บูรณาการและต่อยอดเพื่อยกระดับสมรรถนะ
ด้วยฐานการเรียนรู้แห่งศาสตร์พระราชา รร.บ้านซ่องแมว จ.ปัตตานี
สำหรับครั้งนี้ มาที่อีกหนึ่งในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี คือ โรงเรียนบ้านช่องแมว มีที่ตั้งอยู่ที่ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 ซึ่งมีสภาพบริบทคล้ายกับสถานศึกษานำร่องอีกหลายแห่ง นั่นคือ มีความหลากหลายทางภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และมีวิถีชีวิตการประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรมและการรับจ้างเป็นอาชีพหลัก ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า ในผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านั้น มีผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนแห่งนี้อยู่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเป็นเกษตกร และจุดนี้นี่เองที่ทำให้โรงเรียนเล็งเห็นถึงความสำคัญ
จากการสัมภาษณ์ นายอุดม ชูอ่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านช่องแมว กล่าวว่า ในปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ในการจัดการเรียนการสอน แต่ก็มีการดำเนินการขับเคลื่อนตามแนวทางของการเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยกิจกรรม “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในนายอุดมกล่าวถึงที่มาที่ไปว่า เมื่อครั้งได้มีโอกาสนำคณะครูไปอบรมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ ในด้านการเขียนแผนการสอน การทำหลักสูตรต่างๆ ตนมองว่า สามารถใช้หลักสูตรเดิมได้ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ให้เพิ่มเติมในส่วนของการสร้างผลลัพธ์ทางรายได้เข้าไป และจากการที่ครูได้รับการพัฒนาและนำมาประยุกต์ใช้นั้น จึงได้ยกกิจกรรมศาสตร์พระราชาเป็นจุดเด่น เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วตอบโจทย์และประสบความสำเร็จ
กิจกรรมศาสตร์พระราชาของโรงเรียนบ้านช่องแมว เป็นไปในรูปแบบของการสร้างยุวเกษตรกร โดยสร้างการเรียนรู้ด้วยฐานการเรียนรู้ 6 ฐาน เช่น สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สระน้ำพอเพียง สวนกล้วย ปลูกผักสวนครัว การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และคุณธรรม เป็นการขับเคลื่อนให้กับกลุ่มยุวเกษตรกร ซึ่งกลุ่มหนึ่งจะมีประมาณ 25 คน แบ่งออกเป็นฐาน ฐานละ 5-6 คนในการเป็นแกนนำของแต่ละฐาน และยุวเกษตรกรนี้ก็สามารถเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียน และนำความรู้ที่ได้กลับสู่ชุมชน โดยพื้นฐานก็คือนำกลับไปทำกับครอบครัวที่บ้านของตนเอง โดยการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง ซึ่งการสร้างยุวเกษตรกรนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถส่งไปแข่งขันในระดับประเทศ โดยได้รางวัลระดับชมเชย นอกจากนั้น สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ คือ ผลิตผลต่างๆ ซึ่งนำมาใช้ในการประกอบอาหารของนักเรียนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลให้โรงเรียนบ้านช่องแมวได้เป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน จากการต่อยอดไปสู่การดำเนินการเรื่องของสุขภาพของโรงเรียน ก็ได้รับการประเมินเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรและโรงเรียนต้นแบบนักเรียนไทยสุขภาพดีอีกด้วย รวมถึงการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) จากฐานการเรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก การรีไซเคิล เพื่อปลูกฝังนักเรียนในการคัดแยกขยะหรือสิ่งที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน และฐานการเรียนรู้ในด้านคุณธรรม เป็นการนำวิถีชีวิตของชุมชน มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับนักเรียน โดยมีการเสริมในเรื่องของความมีระเบียบวินัยเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ ในการทำกิจกรรมก็มีการสอดแทรกเนื้อหาสาระการเรียนรู้เข้าไปด้วย เช่น สังคมศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ ซึ่งจะมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 เป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรม เพราะมีความเข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนให้พี่ๆ จะเน้นการเรียนรู้พื้นฐาน ก่อนที่จะลงไปสัมผัสกับฐานการเรียนรู้ ยังไม่ถึงกับลงมือปฏิบัติจริง
ในการเรียนรู้กับชุมชนนั้น นายอุดม กล่าวว่า จะมีการศึกษาดูงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนอยู่สม่ำเสมอ ทั้งยังมีผู้รู้ในชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นประมงอำเภอ เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ เข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจในแขนงต่างๆ อีกทั้งผู้ใหญ่บ้าน และผู้ปกครองก็เข้ามาให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ซึ่งแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่เน้นไปที่การปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการทำไร่นาสวนผสม ซึ่งเป็นทั้งสวนผัก สวนผลไม้ และการขุดร่องน้ำเพื่อใช้ในการรดน้ำต้นไม้และเลี้ยงปลาควบคู่กัน บนที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ของผู้ใหญ่บ้าน โดยมีผู้ปกครองที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้ามาช่วยเหลือและใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว เป็นการร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ไปในตัว
จากการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืนนั้น ทำให้นักเรียนและผู้ปกครอง เกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อโรงเรียนมากขึ้น วัดได้จากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่นายอุดม เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านช่องแมวซึ่งจากเดิมมีนักเรียนจำนวน 125 คน และปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจำนวนมากถึง 330 คน อีกทั้งยังพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบและระเบียบวินัยมากขึ้น มีความกล้าแสดงออก หากใครเข้ามาในโรงเรียนก็สามารถสนทนาโต้ตอบได้ และจากการที่นักเรียนมีทักษะอาชีพติดตัว สามารถสร้างรายได้เสริมเล็กๆน้อยๆ และเมื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ภายในครอบครัวก็ได้ผลดี ซึ่งโรงเรียนมีการนำนักเรียนส่งเข้าประกวดในโครงการครัวโรงเรียน สู่ครัวบ้าน อันเป็นโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มุ่งส่งเสริมนักเรียนในด้านเกษตรกรรมที่ปลอดภัย นำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนไปทำต่อที่บ้านได้ มีนักเรียนได้รับรางวัลในทุกปี ซึ่งเป็นที่นายอุดม รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก และสำหรับนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของนักเรียนเรียนรู้ช้า พบว่า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความสามัคคีและอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้ดีขึ้น มีความชอบและมีจิตใจร่าเริงเมื่อได้ลงมือทำกิจกรรม
นายอุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปนั้น คือ การพัฒนาและยกระดับในเรื่องของคุณภาพการเรียน ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหานี้ให้ได้นั้น เป็นโจทย์ที่จะต้องค้นหาคำตอบต่อไป
ถึงแม้โรงเรียนบ้านช่องแมว จะเป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย และมีอัตราการแข่งขันทางการศึกษาสูง แต่ด้วยการขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพ การส่งเสริมทักษะอาชีพที่สอดรับกับชุมชน ซึ่งยืนยันด้วยรางวัลและการได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย อันเกิดจากการต่อยอดกิจกรรมศาสตร์พระราชา ที่สามารถบูรณาการการเรียนรู้ได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือผลิตผลจากการปลูกผักสวนครัว สู่การประกอบอาหารกลางวันที่สะอาดปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถนำความรู้และจิตสำนึกที่ดีออกจากโรงเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สิ่งที่งอกงามคือผลแห่งความสำเร็จนี้ จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนและผู้ปกครองเป็นอย่างดี เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะมีอุปสรรคหรือข้อจำกัด หากลงมือทำด้วยใจที่มุ่งมั่น ค้นหาคำตอบให้กับโจทย์ปัญหาอย่างเหมาะสมกับบริบท เชื่อว่าพลังเล็กๆนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงและนำพาไปสู่ความสำเร็จมากกว่าหลายเท่าเป็นแน่
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้สัมภาษณ์ / ผู้เขียน : นายประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายอุดม ชูอ่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านช่องแมว
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์