นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ “4 จ ส ท”
เพื่อแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษตั้งอยู่ในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท เป็นสถานศึกษาประเภทอยู่ประจำจัดตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์เด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา และเด็กกำพร้าเนื่องจากบิดา-มารดาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ การจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กด้อยโอกาส ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพโดยครูมืออาชีพ แต่เนื่องจากทางโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จะรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการและพื้นที่ใกล้เคียง นักเรียนจะใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลักนักเรียนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก เขียน ไม่ถูกต้อง และบางส่วนอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาไทย และวิชา อื่นๆ และยังส่งผลกระทบต่อการประเมินผล NT และ O- NET ของนักเรียนกลุ่มดังกล่าวซึ่งลดต่ำลงไปด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ถูกต้อง และอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่องของนักเรียน ทางโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จึงได้พัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
ดำเนินพัฒนาการอ่านการเขียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ตามขั้นตอน “นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท” ดังต่อไปนี้
1. “4 จ รู้แจ้งการอ่านการเขียน”
เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามจุดเน้น ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ให้นักเรียนสามารถ อ่านออก เขียนได้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ สามารถรู้และเข้าใจการอ่านอย่างต่อเนื่อง และมีความรู้สึกนึกคิด จินตนาการเกี่ยวกับการเขียน โดยใช้วิธีการ ดังนี้
- จ แจ้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ โดยการสอนนักเรียนให้รู้จักพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์โดยการ ท่องพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ก่อนเริ่มเรียนวิชาภาษาไทย
- จ แจกลูกสะกดและผันเสียง โดยการฝึกให้นักเรียนอ่านสะกดแจกลูกคำและผันเสียง โดยสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น สื่อมัลติมีเดีย CAI 10 นาที
- จ จำ อ่าน จำเขียน โดยการให้นักเรียนฝึกอ่านคำพื้นฐานและเขียนตามคำบอกลงในสมุดวันละ 10 คำทุกวันก่อนเรียนวิชาภาษาไทย หากนักเรียนอ่านผิดหรือเขียนผิด ต้องแก้คำผิดให้ถูกต้องโดยการคัดลายมือ และสอนซ่อมเสริมการอ่านการเขียน
- จดเขียนเรียนประโยค โดยการนำนักเรียนอ่านออกเสียงคำ ประโยคและเรื่องในบทเรียนหรือ นอกบทเรียน นักเรียนฝึกแต่งประโยคจากคำในเรื่องที่อ่าน
2. “4 ส เสริมสร้างทักษะอ่านเขียน”
เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามจุดเน้นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้นักเรียนสามารถอ่านและเขียนหนังสือได้คล่อง โดยใช้วิธีการ ดังนี้
- ส สะกดคำแม่นยำ โดยการให้นักเรียนฝึกอ่านออกเสียงสะกดคำและเขียนลงในสมุดก่อนเริ่มเรียนวิชาภาษาไทยทุกวัน
- ส สลับอ่านสลับเขียน โดยการให้นักเรียนได้ฝึกอ่านคำ ประโยค ข่าว เพลง บทร้อยกรอง บทความหรือเรื่องราวต่างๆจากสื่อทั้งในบทเรียนและนอกบทเรียน แล้วฝึกเขียนคำศัพท์จากเรื่องที่อ่าน ฝึกแต่ง ประโยคฝึกแต่งนิทานและคัดลายมือ เป็นต้น
- ส สนใจใฝ่เรียนรู้ โดยการให้นักเรียนทำบันทึกรักการอ่านสัปดาห์ละ 2 เรื่อง บันทึกการอ่านนอก เวลาสัปดาห์ละ 3 เรื่องและบันทึกครอบครัวนักอ่านตามความสนใจของนักเรียนแล้วส่งให้ครูประจำวิชาภาษาไทย ตรวจ
- ส สอนเสริมอ่านเขียน โดยการคัดกรองนักเรียนที่ยังขาดทักษะการอ่านการเขียนมาสอนซ่อม เสริมในช่วงเวลาว่าง พักกลางวันและหลังเลิกเรียน
3. “4 ท ทนทานเก่งอ่าน เก่งเขียน”
เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 โดยการทบทบการอ่านและการเขียนด้วยตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความมีวินัยในการอ่านและการเขียนที่ยั่งยืน โดยใช้วิธีการ ดังนี้
- ท ทดสอบการอ่านเขียนคำพื้นฐาน โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ทดสอบการอ่านและ เขียนคำพื้นฐานก่อนเรียนวิชาภาษาไทยทุกชั่วโมง
- ท ท่องบทอาขยาน – ทำนองเสนาะ โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ท่องบทอาขยาน – ทำนอง เสนาะก่อนเรียนวิชาภาษาไทยทุกชั่วโมงและช่วงเวลาพักกลางวันก่อนขึ้นชั้นเรียน
- ท ทำบันทึกส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยให้นักเรียนบันทึกรักการอ่านสัปดาห์ละ 2 เรื่อง บันทึก การอ่านนอกเวลาสัปดาห์ละ 3 เรื่อง และบันทึกครอบครัวนักอ่านตามความสนใจของนักเรียนแล้วส่งให้ครูประจำ วิชาภาษาไทยตรวจ
- ท ทบทวนการอ่านการเขียน โดยให้นักเรียนทบทวนเรื่องการอ่านการเขียนจากบทเรียนแล้วฝึกทักษะการอ่านการเขียนโดยการทำแบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดแห่งศตวรรษที่ 21 สู่การประเมินระดับนานาชาติ (Pisa) และแบบฝึกพัฒนาคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ตามแนวทางการประเมินนักเรียน นานาชาติ (Pisa)
เป้าหมายในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ
1. เป้าหมายเชิงปริมาณ
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 80 อ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง อ่านคล่อง เขียนคล่อง ตามมาตรฐานการเรียนรู้
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้น
2. เป้าหมายเชิงคุณภาพ
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ มีนิสัยในการอ่านและการเขียนที่ยั่งยืน
ความสำเร็จที่เกิดจากนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท
- ครูมีนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 4 จ ส ท ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัด กิจกรรมการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 สามารถอ่านออก เขียนได้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 สามารถอ่านคล่อง เขียนคล่อง และมีวินัยในการอ่านและการเขียนที่ยั่งยืน
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยที่สูงขึ้น
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้ให้สัมภาษณ์ : มงคล สุวรรณะ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30
ผู้เขียน/ผู้สัมภาษณ์ : มาศชฎา จันทราทิพย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์