โรงเรียนบ้านนากลาง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ สื่อสารเพื่อการเรียนรู้ เชื่อมภาษาถิ่นกับภาษาไทย ด้วยนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา

26 พฤษภาคม 2020

โรงเรียนบ้านนากลาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 6 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล2ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่6 เป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร อยู่บนพื้นที่ภูเขาสูง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีโรงเรียนสาขาคือโรงเรียนบ้านนากลางสาขาบ้านห้วยผักกูด ชุมชนเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง นักเรียนในโรงเรียนจึงเป็นชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด และเป็นชุมชนคนเลี้ยงช้าง ปีการศึกษา2562มีนักเรียนในโรงเรียนหลักจำนวน 76 คน ส่วนโรงเรียนสาขามีจำนวน 72 คน บุคลากรสายการสอนที่โรงเรียนหลักมี 6 คน มี 8 ห้องเรียน ส่วน ณ โรงเรียนสาขามีครู 5 คน เมื่อก่อนชุมชนเป็นหมู่บ้านเดียวกันภายหลังชุมชนขยายตัวมากขึ้นจึงขอแยกเป็นหมู่บ้านใหม่ กระทั่งในปี 2534 ชุมชนขอตั้งเป็นโรงเรียนสาขาโรงเรียนจึงดำเนินการตามความต้องการของชุมชน เนื่องจากระยะทางของหมู่บ้านและโรงเรียนห่างกันประมาณ 14 กิโลเมตร เกิดปัญหาด้านการเดินทางของนักเรียนอีกทั้งเรื่องการพักนอนของเด็กเล็ก ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียน นายโสภณ  พรหมแก้ว ทำหน้าที่บริหารโรงเรียนถึง 2 แห่ง

ผอ.โสภณ  พรหมแก้ว  นำพาโรงเรียนเข้าเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ต้องการความมีอิสระ ความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านการจัดการเรียนการสอนและด้านบุคลากรตามบริบท หลังจากเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว ได้ขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

1. การดำเนินงานตามเจตนารมณ์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

การยกระดับผลสัมฤทธ์ผู้เรียนโดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา

จากสภาพบริบทโรงเรียนซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยง ผู้เรียนจึงประสบปัญหาการสื่อสารภาษาไทยระหว่างการจัดการเรียนการสอนกับครูชาวไทย เด็กจึงไม่สนุกและไม่สนใจกับการเรียน ประสบปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยและด้านการคิดวิเคราะห์อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนจึงนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา เข้ามาใช้จัดการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาถิ่นควบคู่กับภาษาไทย เป็นสมุดสื่อภาพเล่มเล็กสื่อจากวัฒนธรรมประเพณีที่ใกล้ตัวเด็กช่วงแรก ครูถิ่นจะสื่อสารหรือตั้งคำถามในระหว่างจัดการเรียนการสอนเป็นภาษากะเหรี่ยงก่อน กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ ทำให้เด็กกล้าพูดกล้าสื่อสารโต้ตอบกับครู หลังจากเด็กเกิดความคุ้นเคยแล้ว จึงค่อย ๆ ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับเด็ก ให้เด็กค่อย ๆ เรียนรู้ภาษาไทย ผลจากการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ ทำให้เด็กมีความสนุกและสนใจในการเรียนมากขึ้น อัตราการขาดเรียนยังลดลงอีกด้วย นวัตกรรมนี้ช่วยนักเรียนเรื่องการสื่อสารภาษาไทย ด้านการอ่าน และการเขียน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้มากขึ้น

ในปีการศึกษา 2562 เริ่มใช้จัดการเรียนการสอนกับเด็กระดับชั้นอนุบาล 2 ส่วนปีการศึกษา 2563เริ่มใช้กับเด็กชั้นอนุบาล 3 โดยจัดการเรียนการสอนควบคู่กับ DLTV เนื่องจากครูไม่ครบชั้นเรียนและไม่ตรงตามวิชาเอก ประกอบกับต้องแบ่งครูไปจัดการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนสาขา เมื่อเด็กกลุ่มนี้ขึ้นสู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และได้ทดสอบ RT : Reading Test (การประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1) จึงจะนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษากับเด็กระดับชั้นอนุบาล 2-3 มาได้ 1 ปีแล้ว แม้ยังไม่มีผลการสอบ NT และ O-NETแต่จากการประเมินในเบื้องต้นโดยครูและตัวเด็กเองพบว่า เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ทั้งด้านอัตราการขาดเรียนที่ลดลง เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น สามารถสื่อสารกับครูได้ทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น มีความอยากรู้อยากเห็นและความใกล้ชิดระหว่างครูและเด็กนักเรียนกล้าที่จะมีการโต้ตอบกับครูได้มากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนั้น ชุมชนของโรงเรียนบ้านนากลางและโรงเรียนสาขาห้วยผักกูดเป็นชุมชนคนเลี้ยงช้าง มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาเรื่องวิถีชีวิตการเลี้ยงช้างในชุมชนเข้ามาอาศัยอยู่ครั้งละ 3-4 เดือน หรืออาจอยู่นานเป็นปีโรงเรียนได้รับความอนุเคราะห์จากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเข้ามาช่วยสอนภาษาอังกฤษ เน้นการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยไม่รับค่าตอบแทนการสอน โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะสอนให้กับเด็กในโรงเรียนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดีเวลา 09.00 น. โดยมีครูถิ่นและครูชาวไทยเข้าร่วมส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในทุกครั้ง การสอนรูปแบบนี้ โรงเรียนจะนำหลักสูตรสถานศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศให้นักท่องเที่ยวศึกษา เมื่อเรียนจบเป็นคอร์สแล้ว มีการวัดและประเมินผลเช่นเดียวกันจึงเป็นที่มาของนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา กล่าวคือ เด็กได้ทั้งภาษาไทย ภาษาถิ่นและภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร

การได้รับการผ่อนคลายกฎระเบียบ ความคล่องตัว ในการจัดการศึกษา

โรงเรียนนำงบประมาณรายหัวที่ได้รับจัดสรรจากเดิมที่ต้องนำไปซื้อหนังสือเรียนไปจัดทำสื่อการเรียนการสอนสำหรับชั้นอนุบาล 2 และอนุบาล 3 ที่สอดคล้องกับนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ

การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

โรงเรียนบ้านนากลางมีเครือข่ายการจัดการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา มีความเป็นมาที่สำคัญ คือ โรงเรียนบ้านพุย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 5 ซึ่งประสบปัญหาเหมือนโรงเรียนบ้านนากลาง ได้นำร่องจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษาไปก่อนแล้ว และจากเดิมที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ลำดับสุดท้ายของเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อใช้นวัตกรรมนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสามารถขึ้นมาสู่ลำดับต้นของเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนบ้านนากลางซึ่งเป็นเครือข่ายโรงเรียนซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา จึงนำผลสำเร็จของโรงเรียนบ้านพุยไปปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนในที่สุดได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการสถานศึกษาผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนและบุคลากรครูในโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา โดยมีครูถิ่นหรือครูที่จบระดับปริญญาตรีและอยู่ระหว่างการรอสอบบรรจุเข้ารับราชการครูเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2-3 เป็นการชั่วคราวควบคู่กับครูประจำการซึ่งเป็นครูชาวไทยทำให้เด็กสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับหนึ่ง

โรงเรียนบ้านนากลางยังมีเครือข่ายการจัดการศึกษาอื่น ๆ เช่น 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนในกลุ่มเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 6 ที่จัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา ในการจัดอบรมพัฒนาครู การจัดทำสื่อการเรียนการสอน 2) มูลนิธิภาษาศาสตร์ ได้สนับสนุนงบประมาณของครูถิ่นให้เข้าไปช่วยสอนรูปแบบทวิภาษาอบรมเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนในช่วงปิดภาคเรียนให้กับครูถิ่น อีกทั้งเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนให้ความรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอนให้กับครูถิ่น 3) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ให้ทุนสนับสนุนการเรียนครูและให้ครูกลับมาสอนในท้องถิ่น โรงเรียนบ้านนากลางได้แจ้งความจำนงต่อ กสศ.ถึงความต้องการครูเอกปฐมวัยมีคุณสมบัติเป็นคนในพื้นที่ รู้ภาษาถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสอบคัดเลือกผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อเอกปฐมวัย ณ มหาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในปีการศึกษา2563 เมื่อจบการศึกษาแล้ว จะได้บรรจุเป็นข้าราชการครูจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษาในโรงเรียนบ้านนากลาง ทั้งนี้ ชุมชนและผอ.โรงเรียนได้รับสิทธิ์ในการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้ามาพัฒนาเด็ก และพัฒนาโรงเรียนบ้านนากลางสู่โรงเรียนที่ดีมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต่อไป

2. ผลที่เกิดขึ้นหลังจากดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ด้านครู ครูมีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพกับเด็กอยู่เสมอ เช่น ครูผู้สอนเอกคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นครูถิ่น รู้ภาษากะเหรี่ยงได้จัดทำสื่อ CAI เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้กับเด็ก และจัดทำคำศัพท์ให้ครูไทยได้ใช้อีกด้วย

ด้านผู้บริหารโรงเรียน มีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นต่อการใช้ตัวชี้วัดคุณภาพการจัดการศึกษาที่ขึ้นอยู่กับบริบทโรงเรียน โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กได้ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน และมีความเชื่อมั่นต่อนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา ที่จะช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ของวิชาอื่นๆ และสามารถส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเด็กก่อน

ด้านผู้ปกครอง ช่วงแรกของการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิดความไม่เข้าใจของผู้ปกครองเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา เนื่องจากต้องการให้บุตรหลานเรียนรู้ภาษาไทยในโรงเรียน เมื่อได้ประชุมผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองจึงเข้าใจแนวทางว่า โรงเรียนไม่ได้สอนภาษากะเหรี่ยงแต่ใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นสื่อกลางในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เรียนรู้วิชาอื่นได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิภาษาศาสตร์เป็นต้น

ด้านชุมชน ชุมชนให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านนากลาง เช่น สนับสนุนครูถิ่นเข้ามาช่วยสอนแบบทวิ/พหุภาษา สนับสนุนชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาเรื่องวิถีชีวิตการเลี้ยงช้างในชุมชนเข้าร่วมการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านนากลาง

3. ปัญหา อุปสรรค และการแก้ไข

เนื่องจากโรงเรียนบ้านนากลางมีโรงเรียนอีก 1 แห่งที่ต้องบริหารจัดการศึกษา จึงมีความต้องการครูท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนทวิ/พหุภาษาเพิ่มเติมจำนวน  5 คน ทำให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจ้างเพราะเป็นงบประมาณผูกพันจำนวนมาก แต่โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากชุมชนให้มีครูถิ่นเข้ามาสอนเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี แต่ดำเนินการอย่างไม่ต่อเนื่อง อีกวิธีหนึ่งที่โรงเรียนดำเนินการแก้ปัญหา คือ ระดมทุนจ้างครูถิ่นให้ครบทุกชั้นเรียน

4. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและต้องการสืบสานต่อ

โรงเรียนบ้านนากลางต้องการพิสูจน์ว่า นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา เมื่อถึงเวลาที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาต้องสอบ NT และ O-NET ผลออกมาจะเป็นอย่างไร มีความสอดคล้องกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ คือ การที่อัตราการขาดเรียนลดลงเด็กมีความสุขในการมาเรียน เด็กสามารถสื่อสาร มีความกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นกับครูชาวไทย หรือไม่ อย่างไร และต้องการที่จะต่อยอดการพัฒนาการสอนแบบทวิ/พหุภาษาอาทิเช่น จัดการเรียนการสอนแบบ CSL เพื่อถ่ายทอดการจัดการเรียนการสอนไปสู่โรงเรียนอื่นที่สนใจการสอนแบบทวิ/พหุภาษา จัดทำสื่อการสอนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนและวัยของผู้เรียนที่เน้นการสร้างความเข้าใจในความหมายพัฒนารูปแบบการสอนและสื่อการสอนในรูปแบบ CAI เพื่อให้สอดคล้องกับยุคการสอน 4.0 ตลอดจนส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาตนเองอย่างมีศักยภาพ

5. แผนการดำเนินงานในอนาคต

  1. นอกจากด้านภาษาที่โรงเรียนบ้านนากลางกำลังพัฒนาให้กับเด็กอยู่นั้น โรงเรียนยังต้องการพัฒนาเด็กในความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามบริบทของชุมชนคนเลี้ยงช้างให้กับเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เนื่องจากโรงเรียนมีครูเอกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จึงสมัครเป็นโรงเรียนนำร่องรุ่น 2 ของสสวท. โดยคณะครูอยู่ระหว่างปรึกษาหารือเพื่อนำเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น น้ำ การจัดการขยะ เข้าไปบูรณาการในสาระวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
  2. การพัฒนาเด็กด้านสัมมาอาชีพ กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เรื่องชุมชนน่าอยู่การท่องเที่ยว การรักษ์น้ำ รักษ์ป่า ชุมชนนักอนุรักษ์ โดยอาศัยทุนเดิมคือ เป็นชุมชนคนเลี้ยงช้าง หากในอนาคตช้างไม่กลับมาอยู่ที่ปางช้างข้างนอก นับตั้งแต่วิกฤติไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวหายไป โรงเรียนจะทำหลักสูตรมัคคุเทศก์น้อยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้าง การเลี้ยงช้าง ให้เด็กได้อยู่กับชุมชนซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการต่อยอดการเลี้ยงชีพให้กับครอบครัว ชุมชน และตนเอง หลังจบการศึกษาได้
  3. โรงเรียนบ้านนากลางยังต้องพัฒนาสื่อเทคโนโลยีตามความพร้อมและบริบทของโรงเรียนควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน กล่าวคือ ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนตามบริบทให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นกรณีการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาโฮมสเตย์ ณ ชุมชนคนเลี้ยงช้างในขณะที่โรงเรียนไม่มีครูเอกภาษาอังกฤษใน 2 ปีการศึกษาติดต่อกันแต่ปรากฏว่าผลสอบ O-NET อยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากนั้น โรงเรียนยังต้องดำเนินการพัฒนาผู้เรียนภายใต้บริบทของโรงเรียน เช่น ขณะนี้โรงเรียนขอตั้งเป็นอาสาสมัครคนรักษ์น้ำ คนรักษ์ช้าง ดำเนินการโดยนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิรักษ์ไทย แล้วส่งต่อกิจกรรมให้รุ่นน้องต่อไป อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการระดมทรัพยากรอย่างเพียงพอ เช่น ระบบ IT อินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ครบทุกมิติ

6. การปรับหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ

โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะถึงแค่ระดับชั้นอนุบาล 3 ส่วนใหญ่ยังคงอิงมาตรฐานการศึกษาของชาติอยู่ แต่ได้เพิ่มนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนทวิภาษาเข้าไปในหลักสูตรและจะเพิ่มทวิภาษา/พหุภาษาจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 รวมถึงการบรรจุเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัมมาอาชีพจากบริบทที่มีอยู่ในชุมชนเข้าไปในหลักสูตรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งโรงเรียนบ้านนากลางคาดหวังว่า การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่อิงบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จะสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน

วิธีการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะที่ได้บรรจุเข้าไปในหลักสูตร ยกตัวอย่างในชั้นอนุบาล 3 ตัวชี้วัดที่สามารถสื่อสารกับคุณครูเป็นภาษาไทยได้โดยบริบทภาวะที่ใกล้เคียงกับตัวนักเรียนชุมชนโดยผ่านสื่อการเรียนการสอนโดยใช้ทวิภาษา เช่น เมื่อครูถามว่า “เธอเคยเห็นปลาหมึกไหม มีลักษณะยังไง” เด็กจะตอบไม่ได้ แต่เมื่อครูมีภาพมีสื่อครูจะใช้ภาษาถิ่นอธิบาย เด็กก็จะรู้และบอกได้ว่านี่คือปลาหมึก เด็กจะจดจำและยังได้พัฒนาสมรรถนะภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น เด็กไปช่วยพ่อแม่เก็บกะหล่ำปลี เด็กก็สามารถเล่าเป็นภาษาไทยให้กับคุณครูได้จนเห็นภาพชัดเจน

โรงเรียนบ้านนากลาง เป็นโรงเรียนในพื้นที่สูง อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ผู้บริหารโรงเรียนมีความเชื่อมั่นต่อแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้ตามบริบทของโรงเรียน จึงได้นำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษาเข้ามาใช้ ผลที่วัดได้เชิงปริมาณ คือ ผลจากการทดสอบ NT หรือ O-NET ซึ่งยังไม่สามารถวัดออกมาได้เพื่อเป็นการพิสูจน์ผลแห่งความสำเร็จของนวัตกรรมนี้ แต่ผลเชิงคุณภาพจะเกิดขึ้นแน่นอน เป็นที่พึงพอใจต่อผู้บริหารโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง และแม้กระทั่งตัวเด็กเอง คือ เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น อัตราการขาดเรียนลดลง เด็กสามารถสื่อสารกับครูได้ทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น เด็กมีความสนใจอยากรู้อยากเห็น ความใกล้ชิดระหว่างครูและเด็กมีมากขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นอีกโรงเรียนในพื้นที่สูงที่น่าติดตามผลของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่และผลของการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, โสภณ พรหมแก้ว
ผู้ให้สัมภาษณ์: โสภณ พรหมแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนากลาง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ยุรี พุทธปวน, ฑิลาภัคร์ แสงกระจ่างกล้า ครูโรงเรียนบ้านนากลาง

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านคูซอด พื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ ปรับหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ เน้นจิตศึกษา PBL และ PLCเชิญชวนเข้าร่วมเรียนรู้ในการเสวนาโรงเรียนวิถีใหม่ (The New Normal School) ครั้งที่ 3 ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 16.30-18.30 น.
บทความล่าสุด