ผลการประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

27 สิงหาคม 2020

การประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารงบประมาณเมื่อวันที่ ครั้งที่ 1/2563 วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563  ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 10 เวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์  พะเนียงทอง ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารงบประมาณ เป็นประธานการประชุมครั้งนี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้านการส่งเสริมการบริหารงบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีทั้งหมด 6 คณะ ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับอนุกรรมการชุดนี้จำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย

  1. เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษานำร่องสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา การส่งเสริมประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารงานงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การรับและการใช้จ่าย เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง ต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา                         
  2. กลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  3. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามอบหมาย

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ วันนี้ได้มีมติเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานของอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งสามารถสรุปได้ 4 ประเด็น ดังนี้

1. จัดทำข้อเสนอเพิ่มงบเงินอุดหนุนเพื่อการวิจัย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้แก่สถานศึกษานำร่อง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงในการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนานวัตกรรม

ในประเด็นนี้ ประธานอนุกรรมการได้เสนอให้มีการกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ วิธีการ สูตรในการคำนวณการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษานำร่องนั้น ควรมีตัวเลขกลางที่ชัดเจนที่เป็นฐานในการจัดสรรงบประมาณที่มีความเหมาะสม เพียงพอให้แก่สถานศึกษานำร่อง จากนั้นได้เปิดให้ที่ประชุมร่วมกันอภิปราย และเห็นร่วมกันว่าควรมีการลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาข้อมูลของจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกประเภทที่มีความแตกต่างกัน เพื่อให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงจริงของแต่ละพื้นที่ แต่ละสถานศึกษานำร่อง และประเด็นการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขกลาง ซึ่งอาจจะประกอบด้วย 3 ตัวเลข คือ ตัวเลขที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามจริง ตัวเลขของการจัดสรรงบประมาณที่ควรจะได้รับ ณ เวลานี้ และตัวเลขพึงประสงค์หรือตัวเลขที่มีความเป็นไปได้ ที่ประชุมมี มติร่วมกันในประเด็นนี้ คือ

  1. ให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ ดังนี้
    1. เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 1 คน
    2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน
    3. เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 1 คน
    4. เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 1 คน
    5. นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จำนวน 1 คน
  2. ให้คณะทำงานดำเนินการจัดเตรียมการลงพื้นที่
  3. ให้คณะทำงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขกลางที่มีความเหมาะสม ใกล้เคียงความเป็นจริง และกำหนดกรอบระยะเวลาการศึกษาวิจัยซึ่งต้องไม่เร็วหรือช้าเกินไป โดยคณะทำงานดำเนินการศึกษาวิจัย ยกร่างและนำเสนอต่ออนุกรรมการของคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการบริหารงบประมาณเพื่อให้ความเห็นชอบ
2. กำหนดระเบียบการรับและใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาให้สถานศึกษานำร่องสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในประเด็นนี้ ประธานอนุกรรมการเสนอให้การร่างระเบียบการรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่องที่เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการรับฟังจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อจากนั้น ได้เปิดให้ที่ประชุมร่วมกันอภิปราย และเห็นร่วมกันว่าการร่างระเบียบนี้ควรมีบุคคลากรจากหน่วยงานตรวจสอบภายในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างระเบียบการรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่องที่เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการร่างระเบียบนั้นมีครอบคลุมและเหมาะสมเพิ่มขึ้น ในที่ประชุมมี มติที่ประชุมร่วมกัน คือ

ให้คณะทำงานประสานงานกับหน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกร่างระเบียบการรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่องที่ โดยให้มีการระบุให้ชัดเจนว่าสถานศึกษานำร่องในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องนำเงินบริจาคที่เหลือจ่ายเมื่อสิ้นปีงบประมาณส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดิน และกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานร่างระเบียบเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการประชุมครั้งที่ 2/2563 ให้ประกาศใช้ระเบียบตามมาตรา 29

3. การประสานงานกับกระทรวงการคลังให้สามารถกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษานำร่องทั้งหมดหรือบางส่วนเองได้

ในประเด็นนี้อนุกรรมการ เสนอว่าให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้ร่างระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษานำร่อง ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจัดตั้งคณะทำงานการร่างระเบียบนี้ โดยภารกิจหน้าที่ของคณะทำงานในคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการบริหารงบประมาณคือการรวบรวมข้อมูล ประเด็นที่จะทำให้มีความคล่องตัวขึ้นของระเบียบที่ต้องการจะให้มีการปลดล็อกส่วนใดหรือแก้ไข เพิ่มเติม และให้เสนอต่อกรมบัญชีกลางร่างระเบียบให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมบัญชีกลางมีคณะกรรมการที่มีความชำนาญการร่างระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง และที่ประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็นร่วมกันพร้อมกับมีมติ ดังนี้

  1. ให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูล ประเด็นปัญหา อุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับกรมบัญชีกลางในการร่างหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษานำร่อง ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐของสถานศึกษานำร่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  2. ให้จัด Focus Group และดำเนินการยกร่างระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษานำร่อง ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ
4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้สถานศึกษานำร่องโดยความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ

ในประเด็นนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ้งได้ข้อสรุปว่าควรตั้งกรรมการจัดทำ TOR โดยมีคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการบริหารงบประมาณเป็นเลขานุการ ให้ทันต่อการของบประมาณปี 2565 การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาหลักสูตร โดยเฉพาะการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะอาชีพได้ หากมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้แหล่งเรียนรู้ดังกล่าวและหน่วยงานใกล้เคียงจะมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาผู้เรียนช่วยโรงเรียน ถือเป็นการเปิดแหล่งเรียนรู้ให้กว้างขึ้น จากการอภิปรายจึงนำสู่มติที่ประชุมร่วมกัน คือ

ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมการจัดทำ TOR โดยมีคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการบริหารงบประมาณเป็นเลขานุการ ในการการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้สถานศึกษานำร่องนำนวัตกรรมการศึกษานำไปพัฒนานวัตกรรม


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
ประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2563
บทความล่าสุด