไข  ให้นักเรียนทำความเข้าใจใหม่  แก้ความเข้าใจที่ผิดนั้น  ครูจะรู้ปัญหาได้เมื่อครูมีกิจกรรมหรือใบงาน ให้นักเรียนได้ทำการสรุปความรู้ และ
  5. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Apply) นักเรียนนำความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่

กุญแจดอกที่ 4

หนังสือเรียน การใช้หนังสือและใบงาน ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นสมองของนักเรียน ฝึกให้เด็กคิดทีละขั้นตอน นำทักษะและความรู้ในแต่ละขั้น มาประกอบกันเป็นความเข้าใจในที่สุด โดย จัดหาหนังสือเรียนและหนังสืออ่านเพิ่มต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ จัดทำใบงานตามหลักการ BBL ตามแนวทางที่วางไว้เพื่อนำนักเรียนไปสู่ความสำเร็จ

กุญแจดอกที่ 5

สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ ใช้สื่อและนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีสีสันและมีจำนวนเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน พึงพอใจ เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน โดย จัดหาสื่อ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ จัดหากระดานเคลื่อนที่ สำหรับห้องเรียนชั้นอนุบาลและประถมทุกห้อง จัดหาบัตรภาพ บัตรคำ เพื่อใช้ประกอบการสอน

การเรียนการสอนแบบ Active Learning ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนบ้านพงสิมเองก็ให้ความสำคัญโดยการจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมที่มีการบูรณาการร่วมกันกับสาระการเรียนรู้ เพื่อการสร้างทักษะ ความสามารถต่าง ๆ ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้ในการผลิตสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและการผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เช่นการจัดกิจกรรมการทำสบู่จากสมุนไพร การทำเจลล้างมือสมุนไพร และการทำอาหาร ขนม จากต้นทุนของชุมชน การจัดกิจกรรมนี้มีเป้าหมายให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง สร้างทักษะ เพิ่มความรู้ ความสามารถ ให้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้

เงื่อนไขที่ทำให้โรงเรียนบ้านพงสิมประสบความสำเร็จในการพลิกโฉมรูปแบบการเรียนการสอนเชิงการบูรณาการ ตั้งแต่การนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ รวมถึงการการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning : BBL) มาใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากการให้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนต่าง ๆ ที่ต่างก็ให้ความสนับสนุนในการดำเนินการ

ครูผู้สอนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบเชิงบูรณาการทั้งสองรูปแบบ ที่ให้ความสำคัญในกระบวนการ วางแผน สำหรับที่จะสร้างทักษะ เพิ่มความรู้ ความสามารถต่าง ๆ ให้กับนักเรียน เพื่อเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง

เป้าหมายในปีการศึกษา 2563 ผู้อำนวยการชูชาติ ชัยวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพงสิม ได้มีการวางแผนการพัฒนา การนำการเรียนการสอนตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning : BBL)  โดยมีความคาดหวังว่านักเรียนจะสามารถอ่านออกเขียนได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 เน้นการอ่านออกเขียนได้ทุกคนโดยที่ไม่มีการเปรียบเทียบคะแนนมากน้อยของนักเรียน รวมถึงการพัฒนาการวางแผนการศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งครูจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ได้รับการอบรม เพื่อพัฒนาการสร้างฐานสมรรถนะการเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะของนักเรียนในทุก ๆ ด้านที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, ชูชาติ ชัยวงษ์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ชูชาติ ชัยวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพงสิม จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ชูชาติ ชัยวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพงสิม

Facebook Comments
สพฐ. ปลดล็อก การประกันภายในและการประเมินภายนอก ให้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562ใช้สมองเป็นฐานสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม BBL (Brain – based Learning) โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) จังหวัดศรีสะเกษ
บทความล่าสุด