“Learning Box” (กล่องการเรียนรู้) นวัตกรรมบ้านปลาดาว ที่ออกแบบมาเพื่อนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ที่บ้านในช่วงโควิด-19

19 มกราคม 2021

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุให้โรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ต้องปิดโรงเรียนและจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน แต่ก็ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ไม่ได้มีความพร้อมจัดการเรียนการสอนทางด้านออนไลน์ด้วยเหตุหลาย ๆ ปัจจัย หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ตั้งอยู่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนชาติพันธุ์ จากการสำรวจนักเรียนพบว่า ประมาณร้อยละ 20 ที่มีความพร้อมทางด้านออนไลน์ อีกร้อยละ 80 ที่บ้านไม่มีทีวี มีโทรศัพท์แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีคอมพิวเตอร์ ดังนั้น Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ จึงถูกออกแบบมาทั้งออฟไลน์ (Off line) และ ออนไลน์ (On line) เพื่อนักเรียนโรงเรียนบ้านปลาดาว

การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมพัฒนาชุดทักษะและความรู้แบบบูรณาการโดยมีผู้ปกครองเป็นคนช่วยสนับสนุนให้เรียนรู้อย่างมีความหมายตามบริบทและช่วงวัยของผู้เรียน บ้านปลาดาวได้จัดการเรียนการสอนแบบทางไกล (Remote Learning) ดังนี้

1. Learning Box (กล่องการเรียนรู้)

เป็นกล่องที่ส่งไปให้แต่ละครอบครัวเพื่อให้ผู้ปกครอง สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กที่บ้านได้ โดยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (PBL), Makerspace, และ 3R เพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และคิดเลขเป็น โดย Learning Box จะมีรายละเอียดดังนี้

  • ระดับชั้นอนุบาล ประกอบไปด้วย
    – Booklet ที่ครูประจำชั้นเป็นผู้ออกแบบและจัดทำ ซึ่งประกอบไปด้วย
    1. ชุดเครื่องมือพัฒนาทักษะชีวิตประจำวันของเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง การล้างมือเพื่อป้องกันโควิด-19 การรับประทานโดยการใช้ช้อน ส้อม การแต่งตัวเป็นต้น
    2. ชุดเครื่องมือด้านการเรียนรู้ ซึ่งจะมี 3R เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและคิดคำนวณผ่านกิจกรรม Active learning
    3. ชุดเครื่องมือการจัดการเรียนแบบโครงงานโดยผ่านกิจกรรมพื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็ก ๆ ซึ่งชุดการเรียนนี้ครูจะออกแบบเป็นรายสัปดาห์เพื่อยืดหยุ่นเวลาให้กับเด็กและผู้ปกครองสามารถเลือกเวลาที่สะดวกได้
    – โปสเตอร์แผนภูมิของขั้นตอนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อให้เด็กและครอบครัวจัดมุมในบ้านได้
    – แบบบันทึกรายสัปดาห์และแบบประเมินสำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น
    – อุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองประกอบการเรียนรู้ เช่น ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด สีเทียน ดินน้ำมัน กรรไกร กาวลาเท็กซ์ กระดาษสี หน้ากากผ้า เป็นต้น

ตัวอย่าง Booklet

  • Learning Box ระดับประถมศึกษา ประกอบไปด้วย
    – Booklet ที่ครูประจำชั้นและครูประจำวิชาเป็นผู้ออกแบบและจัดทำ ซึ่งประกอบไปด้วย
    1. ชุดเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) แบบบูรณาการในหัวข้อที่นักเรียนเป็นคนเลือกเอง โดยกำหนดให้ทำ 1 เรื่องต่อ 1 ภาคเรียน
    2. ชุดเครื่องมือการจัดการเรียนแบบโครงงานโดยผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็ก ซึ่งชุดการเรียนนี้ครูจะออกแบบเป็นรายสัปดาห์เพื่อยืดหยุ่นเวลาให้กับเด็กและผู้ปกครองสามารถเลือกเวลาที่สะดวกได้
    – โปสเตอร์แผนภูมิขั้นตอนทำกิจกรรมพื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อให้เด็กและครอบครัวจัดมุมในบ้านได้
    – แบบบันทึกรายสัปดาห์และแบบประเมินสำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น
    – อุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองประกอบการเรียนรู้เช่น ดินสอ ยางลบ ปากกา น้ำยาลบคำผิด ไม้บรรทัด ดินสอสี คัทเตอร์ ปืนกาว ใส้ปืนกาว กาวลาเท็กซ์ กระดาษสี ชุดไขควง หน้ากากผ้า เป็นต้น
    – แบบประเมินตามสภาพจริงและบันทึกรายสัปดาห์สำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น ซึ่งสามารถทำเป็นคลิปวีดีโอ หรือถ่ายเป็นรูปภาพเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหรือสามารถทำออกมาในรูปแบบ E-portfolio ได้ สำหรับผู้ที่มีความพร้อมในเรื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

Learning Box / ชุดกล่องเรียนรู้

2. การลงพื้นที่ในชุมชน (Community Outreach)

เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองและส่งเสริมความสัมพันธ์และสุขภาวะทางกายและใจ (wellbeing) ของนักเรียน บ้านปลาดาวบริการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ผู้ปกครองไม่รู้หนังสือหรือไม่สามารถสอนได้ตามชุมชนต่าง ๆ โดยเว้นระยะห่าง แต่ทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้นำหมู่บ้านหรือผู้นำชุมชนเพื่อที่จะเข้าไปบริการเด็กๆ โดยวางแผนการดำเนินการโดยใช้คุณครูของโรงเรียนบ้านปลาดาว ครูอาสาในชุมชน และเด็กรุ่นพีที่อยู่ในชุมชนที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยโรงเรียนได้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้กับคุณครูเช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ผ้าเปียกแอลกอฮอล์ เป็นต้น

3. การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online Learning Platform)

โรงเรียนบ้านปลาดาวได้จัดทำบทเรียนออนไลน์เพื่อให้เรียนรู้และดาวน์โหลดชุดเครื่องมือ ต่าง ๆ สำหรับผู้ปกครองและครูอาสาในชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักสูตรบ้านปลาดาวที่มุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนผ่านการเรียนรู้แบบโครงงานและปัญหาเป็นฐาน (PBL) พื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) และ 3R เพื่อให้อ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น รวมถึงการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ ใน www.starfishlabz.com

4. ช่องทางการสื่อสารแบบทันที (Real-Time Communication)

เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ปกครองสามารถติดต่อสอบถามครูประจำชั้น ครูประจำวิชาและผู้อำนวยการโรงเรียนผ่านเบอร์โทรศัพท์ Hotline และ Group Chat ที่มีครูประจำชั้นและครูประจำวิชา คอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสำหรับผู้ปกครองหรือนักเรียนที่ต้องการสอบถามปัญหาเรื่องการเรียนต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนนี้โรงเรียนได้คำนึงถึงช่วงอายุ ทรัพยากร วิธีการจัดการเรียนรู้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสาร การเรียนรู้ของนักเรียนและการสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน ซึ่งเป็นที่พึงพอใจสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง

  •  


ผู้เขียน: มุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว      
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศิริวัฒน์ มูลวงค์ , รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ทีมคณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา จ.เชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านขอบด้ง เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตนกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่
บทความล่าสุด