ชำนาญ สามัคคี “สะท้อนคิด สู่การปรับเปลี่ยนชั้นเรียน”

26 มกราคม 2021

กระบวนการสะท้อนคิดสู่การปรับเปลี่ยนชั้นเรียน หรือ Classroom Reflection to Change : CRC เป็นกระบวนการที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สถาบันอาศรมศิลป์ และโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกประสบการณ์ในการสะท้อนบทเรียนในห้องเรียนที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ทั้งนี้นายสันติ มุกดาสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ทีมบริหารจัดการ และคณะครู และผู้ทรงคุณวุฒิ นายปิยสิทธิ์ เมินแก้ว จากสถาบันอาศรมศิลป์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2563 ณ โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา อ.แกลง จ.ระยอง

เปิดห้องเรียน พัฒนาครูสู่เป้าหมาย

จากมุมมองของนายสันติ มุกดาสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยาที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการปรับเปลี่ยนชั้นเรียน ตามแนวคิดการเรียนรู้แบบองค์รวม เน้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชีวิตและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ คนดี ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ ตามจุดเน้นหรือ school concept “Chamnan youngsters innovate Society to Well-being เยาวชนชำนาญ สรรค์สร้างนวัตกรรมแก่สังคม ก้าวสู่ชีวิตที่ดี” จึงได้มอบหมายให้ นางสาวเขมจิรัฎฐ์ ภัทร์จิโรจน์กุล รองผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู ร่วมกิจกรรม CRC ดังกล่าว

กิจกรรม การสะท้อนชั้นเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง CRC

การจัดกิจกรรม CRC เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 โดยรศ.ประภาภัทร นิยม เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วิธีการ จุดเน้นของกระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร ให้กับโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา และโรงเรียนอื่น ๆ ในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รุ่นที่ 2 จังหวัดระยอง ผ่านระบบออนไลน์

ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นการปฏิบัติการจริง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเดินทางมาสังเกตการสอนในห้องเรียน 2 ห้องเรียน ได้แก่ วิชาเทคโนโลยีดนตรี และวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน 6 ผู้เข้าร่วมสังเกตการสอน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและทีมบริหารและทีมครูผู้สอนของโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา จำนวน 15 คน เริ่มสังเกตการสอนตั้งแต่เวลา 8.50 น. หลังจากนั้นเวลา 12.30 น. จึงเริ่มนำข้อมูล ความคิดเห็น มาร่วมกันสะท้อนคิด ใช้เวลาในการสะท้อนคิดทั้งสิ้นประมาณ 60 นาที

รู้จักครูผู้สอน

การทำกิจกรรม CRC ครั้งนี้ ครูโอฬาร พาชื่น (ครูโอ) และครูรัตติยา จันทคาม (ครูหนิง) อาสาเป็นผู้สาธิตการสอน รายละเอียดพอสังเขปของครูทั้ง 2 ท่าน มีดังนี้

ครูท่านที่ 1 นายโอฬาร พาชื่น ครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีดนตรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในเรื่องการสร้าง Beat, Drum pattern เบื้องต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนรู้จัก และสามารถใช้ Application บนมือถือสร้างเพลงขั้นพื้นฐานได้ ใช้เวลา 2 คาบเรียน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 สร้างแรงจูงใจในการทำผลงานเพลงจากนักเรียนตัวอย่างที่ใช้โทรศัพท์มือถือในแต่งการเพลง
ช่วงที่ 2 ให้ความรู้โดยใช้สื่อออนไลน์ประกอบเกี่ยวกับ Beat ,วิธีการสร้าง Beat , องค์ประกอบของเสียง จากโทรศัพท์มือถือ โดยใช้ Application WalkBand สำหรับระบบ Android และ GarageBand สำหรับระบบ IOS ในสร้าง Beat และ Drum patterns
ช่วงที่ 3 ให้นักเรียนสร้าง Beat และ Drum patterns ตามที่ครูกำหนด แล้วส่งงาน Online ผ่านกลุ่ม messenger รายวิชา เพื่อการนำไปใช้ในบทเรียนถัดไป

ครูท่านที่ 2 นางสาวรัตติยา  จันทคาม (ครูหนิง) สอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน 6 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในหัวข้อการแก้ระบบสมการเชิงเส้นสองตัวแปรโดยวิธีการแทนค่า  วัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนสามารถอธิบายการแก้สมการเชิงเส้นสองตัวแปรโดยวิธีการแทนค่าได้ ใช้เวลา 1 คาบเรียน แบ่งการจัดการเรียนรู้เป็น 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 ทบทวนเนื้อหาและความรู้เดิมเกี่ยวกับกระบวนการแก้สมการ 5 Steps
ช่วงที่ 2 นักเรียนศึกษาการแก้ระบบสมการเชิงเส้นสองตัวแปรโดยวิธีการแทนค่า และแก้โจทย์ปัญหา โดยใช้กระบวนการแก้สมการ 5 Steps : จัดรูป > แทนค่า > แก้สมการ > แทนค่าหาคำตอบ > ตรวจคำตอบ
ช่วงที่ 3 แข่งขันแก้โจทย์ปัญหา และสุ่มตัวแทนออกมาเฉลย จากนั้นครูและนักเรียนสรุปความรู้ร่วมกัน

บรรยากาศวงสนทนา “กัลยาณมิตร”

บรรยากาศการสังเกตการสอนเป็นบรรยากาศแบบตั้งใจฟัง ตั้งใจดู บนพื้นฐานของความเป็นกัลยาณมิตร เนื่องจากครูผู้สาธิตการสอน มีจิตอาสาที่จะสาธิตการสอน จึงทำด้วยความเต็มใจและพร้อมรับการเสนอแนะในลักษณะการเรียนรู้ เพื่อการปรับเปลี่ยน

ส่วนบรรยากาศการเสนอแนะและแลกเปลี่ยนพูดคุย เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ เป็นไปอย่างราบรื่น และผ่อนคลาย เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอาศรมศิลป์ มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อทีมงานของโรงเรียน เริ่มต้นจากการที่ครูผู้สอนเป็นผู้สะท้อนความคิดจากผลการจัดการเรียนรู้ จากนั้นผู้นิเทศได้สะท้อนในสิ่งที่ได้จากการสังเกต และมีคำแนะนำที่เป็นไปในทางบวก มีแนวทางแก้ไขให้แก่ครูผู้สอน ทำให้เกิดการยอมรับร่วมกัน

ประเด็นการสะท้อนคิด

จากการสนทนาสะท้อนผลสรุปประเด็นที่หยิบยกมาพูดคุยกัน ดังนี้

  1. แผนการจัดการเรียนรู้ มีความชัดเจน มีรายละเอียด มีความสอดคล้องกันระหว่างวัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล
  2. ครูผู้สอน มีความเป็นกันเองกับนักเรียน มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม และออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ได้ดี แต่อาจมีการรวบรัดขั้นตอนบางขั้นตอน เช่น การสร้างแรงบันดาลให้นักเรียน การเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกปฏิบัติตามขั้นตอน
  3. สื่อและเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ เป็นการใช้สื่อและเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  4. การวัดและประเมินผล มีทิศทางที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ แต่อาจต้องมีการปรับให้เอื้อกับพื้นฐานของผู้เรียนรายบุคคลที่ชัดเจนขึ้น

ผลที่ได้รับ

จากกิจกรรม CRC ครั้งนี้ โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยาได้ประโยชน์อย่างมาก ดังนี้

  1. กระบวนการสะท้อนคิดสู่การปรับเปลี่ยนห้องเรียน กิจกรรมครั้งนี้เป็นการติดตั้งระบบการสะท้อนคิดให้กับทีมบริหารและทีมครูผู้สอนอย่างชัดเจน เนื่องจากทุกคนได้ร่วมกิจกรรมแบบพาคิดพาทำ บุคลากรมีแรงบันดาลใจที่จะสานต่ออย่างต่อเนื่อง
  2. ครูผู้สอนและผู้บริหารเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้ มองเห็นจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาในสถานการณ์จริง โดยนำสิ่งที่ปรากฏในแผนการจัดการเรียนรู้มาสู่การนำไปใช้จริง มองเห็นผ่านมุมมองที่หลากหลายจากการสะท้อนความคิดของตนเองและผู้นิเทศอย่างชัดเจน รวมถึงผู้นิเทศได้ประโยชน์จากการถอดบทเรียน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงของครูยุคใหม่ที่กล้า “เปลี่ยน” นำไปสู่ “New Classroom”

บทสรุป

ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง สถาบันอาศรมศิลป์ ทีมงานผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ที่ขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสะท้อนคิดสู่การปรับเปลี่ยนชั้นเรียน ส่งผลให้โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยามีแนวทางการนิเทศการจัดเรียนรู้แบบใหม่ใน 4 ประเด็น ได้แก่

  1. ครูผู้สอนเปิดใจให้บุคคลต่าง ๆ เข้าสังเกตการสอนในห้องเรียน
  2. ครูผู้สอนยอมรับการสะท้อนคิดสู่การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้
  3. ทีมงานบริหารและครูผู้สอนมีกระบวนการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และมีมุมมองใหม่ในการจัดการเรียนรู้
  4. ทีมงานบริหารและครูผู้สอนมีเจตคติที่ดีต่อการสะท้อนคิด มีการตรวจสอบและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ


ผู้เขียน: สันติ มุกดาสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
“การจัดการนวัตกรรม” คืออะไร จำเป็นหรือไม่ ทำไมต้องทำ แล้วจะทำอย่างไร สบน. เชิญชวนบุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทุกคนหาคำตอบได้ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับรองศาสตราจารย์ ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย กูรูด้านการจัดการนวัตกรรมของประเทศสพป.ศรีสะเกษ เขต 4 กับการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด