สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 กับการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

27 มกราคม 2021

ดร.วันชัย บุญทอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 มีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสพป.ศก.4 ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ทั้งด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้กำหนดเป็นคำขวัญสั้นๆ ที่คม ชัด ลึก และจดจำได้ง่ายว่า “สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 สร้างคุณภาพด้วยนวัตกรรม สร้างเขตชั้นนำด้วยมือเรา” และในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษนั้น ได้กำหนดแนวทางไว้ว่า “สานต่อนวัตกรรมเดิม เพิ่มเติมนวัตกรรมเชิงพื้นที่” นวัตกรรมดังกล่าวต้องช่วยให้การจัดการเรียนรู้เกิดผลดี มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม อาจเป็นนวัตกรรมด้านหลักสูตร ด้านการเรียนการสอน ด้านสื่อการสอน ด้านการประเมินผล หรือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 (3. ด้านคุณภาพ ข้อ 3.2 และ 4. ด้านประสิทธิภาพ ข้อ 4.1 และข้อ 4.5)

สานต่อนวัตกรรมเดิม หมายถึง นวัตกรรมที่มีการทดลองและพัฒนาจนเป็นที่น่าเชื่อถือ มีพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ได้รับการยอมรับ จำนวน 7 นวัตกรรม ซึ่งโรงเรียนนำร่องการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ในสังกัดสพป.ศรีสะเกษ เขต 4 จำนวน 38 โรงเรียน ได้นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
เพิ่มเติมนวัตกรรมเชิงพื้นที่ หมายถึง นวัตกรรมใหม่ที่โรงเรียน จำนวน 171 โรงเรียนคิดค้นพัฒนาขึ้นเอง หรืออาจเป็นนวัตกรรมเก่าหรือนวัตกรรมใหม่ที่นำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถพิสูจน์ยืนยันคุณภาพได้ด้วยการวิจัยในชั้นเรียน อาจเป็นนวัตกรรมของครู ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผอ.สพป.ศก.4 ศึกษานิเทศก์ ก็ได้

สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 มีบทบาทหน้าที่ต้อง ช่วยเหลือโรงเรียนนำร่องฯ และโรงเรียนอื่นๆ เชียร์ เป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา กระตุ้น ให้กำลังใจโรงเรียนนำร่องฯ เชื่อมประสานการทำงานหน่วยงานต่างๆ และภาคีเครือข่าย ชงข้อเสนอปลดล็อก และชักชวนโรงเรียนอื่นๆ ให้สมัครเข้าเป็นโรงเรียนนำร่องฯ เพื่อให้การขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาของสพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ดร.วันชัย บุญทอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 จึงได้จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ เช่น ประชุมชี้แจงบุคลากรทุกคนของสพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ประชุมชี้แจงประธานกลุ่มโรงเรียน ประชุมสัญจรและนิเทศเครือข่ายกลุ่มโรงเรียน (ผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียน) โดยให้โรงเรียนของแต่ละกลุ่มโรงเรียนได้นำเสนอผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ตามความสมัครใจในหลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการ คลิปวีดิทัศน์ Power Point เป็นต้น จำนวน 10 กลุ่มโรงเรียน ดังนี้

หมายเหตุ โรงเรียนนำร่องฯ หมายถึง โรงเรียนนำร่องการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ระหว่างปีการศึกษา 2562-2563

จากการสอบถามผู้เข้าร่วมการประชุม ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน และนักเรียนบางส่วนพบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการจัดประชุมในระดับดีมาก เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ และมีข้อเสนอแนะที่จะให้จัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นที่สำคัญคือ โรงเรียนทุกโรงได้มีโอกาสนำเสนอผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)

หลังจากนี้ไป สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 จะร่วมมือกันกับโรงเรียน และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาบุคลากรวิถีใหม่โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน นิเทศวิถีใหม่โดยใช้ห้องเรียนเป็นฐาน พัฒนารูปแบบนวัตกรรมแต่ละโรงเรียน สำรวจนวัตกรรมของโรงเรียน สังเคราะห์นวัตกรรม และสรุปรายงาน จัดทำเป็นรูปเล่มเผยแพร่ต่อไป


ผู้เขียน: มานิต สิทธิศร
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: มานิต สิทธิศร

Facebook Comments
ชำนาญ สามัคคี “สะท้อนคิด สู่การปรับเปลี่ยนชั้นเรียน”สรุปผลการจัดเวทีรับฟัง… การกำหนดหลักเกณฑ์ความพร้อมของจังหวัดในการเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใหม่
บทความล่าสุด