เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ได้ประชุม ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน ณ ห้องบุหงาตันหยง ชั้น 2 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพื่อจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ให้เห็นเป็นรูปธรรมและเป็นไปตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตอบข้อหารือของ สพฐ. เกี่ยวกับคำจำกัดความของ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” หมายถึง จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถดำเนินการแยกเป็นรายจังหวัดได้
โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาสมีความเห็น ดังนี้
1. การเสนอรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ที่ประชุมได้พิจารณาจากรายชื่อที่มาจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ตามประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศ ณ วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นลำดับแรก และให้แก้ไขลำดับที่ 11 ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 เนื่องจากไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนด และลำดับที่ 20 – 21 ให้เป็นเพียงผู้ช่วยเลขานุการ เนื่องจากเป็นศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนั้น ทำให้จำนวนคณะกรรมการไม่ครบอีก 3 ท่าน คณะอนุกรรมการจึงลงความเห็นว่าเห็นควรเพิ่ม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเห็นควรให้แต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการ เนื่องจากควรมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่นราธิวาสเข้ามาร่วมวางแผนและพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนราธิวาส และประธานสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดนราธิวาส เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมด้านการจัดการเรียนรู้ทางด้านทักษะอาชีพและด้านการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพการทำงานที่บูรณาการทุกภาคส่วนและพัฒนาการศึกษาทุกระดับชั้นอย่างทั่วถึง จากความเห็นดังกล่าว องค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย
2. จัดให้มีคณะอนุกรรมการและคณะทำงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส เพื่อทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านวิชาการ กำกับ ติดตามและประเมินผลระดับพื้นที่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา เป้าหมายและแนวทางที่กำหนด โดยกำหนดให้มีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ พื้นที่ใกล้เคียง และคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษานำร่อง ทั้งนี้ ให้มีคณะอนุกรรมการระดับพื้นที่แต่ละหน่วยงานทางการศึกษาเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับพื้นที่ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2563
3. กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน โดยให้คณะทำงานระดมความคิดกำหนดรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส พัฒนาการจัดการศึกษาให้มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิชาชีพ และคุณธรรม ให้เห็นถึง “ความเป็นนราธิวาส” และเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของนราธิวาส
การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาสในครั้งนี้ คือ “จุดเริ่มต้น” ของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งคณะอนุกรรมการที่มาจากแต่ละภาคส่วนได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อแนวทางการยกระดับการศึกษาที่จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีความตระหนักและรัก “ความเป็นนราธิวาส” เรียนรู้และเท่าทันต่อโลกในอนาคตอย่างมีคุณธรรม และสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (นายเอกรัฐ หลีเส็น) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและยกระดับของจังหวัดนราธิวาส คือ “7 วาระ นราน่าอยู่ อย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย
วาระที่ 1 นรา…ตามรอยพอ (ชีวิตพอเพียง เพื่อสุขเพียงพอ)
วาระที่ 2 นรา…สะอาด (สิ่งแวดลเอมดี มีวินัย ใจสะอาด)
วาระที่ 3 นรา…สะดวก (ดูแล ใส่ใจ พร้อมให้บริการ)
วาระที่ 4 นรา…สบาย (เศรษฐกิจสมดุล อบอุ่นทุกครัวเรือน)
วาระที่ 5 นรา…ปลอดภัย (ทุกแห่งหน คนปลอดภัย)
วาระที่ 6 นรา…แบ่งปัน (คนนรา…ทุกวัย ร่วมใจแบ่งปัน)
วาระที่ 7 นรา…รักสามัคคี (สามัคคี คือ พลัง)
ดังนั้น การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส เป็นการขับเคลื่อนที่มองเห็นแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ผู้เขียน: ปัทมาวดี ขันธ์ชัย
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ซูฮูดี สรีแมง, narathiwat.go.th/