สพฐ. จัดสรรงบแนว Block Grant ให้อิสระโรงเรียนใช้พัฒนานวัตกรรม “ยกคุณภาพ-ลดเหลื่อมล้ำ” หนุนเขตและ คกก.ขับเคลื่อนพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยง

22 กรกฎาคม 2021

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน กิจกรรมหลัก ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา งบเงินอุดหนุน รายการเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนนำร่องสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในด้านต่างๆ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดสรรงบเงินอุดหนุนให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ดังนี้ https://www.finance-obec.net/D/15990.html  (หนังสือราชการ ดูที่นี่ https://is.gd/feRLfQ  บัญชีจัดสรร ดูที่นี่ https://is.gd/0Vcepj)

“การใช้จ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

  1. สพท. ต้องดำเนินการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินอุดหนุน เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินนอกงบประมาณของโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ภายใน 5 วันทำการ
  2. ระยะเวลาการใช้จ่ายเงิน 2 ปีงบประมาณ (กรกฎาคม 2564 – วันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2565) หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้นำเงินคงเหลือส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน
  3. โรงเรียนต้องควบคุมการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด รวมถึง ให้เป็นตามเป้าหมาย พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562” (สำนักการคลังและสินทรัพย์ สพฐ.)

สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ขอเน้นว่า งบเงินอุดหนุนทั่วไปนี้ มุ่งให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในสังกัด สพฐ. เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ตามเจตนาของมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ดังนั้น เมื่อเขตพื้นที่ได้รับการแจ้งโอนจะดำเนินการโอนให้โรงเรียนนำร่องแต่ละโรงเรียน (ภายใน 5 วันทำการ) โรงเรียนจะมีอิสระและสามารถวางแผนการใช้งบเงินอุดหนุนทั่วไปนี้ได้ในกรอบระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ เช่นเดียวกับการใช้เงินอุดหนุนทั่วไป จึงมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการใช้งบประมาณ โดยมุ่งคิดค้นพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนและลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

ซึ่งในระหว่างการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างต่อเนื่องนี้ จะมีผู้สนใจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทั้งวิธีปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านการใช้งบประมาณด้วย ดังนั้น ในมิติการใช้งบประมาณ โรงเรียนควรแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า งบประมาณที่ได้รับมา ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เกิดผลผลิต เกิดการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมในแบบฉบับของตนเองอย่างไร หรือเกิดผลลัพธ์ที่ผู้เรียนตามเป้าหมาย (หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน) ได้มากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการที่ดี การแสดงความรับผิดรับชอบ (accountability) และความโปร่งใส ตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ. จะมุ่งเน้นส่งเสริมให้โรงเรียนนำร่องดำเนินการอย่างอิสระ เพื่อสร้างแบบอย่างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน/พื้นที่เป็นฐานโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แต่การใช้จ่ายเงินงบประมาณก็ต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในฐานะต้นสังกัดจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน นิเทศ ติดตาม ให้โรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนเกิดเป็นพลังเชิงพื้นที่ มีความสอดคล้องร้อยรัดไปด้วยกัน เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เน้นการสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน และมุ่งกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 


 


ผู้เขียน:
พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
นาเกลือแห่งการเรียนรู้ สู่หลักสูตรบูรณาการอิงสมรรถนะ เชื่อมโยงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น: รร.บ้านตันหยงลุโละKN SMART PLUS Model รูปแบบการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ ของ รร.กาญจนานุเคราะห์ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี
บทความล่าสุด