คณะศึกษาศาสตร์ มช. มุ่งผลักดันโรงเรียนเอกชนนำร่องสู่พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

20 สิงหาคม 2020

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งขับเคลื่อนโรงเรียนเอกชนนำร่อง 11 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่สู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา และเพื่อพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการสู่การเสริมสร้างและพัฒนาสมรรถนะครูในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณาจารย์ ได้รับมอบหมายจากศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ให้ลงพื้นที่โรงเรียนเอกชน 11 แห่งเพื่อดำเนินโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 มี­­­สถานศึกษาโรงเรียนเอกชนนำร่องทั้ง 11 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 1) โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย 2) โรงเรียนดาราวิทยาลัย 3) โรงเรียนสวนเด็กสันกำแพง 4) โรงเรียนอนุบาลร่มแก้ว 5) โรงเรียนเอื้อ­­­­วิทยา 6) โรงเรียนพิมานเด็กเชียงใหม่ 7) โรงเรียนสหวิทย์พิมานเชียงใหม่ 8) โรงเรียนบ้านปลาดาว 9) โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน 10) โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา และ 11) โรงเรียนอนุบาลสุมาลี ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ในการนี้ทางคณะผู้ดำเนินโครงการได้นำแนวคิด การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community- Based Learning) โดยใช้คุณลักษณะของผู้เรียนมาบูรณาการร่วมกับปรากฎการณ์ทางสังคม ภาพอนาคต และอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ในการพัฒนา ซึ่งคณะผู้ดำเนินโครงการได้ร่วมมือกับโรงเรียนในโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรครู รวมทั้งเข้าไปเสริมพลัง (Empowerment) ให้โรงเรียนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งร่วมเป็นโค้ชและพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งถอดบทเรียนโดยการสะท้อนคิด (Reflection) ด้วยการจุดประกายความคิดเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียน เพื่อให้ทางโรงเรียนสามารถนำแนวคิดไปวางแผนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนของตนเองได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2557 จังหวัดเชียงใหม่ได้มีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาโดยคนเชียงใหม่และยึดพื้นที่เชียงใหม่เป็นตัวตั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนเชียงใหม่ ในรูปแบบการรวมกลุ่ม “ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา” โดยทำให้รัฐบาลเห็นว่าระบบการศึกษาในทุกวันนี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทและความต้องการที่แตกต่างกันไป เช่น คนในชนบทไม่ได้ต้องการให้ลูกหลานเรียนเก่งมาก แต่ขอเพียงแค่มีทักษะชีวิตที่จะสามารถทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพียงพอแล้ว ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องข้อหนึ่งตามมาก็คือ เรื่องการขออิสระในการกระจายอํานาจการบริหารและจัดการศึกษา นั่นคือที่มาของ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ที่ถูกนำไปใช้ใน 8 จังหวัดนำร่องคือ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส เพื่อก้าวสู่เป้าหมายที่ท้าทายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ความคาดหวังของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือ การพัฒนาสมรรถนะให้โรงเรียนมีอิสระและเด็กมีความรู้และความสามารถที่ไม่ต่างจากเดิม มีระบบการวัดและประเมินผลที่สอดรับกับหลักสูตร และมีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยการพัฒนานั้นไม่ใช่การพัฒนาเนื้อหาที่อิงกับมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านการศึกษาจากส่วนกลาง แต่เป็นการพัฒนาครูให้มีอิสระในการออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ใหม่ที่เหมาะกับบริบทชุมชนท้องถิ่นและผู้เรียนของตนเอง เพื่อเป้าหมายปลายทางของโครงการคือ การพัฒนาและยกระดับคุณภาพวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน

“ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะเป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตของคน โดยประโยชน์ของโครงการคือการผลิตพลเมืองที่มีวิธีการคิดที่เป็นเลิศ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ของเขาได้ มีการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างเต็มระบบ และที่สำคัญอยู่บนพื้นที่ได้อย่างมีความสุขและเกิดความยั่งยืนในที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข กล่าวเสริม


ผู้เขียน/ภาพปก: ปนัดดา ไชยศักดิ์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก, อาจารย์วิชญา ผิวคำ, ครูสงกรานต์ กันธะพรม

Facebook Comments
ผลการประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด่วน! สพฐ. ขอความร่วมมือโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุกสังกัด ให้ข้อมูลสภาพปัจจุบันและความต้องการ แนวปฏิบัติ เพื่อปลดล็อกด้านสื่อการเรียนการสอน เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการฯ วิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด