การประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ผู้แทนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ได้เข้าร่วมในการประชุมและนำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
ได้นำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงาน สรุปดังนี้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เกิดการจะเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน คือ
- ในระดับสถานศึกษาให้ความสำคัญที่การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เป็นแบบ Active Learning พัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ
- ในพื้นที่ได้เน้นกลไกการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในการกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ร่วมกันจัดการศึกษาและติดตามผล มีการประสานความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน
- ผลักดันให้เกิดการปลดล็อกกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ มีการรับฟังความคิดเห็นจากชาวจังหวัดศรีสะเกษในการจัดทำเป้าหมายการจัดการศึกษาและกรอบหลักสูตร Sisaket ASTECS จัดเวที Social Lab เพื่อให้ภาคีทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดภาพอนาคตของจังหวัดศรีสะเกษและลักษณะคนรุ่นใหม่ของชาวศรีสะเกษ มีการจัดเวที TEP FORUM SISEKET นำเสนอผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษานำร่องรุ่นที่ 1 ส่งผลให้สถานศึกษาอื่นๆสนใจสมัครเข้าเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและภาคีเครือข่ายได้ร่วมนำเสนอ SISAKET ASTECS คุณลักษณะของชาวศรีสะเกษที่พึงประสงค์
ในปีแรก มีสถานศึกษานำร่อง จำนวน 50 โรงเรียน และได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565-2566 สถานศึกษาทุกสังกัดเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง
การพัฒนาสถานศึกษานำร่องให้มีการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน ประกอบด้วย
- การปรับหลักสูตรให้บูรณาการเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
- ปรับการเรียนรู้ให้เป็นแบบ Active Learning ทั้งระบบ
- ปรับเปลี่ยนวิถีของโรงเรียนให้ใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวก
- ใช้การประเมินตามสภาพจริง
- ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ เข้าใจหลักสูตร สามารถถ่ายทอดนวัตกรรมไปยังครูผู้สอนได้ เป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
- ครูทำหน้าที่เป็นโค้ช ออกแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning และสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
- ปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้ของครูด้วยการจัด PLC อย่างสม่ำเสมอ
แผนการดำเนินงานในปี 2564 ประกอบด้วย
- ปรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของจังหวัด
- ประกาศใช้กรอบหลักสูตรจังหวัด
- พัฒนาสถานศึกษานำร่องให้จัดการศึกษาแบบ Active Learning มุ่งเน้นผลลัพธ์เชิงสมรรถนะ
- ร่วมกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ดำเนินการวิจัยเรื่องการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมการทดลองนำร่อง จำนวน 80 โรงเรียน
- จัดให้มีการประเมินสถานศึกษานำร่องและผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนร่วมกับ สพฐ. TDRI คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและคณะกรรมการนโยบาย
- จัดประชุมปฏิบัติการเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียน รวมทั้งได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำพื้นที่นวัตกรรมไปเป็นหนึ่งในสิบวาระที่สำคัญของจังหวัด (Agenda)
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
ได้นำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงาน สรุปดังนี้ จังหวัดระยองเป็นพื้นที่วิจัยปฏิบัติการเพื่อเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ พัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงด้วยกรอบหลักสูตร Rayong MARCO
โดยสถานศึกษานำร่องเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน ได้แก่
- ด้านแนวคิดหลักของโรงเรียน (School Concept)
- ด้านผู้นำ (School Leader)
- ด้านห้องเรียน
- ด้านครู
- ด้านการเรียนการสอน
- ด้านหลักสูตร
- ด้านการวัดและประเมินผล
แผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยองและกรอบหลักสูตร Rayong MARCO
ได้กำหนดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561-2564 มีการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่นและเครือข่ายสังคม บูรณาการการขับเคลื่อนโดยศูนย์ประสานงานการบริหารงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง พัฒนานวัตกรรมการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ผลลัพธ์ของแผนยุทธศาสตร์จังหวัดระยอง ได้แก่
- เด็กระยองเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์สังคมดิจิทัล
- คนระยองรู้รากเหง้าเท่าทันสังคมอุดมปัญญา จิตใจดี มีวินัย มีรายได้ ใส่ใจสุขภาพ
- คนระยองมีจิตสำนึกในการพัฒนาเมืองระยองให้เป็นเมืองน่าอยู่
- คนระยองมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
จากแผนยุทธศาสตร์จังหวัดระยอง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองจึงกำหนดกรอบหลักสูตร Rayong MARCO จัดการศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย ในปัจจุบันมีสถานศึกษานำร่อง 3 รุ่น
รุ่นที่ 1 มี 2562 จำนวน 25 โรงเรียน
รุ่นที่ 2 ปี 2563 มีจำนวน 26 โรงเรียน
รุ่นที่ 3 ปี 2564 มีจำนวน 12 โรงเรียน
ซึ่งสถานศึกษานำร่องรุ่นที่ 1 และ 2 ได้ขออนุมัติหลักสูตรต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและได้รับอนุมัติแล้ว 45 หลักสูตร นอกจากนั้น ได้มีการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน จัดงานร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาระยอง และได้ขยายแนวคิดการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองต่อสถาบันทางการศึกษาและสถาบันต่าง ๆ ทั้งนี้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปี 2564-2566 ซึ่งทางพื้นที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ มาตรฐานการสร้างสมรรถนะตามกรอบหลักสูตร Rayong MARCO รวมถึงจะมีการประกาศภาคีการศึกษาระยอง เพื่อค้นหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างรูปแบบความร่วมมือภาคีการศึกษาระยอง และสร้างเวทีสนทนา Rayong talk นอกจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ และได้ร่างระบบประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งจังหวัดระยองจะมีทีมจิตอาสาที่มาจากเครือข่ายองค์กรเอกชนและข้าราชการบำนาญที่ต้องการเข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษา และยังมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาช่วยพัฒนากรอบหลักสูตร Rayong MARCO อีกด้วย
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
ได้นำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงาน สรุปได้ว่า ปัจจุบันพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล มีสถานศึกษานำร่อง 3 รุ่น
รุ่นที่ 1 ปี 2561 มีจำนวน 10 โรงเรียน
รุ่นที่ 2 ปี 2563 มีจำนวน 4 โรงเรียน
รุ่นที่ 3 อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จำนวน 2 โรงเรียน
โดยสถานศึกษานำร่องรุ่นแรกได้กำหนดสมรรถนะผู้เรียน 10 สมรรถนะ ประกอบด้วย
- ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
- คณิตศาสตร์ในชีวิตประจําวัน
- การสืบสวนทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
- ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
- ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
- ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ
- ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม
- การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล
- การรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ
- พลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล
มีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางและมีการออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนแสดงสมรรถนะ หลักสูตรดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลแล้ว
ส่วนในปี 2564 ได้ปรับลดกำหนดสมรรถนะเป็น 5 สมรรถนะ ได้แก่
- การจัดการตนเอง
- การสื่อสาร
- การรวมพลังทำงานเป็นทีม
- การคิดขั้นสูง
- การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
สถานศึกษานำร่องในปีนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบหลักสูตร ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ 5 ฝ่าย และ ศธจ.สตูล ได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุม กศจ.สตูล มีการออกเยี่ยมสถานศึกษาและชมการแสดงผลงานของนักเรียนจากเวทีการแสดงผลงานโครงงานฐานวิจัย
แผนการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลของคณะอนุกรรมการ ได้แก่
- คณะอนุกรรมการฝ่ายโครงสร้างและกลไก อยู่ระหว่างดำเนินการเกี่ยวกับการกําหนดหลักเกณฑ์วิธีการการอนุมัติสถานศึกษานำร่อง การจัดทำสื่อ VTR และที่ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อยู่ในแผนคือการจัดสมัชชาวิชาการและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
- คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ มีการดำเนินการต่อเนื่องในการเห็นชอบหลักสูตรตามที่เสนอ รับฟังความคิดเห็นการจัดทำหลักสูตร รวมถึงมีการพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม
- คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมและงบประมาณ มีการดำเนินการเห็นชอบกิจกรรมตามที่เสนอ
- คณะอนุกรรมการฝ่ายบุคคล ได้ดำเนินการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง
- คณะอนุกรรมการฝ่ายติดตามและประเมินผล ซึ่งภารกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ และภารกิจที่ต้องดำเนินการในปีนี้อยู่ระหว่างนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่วนภารกิจของ ศธจ.สตูล คือการจัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดือนละ 1 ครั้งหรือตามภารกิจ และอยู่ระหว่างพัฒนาระบบฐานข้อมูล แต่ยังไม่ได้ดำเนินการวิจัย
ผู้เขียน: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา, อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์