เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทีมคณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดยหัวหน้าทีมลงพื้นที่ ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก และคณะ ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านขอบด้ง ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ผู้อำนวยการสุนทร เกษเกษี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขอบด้ง บอกเล่าว่า นักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ทั้งหมด มีด้วยกัน 2 ชนเผ่า คือ มูเซอร์ดำ หรือลาหู่ และชนเผ่าปะหล่อง หรือดาราอั้ง โรงเรียนบ้านขอบด้งมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 304 คน และมีครูผู้สอนทั้งหมด 15 คน จากการศึกษาสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงเรียนมุ่งจัดการศึกษาที่สนองต่องานอาชีพเป็นหลัก
ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะขึ้น โดยมีการรวมกลุ่มกับ 5 โรงเรียนในพื้นที่อ่างขาง ได้แก่ โรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนเทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนสันติวนาและโรงเรียนบ้านผาแดง ซึ่งเป็นการจัดการศึกษากลุ่มโรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร “อ่างขางโมเดล (Angkhang Model)” โดยทางโรงเรียนได้ทำ Social Mapping ในการวิเคราะห์ความต้องการและพื้นฐานของชุมชนในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการทำหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งโรงเรียนได้ยึดสมรรถนะหลัก 6 สมรรถนะที่สำคัญ ปัจจุบันการจัดทำหลักสูตรนี้อยู่ในขั้นตอนการเขียนรายละเอียดของหน่วยการเรียนรู้ อีกทั้งมีการวางแผนไว้ว่าจะนำเอาชุมชนเข้าสู่การเรียนรู้ในทุกสมรรถนะ คาดว่าจะนำไปใช้ในการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 ที่จะถึงนี้
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขอบด้ง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “อยากสร้างคุณภาพการศึกษาให้กับพื้นที่ของตัวเอง สร้างหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ รวมทั้งสร้างพื้นฐานอาชีพในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน”
นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อย ทำให้นักเรียนที่นี่ไม่เขินอาย และมีความกล้าแสดงออกสูง เนื่องจากมีการพบปะผู้คนและนักท่องเที่ยวบ่อยครั้ง นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีการส่งเสริมความรู้ด้านเศรษฐกิจฐานความรู้ให้นักเรียนอีกด้วย
คุณครูกัลยา ใจคำ ครูผู้สอนโรงเรียนบ้านขอบด้ง กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีกระบวนการเรียนการสอนที่อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยโรงเรียนมีชุมนุมประดิษฐ์ที่จุดประกายให้เด็กสามารถออกแบบ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น “หญ้าอิบูแค” เป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ต่างหู ปิ่นปักผม สร้อยคอ พวงกุญแจ รวมทั้งมีการให้ความรู้นักเรียนในเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำธุรกิจ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นักเรียนจัดทำผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าของโรงเรียน “แนวคิดพื้นฐานในการทำคือ จะทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน”
ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ปนัดดา ไชยศักดิ์, รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ศิริวัฒน์ มูลวงค์