เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับข้อเสนอในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) และมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมรับฟังเพื่อหารือประเด็นดังกล่าว
ในการประชุม นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กล่าวว่า จากคุณภาพการศึกษาไทยที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน ทั้งความรู้พื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอในการใช้งานจริง และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งเด็กไทยจำเป็นต้องมีสมรรถนะที่สูงขึ้น เพื่อเรียนรู้ทักษะอาชีพและการสร้างทักษะใหม่ การคิดขั้นสูง การทำงานร่วมกับเทคโนโลยี การปรับตัว การมีจิตสำนึกแห่งการเติบโต การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคีเพื่อการศึกษาไทยมี 4 ประเด็นหลักสร้างความท้าท้ายในการปฏิรูปการศึกษา ดังนี้
- หลักสูตรล้าสมัย ในปัจจุบันเริ่มมีการปรับหลักสูตรโดยเน้นสมรรถนะมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำได้ครบทุกวิชา ทำให้นักเรียนเสียโอกาสจากหลักสูตรที่ล้าสมัย
- ครูไม่เพียงพอ โรงเรียนขนาดเล็กที่ครูไม่เพียงพอมีอัตราที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งธนาคารโลกจึงได้เสนอแนวทางบริหารจัดการให้ควบรวมโรงเรียนเล็กและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน และจัดสรรงบเพิ่มให้สำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถควบรวมได้
- สิทธิเสรีภาพ ของนักเรียนไทยยังถูกละเมิด ซึ่งกระทรวงมีประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรง แต่ยังมีครูบางท่านที่ละเมิด ซึ่งการกลั่นแกล้งหรือละเมิดทำให้ทักษะขั้นพื้นฐานของนักเรียนลดลง
- ท้าทายสิ่งใหม่ การปรับวัฒนธรรมให้เด็กไทย “กล้าทำสิ่งใหม่ๆ” เริ่มจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้อิสระพื้นที่และโรงเรียนได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ กล้าตั้งคำถาม กล้าทดลอง เรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลว
นอกจากนี้ ภาคีเพื่อการศึกษาไทยยังมีข้อเสนอต่อ รมว.ศธ. เพื่อก้าวข้ามความท้ายทายการศึกษา ด้วยกัน โดยสรุปดังนี้
- หลักสูตร การปรับหลักสูตรแกนกลางให้สำเร็จภายใน 3 ปี ซึ่งจะใช้เป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะแทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและพัฒนาครูให้สามารถออกแบบการสอนได้อย่างอิสระ และประเมินเพื่อพัฒนาได้
- ติดตาม ต่อยอด และขยายผล พัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อขยายผลไปใช้ในโรงเรียนอื่น ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา กระจายอำนาจและให้อิสระแก่โรงเรียนนำร่องเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้จัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น สร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคม สร้าง One Team โดยจัดตั้งทีมงานและหน่วยขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ระดับประเทศ สร้าง Package ปลดล็อคกฎระเบียบให้จังหวัดและโรงเรียนนำร่องให้สามารถยกระดับการศึกษา ทั้งด้านการบริหารจัดการ หลักสูตรและวิธีการสอน สื่อการสอน การวัดและประเมินผล การรับรองคุณภาพ และการบริหารงานบุคคล พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมและเร่งพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก กำหนดเป้าหมายและแผนบริหารโรงเรียนเล็กที่ชัดเจน พิจารณาข้อเสนอของธนาคารโลก สร้างแรงจูงใจให้ครูย้ายไป “โรงเรียนฮับ” หรือโรงเรียนห่างไกลขนาดเล็ก ยอมให้ท้องถิ่นบริหารทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบ/ควบรวมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
- ทบทวน-ยกเลิกโครงการ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วม และชวน ผอ.-ครู ทบทวนและยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กและครู และนำงบที่ได้มากระจายสู่โรงเรียนและผู้เรียนมากขึ้น
- นโยบายไม่ยอมรับความรุนแรง กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศนโยบายที่ไม่ยอมรับความรุนแรง รณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเด็ก พร้อมทั้งบูรณาการมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อเสริมกลไลเพิ่มเติม เช่น โครงการสถานศึกษาปลอดภัย ระบบร้องเรียนไม่เปิดเผยตัวตน เป็นต้น
- สร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารมีนวัตกรรมการทำงานใหม่ เปิดกว้างรับฟัง กล้าทดลอง ไม่สั่งการโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน รวมถึงมีการลงหน้างานเพื่อรับฟังปัญหา ให้กำลังใจ และให้การสนับสนุน เสริมสร้างแรงครูให้กล้าทำสิ่งใหม่ สื่อสารและแลกเปลี่ยน และส่งเสริมให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด โดยไม่นำมาเป็นบทลงโทษ
จากประเด็นข้างต้นที่ภาคีเพื่อการศึกษาไทยเสนอต่อ รมว.ศธ. และ สพฐ. ซึ่งได้รับฟังและจะพิจารณาในประเด็นดังกล่าวต่อไป
ดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่นี่! : คลิก
[pdf-embedder url=”https://www.edusandbox.com/wp-content/uploads/2023/10/Meeting-with-Minister-of-Education.pdf” title=”Meeting with Minister of Education”]
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน: กนกอร สินทนะโยธิน, อิศรา โสทธิสงค์
ผู้ออกแบบ: กนกอร สินทนะโยธิน