โรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง ตำบลบ้านปล้อง อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ มีการดำเนินการการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนได้ใช้นวัตกรรม 3 นวัตกรรม ดังนี้
1. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – Based Learning)
“การสร้างปัญญาภายนอก” เป็นกระบวนการจัดเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อต้องการให้ผู้เรียนได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้ศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการทำงาน การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ตลอดจนทักษะการสื่อสารโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้เก่าความรู้เดิมที่มีผู้คิดค้นไว้แล้ว (K3) มาสังเคราะห์เพื่อได้ความรู้ใหม่ (K2) สร้างโอกาสให้เกิดนวัตกรรม
2. การพัฒนาผู้เรียนแบบจิตศึกษา
คือ การพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน ซึ่งเรียกว่า “การสร้างปัญญาภายใน” โดยเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเรียนในภาคเช้า ใช้เวลาประมาณ 20 – 25 นาที เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ และการให้เด็กปล่อยวางปัญหาทั้งหมด โดยที่ครูจะเป็นผู้นำในการเชื่อมความคิดของเด็กให้มาอยู่ในจุดเดียวกัน โดยใช้ทักษะและสื่อ เข้ามาช่วยให้เกิดความเข้าใจ ความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การทำให้ผู้เรียนเกิดความผ่อนคลายก่อนการเรียนด้วยการฟังเพลงสปา ให้ทุกคนค่อยๆหลับตา ฟังเพลง แล้วครูผู้สอนตั้งคำถามกับทุกคน ว่ารู้สึกอย่างไร ซึ่งนักเรียนทุกคนจะมีความรู้สึกต่างกัน โดยถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งความคิดเห็นของผู้เรียนทุกคนมีคุณค่าในแต่ละคน ทุกคนจะได้เรียนรู้ความรู้สึกของคนอื่น เมื่อเกิดความคุ้นชินก็จะเกิดการเรียนรู้ และเกิดเข้าใจความคิดของผู้อื่น สามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับทุกสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัว
3. การพัฒนาบุคลากร PLC (Professional Learning Community)
คือ การรวมตัว ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมทำและร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร รับฟังด้วยความเคารพ นำเสนอด้วยความรับผิดชอบ และเคารพต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เรียนรู้จากปัญญาปฏิบัติของกันและกัน สู่คุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่ เน้นความสำเร็จหรือประสิทธิผลของผู้เรียนเป็นสำคัญและความสุขของการทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ โรงเรียนได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของครูเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวง PLC แต่ละสัปดาห์ ดังนี้
ซึ่งทั้ง 3 นวัตกรรมนั้นคือการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั้งระบบของโรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องมีความเชื่อมโยง เกื้อหนุนกันเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการของนวัตกรรมการศึกษานี้
การที่โรงเรียนบ้านหญ้าปล้องนำนวัตกรรมทั้ง 3 เข้ามาดำเนินการในส่วนการจัดการเรียนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกับตัวผู้เรียนที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตัวผู้เรียนมีคุณลักษณะที่เปลี่ยนไป มีความเป็นนักเรียนรู้มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้เรียนมีความละเอียดในการทำงานเพิ่มมากขึ้น สร้างผลงานได้ในหลากหลายมิติ โดยผลงานของผู้เรียนก็ไม่ได้เน้นไปที่การทำแบบฝึกหัด แต่เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามจินตนาการของผู้เรียน จึงได้เห็นความแตกต่างและความหลากหลายในผลงานของผู้เรียนและตัวผู้เรียนเองก็มีความอ่อนโยนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนผลสัมฤทธิ์ของครูผู้สอนนั้น คือ ครูผู้สอนจะเป็นผู้จัดการเรียนรู้มากขึ้น ไม่เพียงแค่สอนอย่างเดียวแต่จะเป็นผู้อำนวยการ การเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งการเรียนการสอนภายในโรงเรียนบ้านหญ้าปล้องก็มีความแตกต่างจากเดิม เช่น ตารางเรียนไม่มีการแยกเป็นรายวิชาจะใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการ แต่ก็คงยังมีการเน้นในส่วนวิชาที่มีการสอบวัดผล O-NET
จากการใช้นวัตกรรมการศึกษานั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง นายเอกอมร ใจจง มองเห็นถึงผลสัมฤทธิ์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ คือการที่คะแนนสอบวัดผลของการสอบ O-NET มีผลคะแนนที่ค่อยๆดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นผลจากการที่ผู้เรียนมีความสุข มีความสร้างสรรค์ในการเรียนจึงส่งผลให้ผลสอบที่ดีขึ้นจากการที่ผู้เรียนมีการเรียนรู้ที่มากขึ้น
โรงเรียนบ้านหญ้าปล้องมีแผนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาสำหรับภาคเรียนหน้า คือ การพัฒนา/เพิ่มเติมความชำนาญของครู โดยที่ครูผู้สอนต้องออกแบบการเรียนการสอน แผนการใช้นวัตกรรมการศึกษา รวมถึงมีแผนสำหรับการวางแผนร่วมกันกับโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาตัวเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มโรงเรียนโดยที่มีจำนวน 8 โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันและมีจำนวน 24 โรงเรียนในจังหวัดศรีสะเกษ โดยจะมีการเรียนรู้ร่วมกัน ให้มีการวางแผน การสังเกตการเรียนการสอน การมีการสะท้อนผล (Reflection) ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความชำนาญ ความเป็นมืออาชีพให้ครูผู้สอนมากขึ้นในการจัดการเรียนการสอน
ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, เอกอมร ใจจง
ผู้ให้สัมภาษณ์: เอกอมร ใจจง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: เอกอมร ใจจง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง จังหวัดศรีสะเกษ