เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มีการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference ของผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความเข้าใจในการเตรียมการวางแนวทางในการบริหารจัดการการศึกษาในภาวะวิกฤตโควิด-19 และชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการแผนงานงบประมาณ การบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคคล และการบริหารทั่วไปในด้านต่าง ๆ โดยเลขาธิการ กพฐ. รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ที่ปรึกษา สพฐ.
ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ประชุมพูดคุยกับคณะทำงานของเขตพื้นที่ อาทิ ศึกษานิเทศก์ กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา ให้พิจารณางานโครงการใด ๆ ที่จะลงไปทับซ้อนในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาเป็นพิเศษ อาทิ โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนขนาดเล็ก Stand Alone โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ให้พิจารณาเป็นการเฉพาะ ดูเป็นพิเศษ ไม่ต้องการให้งานโครงการต่าง ๆ เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรในโรงเรียนเหล่านี้มากจนเกินไป แต่หากพิจารณาแล้วว่างานหรือโครงการที่จะลงไปยังโรงเรียนเหล่านี้ ไม่เป็นภาระ แต่เป็นการสนับสนุนส่งเสริมในวัตถุประสงค์ของโรงเรียนแต่ละกลุ่มดังกล่าว และเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็อาจดำเนินการได้ ทั้งนี้ เพื่อหนุนเสริมให้เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน ที่ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมนั้น สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ต่อเนื่อง
“ ฝากท่านผู้อำนวยการเขตได้ดูแลโรงเรียนต่อไปนี้ ขอให้ไปเยี่ยมไปเยือน ไปสำรวจตรวจสอบ โรงเรียนต่อไปนี้ คือ โรงเรียนขนาดเล็กเจ็ดพันกว่าโรงที่ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ โรงเรียน stand alone ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์หรือด้านคุณภาพ จะต้องเข้าไปดูแลไม่ทอดทิ้ง โรงเรียนประชารัฐเป็นโรงเรียนเป้าหมายของรัฐบาล โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลเป็นโรงเรียนที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. จะสนับสนุนเป็นพิเศษ ให้เป็นโรงเรียนแม่เหล็ก ให้บริการประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้อย่างมีคุณภาพ และสุดท้ายคือ โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด หลายเขตพื้นที่ประถม หลายเขตพื้นที่มัธยม และเกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนในสังกัดอื่น ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนท้องถิ่นด้วย ….ผมฝากโรงเรียนที่มีชื่อต่อไปนี้ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม ขอท่านผู้อำนวยการเขตลองคุยกับศึกษานิเทศก์ดูว่า โครงการใด ๆ ที่จะลงไปทับซ้อนกับโรงเรียนเหล่านี้ ขอท่านพิจารณาเป็นการเฉพาะว่าจะไปทำให้เป็นภาระมากจนเกินไปกับโรงเรียนของเขาหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่หนุนเสริมกันและกัน ก็ขอให้เติมเต็มเข้าไปได้ แต่อะไรที่ไปคนละทางพอสมควร …ฝากท่านดูแลเป็นพิเศษนะครับ ” – ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
จากนโยบายที่รองเลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 31 เขตพื้นที่ ที่อยู่ในจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นพิเศษ ก่อนมอบหมายงานโครงการต่าง ๆ ให้โรงเรียนปฏิบัติหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่สถานศึกษานำร่องต้องดำเนินการหรือร่วมดำเนินการในโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจใดที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 หรือส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน อยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษานำร่องแจ้งต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อขอยกเว้นไม่ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการในโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจนั้น ทั้งนี้ หากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาแล้ว เห็นควรยกเว้นก็มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจนั้น” และสอดคล้องกับมาตรา 33 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่หน่วยงานใดมีความประสงค์จะดำเนินการโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจใด ซึ่งให้สถานศึกษานำร่องเป็นผู้ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการ ให้หน่วยงานนั้นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนก่อนดำเนินการ”
จะเห็นได้ว่า ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้วางกลไกไว้ เพื่อปกป้องไม่ให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีภาระงานจากภายนอก มากระทบการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีกรอบเวลาดำเนินการอย่างหวังผล ภายใน 7 ปี โดยการมีส่วนร่วมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและทุกภาคส่วนในพื้นที่
ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
แหล่งข้อมูล: OBEC Channel https://youtu.be/8p-osb7HizQ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์