ผอ.บรรจุใหม่ ใช้ใจนำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ รวมพลังครูและผู้เกี่ยวข้อง จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น

22 เมษายน 2020

โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2482 เปิดสอนตั้งแต่ระดับ อนุบาล – ประถมศึกษา จำนวนนักเรียนทั้งหมด 85 คน จำนวนครู 10 คน มีห้องเรียนทั้งหมด 8 ห้อง เป็นโรงเรียนที่ห่างไกลจากตัวเมือง ผู้ปกครองยังมีฐานะค่อนข้างยากจน ส่วนใหญ่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เพื่อความอยู่รอด ท่าน ผอ.ญาดา นุ้ยไฉน จึงมีแนวความคิดที่ต้องการหาแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน จึงวางแผนร่วมกับคณะครู โดยตั้งเป้าหมายคือ ภายในปีการศึกษา 2565 โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก เป็นสถานศึกษาต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา พัฒนาบุคลากรและผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รู้รักษาภูมิปัญญา สืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังปรัชญาโรงเรียนที่ว่า “การศึกษา คือ การพัฒนาคนและสังคม”

จัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing)

โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกได้มีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านการทำโครงงานด้วยกระบวนการวิจัย 14 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ขั้นที่ 2 วิเคราะห์เลือกเรื่อง ขั้นที่ 3 พัฒนาเป็นโจทย์วิจัย ขั้นที่ 4 ออกแบบงานวิจัย ขั้นที่ 5 นำเสนอโครงงานวิจัย ขั้นที่ 6 สร้างเครื่องมือ ขั้นที่ 7 ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ขั้นที่ 8 ตรวจสอบวิเคราะห์ ขั้นที่ 9 คืนข้อมูลชุมชน ขั้นที่ 10 กำหนดทางเลือกใหม่ ขั้นที่ 11 แผนปฏิบัติการ ขั้นที่ 12 ทดลองปฏิบัติการ ขั้นที่ 13 รายงาน ขั้นที่ 14 นำเสนอผลงานวิจัย ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับบริบทของชุมชน โดยผู้เรียนได้ศึกษาข้อมูลที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ได้เรียนรู้ในสถานที่จริง จนสามารถรวบรวมเหตุ ปัจจัย และมองเห็นปรากฏการณ์ในชุมชนได้อย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านั้น จนนำไปสู่การทำเป็นโครงงานฐานวิจัย ในหลากหลายรูปแบบตามความสนใจของตนเอง ผู้เรียนได้ฝึกออกแบบการวิจัยที่สัมพันธ์กับสิ่งที่สนใจ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing)

การเปลี่ยนแปลงที่อยากให้เกิดขึ้น

ด้านผู้เรียน

อยากเห็นผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข อยากมาโรงเรียน อยากที่จะเรียนรู้จนเกิดองค์ความรู้ด้วยตนเอง รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี ในการอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน

ด้านครู

อยากเห็นครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู รักเด็กเหมือนลูกตน  ทำทุกอย่างเพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด และเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ จุดประกายการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน

ด้านการบริหารจัดการ

อยากเห็นผู้บริหารและคณะครูมีอิสระทางความคิด ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนด้วยตนเองโดยไม่ยึดติดกับหลักสูตรแกนกลาง และอยากเห็นการเปลี่ยนของการวัดและประเมินผลนักเรียนในด้วยทักษะชีวิต  และความรู้ขั้นพื้นฐานในระดับที่เหมาะสมกับวัย และมีเจตคติที่ดีสามารถแสดงออกได้เป็นอย่างเหมาะสมไม่เน้นที่เนื้อหาตัวชี้วัดมากจนเกินไป จนนักเรียนไม่สามารถออกมาเรียนรู้ในโลกกว้างได้เพราะครูยึดติดกรอบเนื้อหาในหนังสือที่ต้องเรียนให้จบเพื่อมาสอบแข่งขันกันแต่ละโรงเรียน อยากเห็นการเปลี่ยนระบบการแข่งขัน แต่อยากให้เพิ่มเติม สนับสนุนนักเรียนให้เรียนรู้ตามความถนัดของตน

การขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรภูมิสังคม ร่วม PLC กับคณะผู้บริหาร โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และคณะครู โดยการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ร่วมส่งเสริมบุคลากรให้ได้รับการอบรมการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการโครงงานฐานวิจัย และร่วมประชุมกับภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างการขับเคลื่อน โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ความเปลี่ยนแปลงกับโรงเรียนที่ดีขึ้น

ด้านผู้บริหาร ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะเป็นผู้บริหารบรรจุใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร แต่ต้องร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ถือว่าเป็นความท้าทายในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ต้องเปลี่ยนตนเองแบบก้าวกระโดดจากที่ไม่เคยพบใคร  อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมที่มุ่งมั่นสอนเนื้อหานักเรียนเพียงอย่างเดียว และอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมาตลอด แต่ต้องมาพบกับองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่ควรจะเป็น  ต้องปรับทัศนคติของตนเอง และ ออกจากกรอบเดิมๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ผอ. หรือครูมีใจที่จะเปลี่ยนหรือไม่ แต่เป็นความจำเป็นของทุกคนต้องร่วมเปลี่ยน และจะ “มุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามทำความเข้าใจแก่นแท้ของการเป็น โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมให้ได้” เพื่อหาวิธี แนวคิดที่ดีที่สุดมาส่งเสริม สนับสนุน สร้างสรรค์นักเรียนเพื่อตอบโจทย์อนาคตของชาติอย่างแท้จริง

ด้านครู สิ่งที่เริ่มเห็น คือครูเริ่มมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ในปีแรกอาจจะยังไม่เด่นชัดเพราะยังกังวลด้านเนื้อหา  แต่หากมีการพูดเปิดใจถึงภาระหน้าที่อันใหญ่หลวง และคลายความกังวลให้ครู ก็เริ่มที่จะคิดแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น และคิดว่าปีการศึกษาหน้าจะเริ่มชัดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่จากผู้สอนเป็นนักจัดกระบวนการ “เชื่อว่าถ้าครูมีความรู้ความเข้าใจ มุงมั่นและตั้งใจ ไม่มีอะไรเกินความสามารถของครูที่จะเปลี่ยนแปลง

ด้านผู้เรียน ได้รับการฝึกทักษะทั้งทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ อย่างบูรณาการ ได้ฝึกทักษะการอ่านและการเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เข้าใจ เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitator) และหนุนนำอย่างต่อเนื่อง (Coach) การจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นการเตรียมผู้เรียนให้เผชิญกับสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง ที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการอย่างแท้จริง

ด้านผู้ปกครอง จากเดิมผู้ปกครองและโรงเรียนค่อนข้างห่างเหินและแยกส่วนกันอยู่ หลังจากที่ได้สร้างการรับรู้ ถึงภาระหน้าที่ของผู้ปกครอง กรณี ครูสามเส้า ครูโรงเรียน  ครูพ่อแม่ และครูชุมชน เริ่มให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทได้ร่วมตระหนักในหน้าที่ร่วมกัน ผู้ปกครองเริ่มเห็นคุณค่าของตนเองที่ต้องมามีบทบาทในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันและมาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนมากขึ้น

ด้านชุมชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชน และแกนนำ เริ่มเข้ามามีบทบาทสร้างการรับรู้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนากันมากขึ้น ถือเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมสนับสนุนด้านการจัดการศึกษา เป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับทางโรงเรียน

ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมสนับสนุนด้านการจัดการศึกษา เป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับทางโรงเรียน

คิดนอกกรอบสู่การพัฒนาการเรียนการสอนที่ยั่งยืน

จุดที่น่าสนใจที่สุดที่ควรสืบสานต่อคือ การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการจัดซื้อหนังสือ ตำราเรียน เป็นจุดเริ่มต้นของการออกจากบล็อกที่วางไว้เหมือนกันทั่วประเทศ เป็นความท้าท้ายของผู้บริหารและครูที่กล้าเปลี่ยน และต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ผ่านจุดเปลี่ยนไปให้ได้ เพราะถ้าไม่กล้าคิด ไม่กล้าเปลี่ยน ทุกอย่างกลับมาจุดเดิม การศึกษากลับมาที่เดิม เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจโดยเฉพาะครูคือจุดแตกหักที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกับนักเรียนผู้บริหารต้องเป็นกำลังใจและสร้างความตระหนักให้แก่คณะครูอยู่เสมอ

ปัญหาและอุปสรรค

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดกับทางโรงเรียนคือ การส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานที่เข้ามาเพื่อทำข้อมูลวิจัย และทดสอบดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนมาก เนื่องจาก เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อยากให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป แค่ให้ครูเปลี่ยนทัศนคติในปีแรกก็เพียงพอแล้ว ในปีต่อไปสร้างความตระหนัก และเพิ่มเติมความมั่นใจให้ครูมุ่งมั่นที่จะทำงานให้เกิดผลก็เพียงพอ ไม่ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นภาระให้ครูมากจนเกิดความท้อและไม่อยากทำ เพราะการทำงานถ้า ผู้อำนวยการใช้อำนาจแต่ไม่ใช้ใจในการบริหาร เชื่อแน่ว่างานไม่สำเร็จ สร้างความเชื่อมั่นแล้วก้าวไปด้วยกัน

แนวทางในการผลักดันการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยจัดประชุมครู เพื่อสร้างความตระหนักในหน้าที่หลักของครูว่ามาเป็นครูเพื่ออะไร คนมีบุญถึงมาเป็นครู ผู้สร้างคน สร้างชาติ และให้คำมั่นสัญญากับครูว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เราพร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน ร่วมกันออกแบบกับคณะครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ว่าต้องการให้นักเรียนที่เรียนจบมีคุณลักษณะอย่างไร และร่วมกันวางแผน และเขียนหลักสูตร ออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ นำเสนอหลักสูตร คณะกรรมการสถานศึกษา และ คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัดให้ความเห็นชอบ จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ร่วมคิดร่วมทำ กิจกรรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อวางแผนการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม ดำเนินการตามหลักสูตรและแผนเป็นระยะๆ โดยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ PLC สรุปผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงต่อไป

แนวทางการจัดการเรียนการสอน ช่วง โควิด-19

เนื่องจากโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกเป็นโรงเรียนที่ห่างไกลจากตัวเมือง นักเรียน ผู้ปกครองยังมีฐานะค่อนข้างยากจน ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เพื่อความอยู่รอด ผู้ปกครองไม่สามารถอยู่ควบคุมดูแลให้นักเรียนเรียนออนไลน์ได้ และประกอบกับนักเรียนบางคนไม่มีอินเตอร์เน็ต ทางโรงเรียนจึงไม่มีความพร้อมที่จะให้นักเรียนเรียนออนไลน์ได้ จึงต้องรอประกาศจาก สพฐ. ให้เปิดเรียนได้ ก็ให้นักเรียนมาเรียนตามปกติ แต่ต้องสร้างความมั่นใจกับผู้ปกครองในมาตรการป้องกันความปลอดภัยโดยให้นักเรียนล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ วัดไข้นักเรียน และให้นักเรียนใช้ผ้าปิดจมูกทุกคน โดยอบรมนักเรียนสร้างความตระหนัก โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงมหัตภัยร้ายจากโรคโควิด เป็นการถอดบทเรียน จาก ทุก ๆ ฝ่ายและให้ทุกคน ให้ความร่วมมือ จากบทสัมภาษณ์ ผอ.ญาดา นุ้ยไฉน จะเห็นได้ว่าท่านเป็นผู้อำนวยการรุ่นใหม่ไฟแรง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเรียนการสอนของครู นำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเชื่อมโยงกับบริบทของชุมชน พัฒนาจากฐานรากสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน


ผู้เขียน: จักรพงษ์ คำมี, ญาดา นุ้ยไฉน
ผู้ให้สัมภาษณ์: ญาดา นุ้ยไฉน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก จังหวัดสตูล
ผู้สัมภาษณ์: จักรพงษ์ คำมี
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านท่าเสา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง มุ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพผ่านนวัตกรรมจิตศึกษา PBL เพราะครูที่มีคุณภาพ ย่อมนำไปสู่เด็กที่มีคุณภาพพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ผนึกกำลังทุกภาคส่วน มุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เดียวกัน “เพื่อเด็กสตูล”
บทความล่าสุด