ด้วย พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มุ่งเน้นให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (แต่ละจังหวัด) รวมพลังทุกภาคส่วนในจังหวัดลุกขึ้นมาร่วมเป็นเจ้าภาพบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันอย่างแท้จริง อันเป็นการนำร่องกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ส่งเสริมการจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ ให้ความสำคัญของการปฏิรูปจากล่างขึ้นบน (bottom up) ควบคู่กับการสนับสนุนเชิงนโยบาย รายละเอียดดังนี้ https://is.gd/yG9HCE
ที่ผ่านมา มักได้ยินเสียงสะท้อนมาจากพื้นที่และสถานศึกษานำร่องว่าต้องการให้การบริหารจัดการเรื่องงานบุคคล มีความอิสระและคล่องตัวมากขึ้น แต่การจะนำเสนอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย จำเป็นต้องมีข้อมูล สารสนเทศ และหลักฐานเชิงประจักษ์ มาจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด เสนอมาสู่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเป็นระบบ และพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอแนะไปยัง ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นองค์คณะที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการบริหารงานบุคคล รายละเอียดดังมาตรา 31
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงขอความอนุเคราะห์ปลัดกระทรวงศึกษาธิการแจ้งศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อดำเนินการจัดทำข้อเสนอในนามของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเสนอมายังคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้ https://is.gd/Mm2pgj
ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเพื่อจัดทำข้อเสนอดังกล่าว จังหวัดอาจมีหลายทางเพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอต่างๆ ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างครบถ้วน รอบด้าน และได้มาจากการมีส่วนร่วมของสถานศึกษานำร่อง/หน่วยงานทางการศึกษาในแต่ละจังหวัด และจัดส่งรายละเอียดผลการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและข้อเสนอต่างๆ มายังสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. สำหรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อจัดทำข้อเสนอฯ เช่น
- มอบหมายคณะทำงานเฉพาะเพื่อรวบรวม วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา และเสนอแนวทางการบริหารงานบุคคล
- จัดเวทีออนไลน์ระดมความคิด รวบรวมกรณีตัวอย่างจากการปฏิบัติจริง เพื่อสะท้อนสภาพปัจจุบัน ปัญหา และเสนอรูปแบบแนวทางใหม่ในการบริหารงานบุคคล
- จัดประชุมปฏิบัติการออนไลน์เพื่อร่วมวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา และเสนอรูปแบบแนวทางใหม่ในการบริหารงานบุคคล
- นำสารสนเทศที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- ฯลฯ
หนังสือแจ้ง ศธจ. จาก สป.ศธ. ดูที่ Link นี้ https://is.gd/Vym694
ทั้งนี้ สพฐ. จะเรียนเชิญผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด มานำเสนอสภาพปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอการเพิ่มความอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด ต่อคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงานบุคคล ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. และวันที่ 3 กันยายน 2564 เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ว่าประเด็นใดจัดการได้ในพื้นที่ และประเด็นใดจัดการได้ในระดับนโยบาย เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาต่อไป ซึ่งจะมีการประชุคณะกรรมการนโยบายในปลายเดือนกันยายนนี้
ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ