โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น – ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีจำนวนครูทั้งหมด 129 คน และมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2422 คน โดยมีนางกฤตติกา เบญจมาลา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยบริบทของโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยานั้น ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อมเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ผู้ปกครองประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำสวน ประมง เป็นต้น
จากปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรกที่โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาได้เริ่มต้นเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมผอ.กฤตติกา เบญจมาลา ได้เท้าความว่า ท่านย้ายมาประจำตำแหน่งผู้อำนวยการที่โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นการสานต่องานจากผอ.ท่านเดิม และผอ.มีความตั้งใจที่จะพัฒนาและสานต่องานตาม School Concept คือ Innovation For Life หรือนวัตกรรมเพื่อชีวิต ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ให้นักเรียนได้รู้จักคิด และนำความรู้มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเร่งเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูและบุคลากร เพื่อให้ครูทุกท่านได้มีความตระหนัก และพร้อมที่จะให้ความรู้สู่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้ออกมาเป็นชิ้นงานนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดและนำมาใช้ได้จริง
การจัดการเรียนการสอน โรงเรียนใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integration) ในการพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่างๆของผู้เรียนไปพร้อมๆกัน ทั้งด้านเนื้อหาและวิธีการ มุ่งเน้นการพัฒนารอบด้านหรือการพัฒนาเป็นองค์รวม และการจัดการเรียนการสอนแบบ IS (Independent Study) หรือการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการสอนด้วยการนำความรู้ที่เรียนมาจัดทำเป็นโครงงาน เพื่อที่จะได้นำเสนอหรือเผยแพร่ผลงานของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยานั้นดำเนินการภายใต้ School Concept คือ Innovation For Life หรือนวัตกรรมเพื่อชีวิต
โดยจัดการเรียนการสอนเน้นแบบบูรณาการทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้นำคำว่า “บ้านฉางบ้านฉัน” เป็นตัวเชื่อมโยงบริบทของชุมชนเข้ากับการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระ โดยใช้กลุ่มสาระสังคมเป็นฐาน เพื่อนักเรียนจะได้รู้ถึงวิถีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นตนเองว่าเป็นอย่างไร และนำข้อมูลไปบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆต่อไป เพื่อนำเสนอและสามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพในชุมชน หรือส่งเสริมพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ต่อไป และในปีการศึกษา 2563 นี้ ได้มีการประชุมวางแผนในครูมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่องการปรับปรุงเพิ่มเติมความเข้มข้นของหลักสูตรและต่อยอดการเรียนรู้จาก “บ้านฉางบ้านฉัน” ที่เคยเรียนมามากยิ่งขึ้น และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เข้าศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2563 ทางโรงเรียนได้วางแผนปรับปรุงเพิ่มเติม โดยทำเป็นห้องเรียนที่ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน นักเรียนที่ไม่ถนัดทางวิทย์ – คณิตจะจัดให้เข้าห้องเรียนด้านภาษา เนื่องจากปีการศึกษา 2563 นั้นโรงเรียนได้วางแผนเน้นทักษะด้านภาษาเพิ่มมากกว่าปกติ จากเดิมมีแค่ภาษาจีนเป็นภาษาที่3 ก็ได้เปิดห้องเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่ม เพื่อทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้เปิดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษ MEP (Mini English Program) อย่างเป็นทางการเป็นปีแรก เพื่อพัฒนาและส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเป็นพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวและเขตอุตสาหกรรม
แนวทางการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนเป็นผู้กำหนดแนวทางและกิจกรรม ซึ่งจะมีการจัดการประชุมชี้แจงผู้ปกครองและนักเรียนในการจัดการเรียนการสอน โดยนักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมและได้ศึกษาเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งสิ่งที่โรงเรียนต้องการมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียน คือการมีส่วนร่วม ฝึกกระบวนการคิด และให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ต่อไป
ผลที่เกิดขึ้น
ด้านผู้เรียน ให้ความร่วมมือและมีผลการตอบรับเป็นอย่างดี นักเรียนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น จับกลุ่มแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งนักเรียนมีการรับฟังและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
ด้านครูผู้สอน ต้องมีความเข้าใจในกระบวนการและพร้อมให้ความร่วมมือ ครูต้องเตรียมความพร้อมเป็นอย่างมาก และต้องกระตุ้นติดตามนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ส่งเสริมและให้การสนับสนุน
โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยายังมีงานสวนพฤกษศาสตร์เป็นจุดเด่นของโรงเรียน ซึ่งได้รับเกียรติบัตรขั้นที่ 1 และมีโรงเรียนอื่นได้เดินทางมาศึกษาดูงานเรื่องสวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาบ้างแล้ว ซึ่งทางโรงเรียนได้นำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนบูรณาการสู่การเรียนการสอนโดยจัดคาบสุดท้ายของวันพุธให้นักเรียนทุกคนทุกระดับชั้นได้เรียนเรื่องสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับนักเรียนในการอนุรักษ์ธรรมชาติและพรรณไม้
อุปสรรคปัญหา สิ่งที่มักเกิดขึ้น คือการจัดเวลา ตารางเรียน ต้องต่อเนื่องในแต่ละกลุ่มสาระตามที่ได้มีการวางแผนไว้ เพื่อให้เนื้อหาเป็นไปตามลำดับ และครูผู้สอนในช่วงที่ตรงวันหยุดในรายวิชาของตนเองต้องติดตามและให้ความสำคัญในการสอนนอกเวลา ทางโรงเรียนมีประชุม เพื่อติดตามงาน กระบวนการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยานั้นทำอย่างเป็นระบบ และสม่ำเสมอ จึงสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นได้
กิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
การจัดเวทีการนำเสนอผลงานนักเรียนโดยการจัดการเรียนการสอนแบบ IS (Independent Study) ในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล
การนำเสนอผลนักเรียนในการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรม ของนักเรียนชั้น ม.1 (บ้านฉางบ้านฉัน) ปีการศึกษา 2562
ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: กฤตติกา เบญจมาลา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา