สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับบทความ 30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ครั้งนี้เป็นบทสัมภาษณ์จาก ดร.มุคลิส คอลออาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปงตา หนึ่งในสามสิบโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาที่ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน PTS Model เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมืปฏิบัติด้วยตนเองและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายต่อผู้เรียน อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม PTS Model ยังช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
จุดเริ่มต้นเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง
จากการขอสัมภาษณ์ ผอ.มุคลิส คอลออาแซ เกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ ต้องการพัฒนาผู้เรียนจากการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองในสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียน เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ตนสนใจ
หนทางสู่ความสำเร็จ
โรงเรียนบ้านปงตาได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและเป็นโค้ชในการฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการสอนโดยใช้โครงงานฐานวิจัย และกระบวนการสอนบ้านวิทยาศาสตร์น้อยให้กับทางโรงเรียน พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน เข้ามานิเทศตติดตามการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรม PLC ทุกสัปดาห์เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและเพื่อความมั่นใจว่านักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง นอกจากนี้ทางโรงเรียนได้เลือกกใช้การสอนภาษาโดยการใช้ท่าทางสำหรับการเริ่มต้นเรียนภาษา (TPR) สำหรับนักเรียนอนุบาล 1-3 เนื่องจากบริบทของพื้นที่ที่นักเรียนอาศัยอยู่ใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสาร แต่เมื่อเข้ามาในโรงเรียนครูใช้ภาษาไทยในการสื่อสื่อสารเนื่องจากเป็นภาษากลาง เพื่อนักเรียนสามารถเข้าใจภาษาไทย จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารให้แก่ผู้เรียน ให้สามารถพูดสื่อสารอย่างรู้ความหมาย เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้รายวิชาอื่นๆต่อไปในอนาคต
รูปแบบการสอนโรงเรียนบ้านปงตา (PTS Model)
โรงเรียนบ้านปงตาได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน PTS Model เพื่อพัฒนาผู้เรียนผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายและเกิดทักษะศตวรรษที่ 21 สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และอนาคตสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ โดยพัฒนาตามอักษร PTS แบ่งออกเป็นสามลักษณะและแบ่งตามช่วงชั้นดังนี้
1. P (Project Based Learning: PBL) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 4-6 เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งการสร้างองค์ความรู้ แนวคิด มโนทัศน์ของผู้เรียนนั้นเป็นกระบวนการทางปัญญา เกิดขึ้นภายในสมองของผู้เรียนแต่ละคน โดยผ่านประสบการณ์ สิ่งกระตุ้นข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เรียนนั้นได้สัมผัส คิดหรือลงมือกระทำ ทั้งนี้ ประสบการณ์ที่ผู้เรียนดำเนินการผ่านโครงงาน เป็นฐานการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ผู้เรียนต้องสืบเสาะ สืบค้น ปฏิสัมพันธ์ คิด ลงมือปฏิบัติ พูดคุย แลกเปลี่ยน และนำเสนอ การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานยังช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยกระบวนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัยที่โรงเรียนดำเนินการเรียนรู้ผ่านหน่วยการเรียนรู้ 5 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยเตรียมความพร้อม หน่วยสำรวจชุมชน หน่วยสร้างโจทย์และออกแบบ หน่วยเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ และหน่วยสรุปผลและนำเสนอ และขับเคลื่อนด้วยแผนการสอน 4 ขั้นตอน ขั้นกิจกรรมจิตปัญญาและคุณธรรม ขั้นให้หลักคิดและหลักความรู้ ขั้นปฏิบัติสร้างองค์ความรู้ในตนเอง และขั้นถอดบทเรียน ซึ่งผลการใชนวัตกรรม 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่เกิดกับผู้เรียนและเห็นได้ชัดเจนคือ ผู้เรียนมีความกล้าแสดงออก มีความสามารถในการพูดสื่อความหมาย มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และมีความรักชุมชน
- กิจกรรมจิตปัญญา
- กิจกรรมหาสาเหตุของปัญหาโดยใช้แผนผังก้างปลา
- ปฏิบัติสร้างองค์ความรู้ในตนเอง
- กิจกรรมเปิดบ้านพื้นที่นวัตกรรม
- จัดกิจกรรมให้เอื้อต่อความหลากหลายของผู้เรียน
2. T (Total Physical Response: TPR) การสอนภาษาโดยการใช้ท่าทางสำหรับการเริ่มต้นเรียนภาษา สำหรับนักเรียนอนุบาล 1-3 เพื่อให้นักเรียนเข้าใจภาษาและสามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากบริบทของพื้นที่นักเรียนใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสาร ซึ่งครูผู้สอนระดับอนุบาลจะใช้นวัตกรรมนี้ในการสื่อสารกับนักเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารของนักเรียน ซึ่งนวัตกรรมนี้จะมีหลายระดับ โดยจะเริ่มเรียนจากระดับง่ายไปยังระดับที่ยากขึ้น มี 4 ระดับ ดังนี้
- TPR-B (Total Physical Response-Body) เป็นการสอนโดยใช้คำสั่งที่มีคำศัพท์ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Body Movement)
- TPR-O (Total Physical Response-Objects) เป็นการสอนโดยใช้คำสั่งที่มีคำศัพท์ที่เป็นสิ่งของ (Objects)
- TPR-P (Total Physical Response-Picture) เป็นการสอนเกี่ยวกับการออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ
- TPR-S (Total Physical Response-Story telling) เป็นการสอนภาษาโดยการเล่าเรื่อง
ตัวอย่างกิจกรรม
- การสอนโดยใช้คำสั่งที่มีคำศัพท์ที่เป็นสิ่งของ (Objects)
- การสอนเกี่ยวกับการออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ
3. S (Scientist house) กระบวนการสอนแบบบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อผู้เรียนมีทักษะทางวิทยาศาสตร์ จึงพัฒนาการการสอนไปสู่การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ อันเป็นเครื่องมือช่วยสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ฝึกกระบวนการคิดตามหลักการของงานวิจัย เพื่อบ่มเพาะทักษะและเจคติทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ รู้จักสังเคราะห์ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วยเอง
ตัวอย่างกิจกรรม
- การทดลองภูเขาไฟระเบิด
- การทดลองระฆังดำน้ำ
- การทดลองความลับของสีดำ
- การทดลองเนินน้ำ
- การทดลองการละลายของน้ำตาล
ความเปลี่ยนแปลงหลังเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง
- ผู้บริหาร
ผู้บริหารใช้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการบริหารโรงเรียนเนื่องจาก PTS Model เป็นสิ่งใหม่สำหรับครูในโรงเรียน โดยการเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่นี้ให้ครู จูงใจให้ครูเกิดแรงบันดาลใจในการในนวัตกรรม เปนผู้ไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิด ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมครู ที่สำคัญคือเข้าใจความแตกต่างของครูส่งผลให้มอบหมายงานได้ตรงตามความสามารถของครู - ครู
ครูเปลี่ยนจากบทบาทผู้บรรยาย มาเป็นผู้วางแผนการจัดการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียน และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดบรรยากาศให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง - นักเรียน
นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อันก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต - ชุมชน
ชุมชนเข้ามามีบทบาทกับการจัดการเรียนการสอน เช่น เป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาให้ความรู้แก่นักเรียน ผู้ปกครองสนับสนุนวัสดุในท้องถิ่นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
ส่งท้าย…สู่เป้าหมาย
ในการพัฒนาสถานศึกษานำร่องสู่เป้าหมายโรงเรียนบ้านปงตา ได้ขับเคลื่อนมาแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งยังต้องอาศัยแรงของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตพื้นที่ต้นสังกัด คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง ทั้งด้านการบริหารจัดการสถานศึกษาในเรื่อง งบประมาณ การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษานำร่อง การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงในด้านวิชาการ การสร้างการมีส่วนร่วมในจังหวัด เพื่อเป็นแรงและกำลังให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาสู่ความสำเร็จการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านปงตา จะเป็นอย่างไรในปีการศึกษา 2564 โปรดติดตามต่อไป และจะนำเสนอบทความที่น่าสนใจของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาในหัวข้อ “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา” บทความถัดไป
ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์
ผู้ให้สัมภาษณ์: มุคลิส คอลออาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปงตา
ผู้สัมภาษณ์: อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านปงตา