“ใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ...ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” แนวทางการทำงานของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

2 ตุลาคม 2020

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงแนวทางการทำงานในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ในวันแรก ซึ่งเป็นทั้งวิสัยทัศน์ แนวทางและจุดเน้น คือ “จะใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อย่างยิ่ง สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์นี้ และพร้อมสนับสนุนแนวทางการทำงานดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง ซึ่งสาระสำคัญของแนวทางการทำงานของเลขาธิการ กพฐ. มีดังนี้

1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุด ที่ทำหน้าที่สร้างพื้นฐานให้คน ให้ชาติ หากทำได้สำเร็จถือเป็นการช่วยชาติ ตระหนักดีว่า สพฐ.เป็นองค์กรที่ใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ย่อมมีความเหลื่อมล้ำ มีบริบทที่ซับซ้อน มีความแตกต่างทางภาษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ

2. การศึกษา “ไม่ใช่อ่านตำรา แล้วกาถูก” คนเก่งที่สุดคือ เก่งทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และการแสวงหาความรู้เป็น ดังนั้น วุฒิการศึกษาและใบปริญญาไม่ใช่ความหมายแห่งความสำเร็จ
3. การทำงานการศึกษาทุกคนเป็นบุคคลสำคัญ เป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษา โดยมี “ห้องเรียนและโรงเรียน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

4. การศึกษาคือ บ่อเกิดของปัญญา การจัดการศึกษาย่อมมีปัญหา มีปัญหาจะทำให้ก่อเกิดปัญญา บุคคลสำคัญคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู

5. ทิศทางการทำงานจะไม่ตัดเสื้อตัวเดียวใส่ทั้งประเทศ เพราะต่างเขต ต่างพื้นที่ ไม่เหมือนกัน แต่ต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องทำให้เด็กเก่ง ดี และมีความสุข บนความหลากหลายของแต่ละพื้นที่

6. “จะใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” ต่างที่ ต่างนวัตกรรม และเชื่อมั่นว่าแต่ละคนแต่ละพื้นที่มีศักยภาพทำได้

7. บทบาทของ สพฐ. จะ “ปลดล็อก เปลี่ยนแปลง และเปิดกว้าง” สร้างงานเพื่อสร้างโอกาส คุณภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

8. งานสำคัญเร่งด่วนคือ 1) ดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและช่วยเหลือนักเรียนให้มีความสุขในการเรียนรู้ 2) สะสางงานที่เป็นงานโครงการซ้ำซ้อนในโรงเรียนและสร้างภาระให้กับโรงเรียน 3) เปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากหลักสูตรอิงมาตรฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ 4) หลอมรวมพลังทุกส่วนใน สพฐ. ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมเสพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเชิญชวนบุคลากรทุกระดับร่วมเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาองค์กร สพฐ. ร่วมเสนอความคิดเห็น เสนอแนะและสร้างสรรค์ ให้ สพฐ. สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศให้จงได้

ทั้งหมดนั้นคือ แนวทางการทำงานในภาพรวมของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่กล่าวไว้ในวันเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ส่วนความชัดเจนของแนวคิดและแนวทางในการสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 นั้น ท่านเลขาธิการ กพฐ. มีความเข้าใจในเป้าหมายและเจตนารมณ์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างดี ท่านได้ลงพื้นที่ ได้สัมผัส ได้รับรู้สภาพปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางที่ควรจะเป็นของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งแนวทางการปลดล็อกและการยกเว้นกฎระเบียบบางประการ เพื่อให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถดำเนินการด้านวิชาการ ด้านบุคคล ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไปได้อย่างอิสระ คล่องตัว

สำหรับแนวคิดแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของท่านเลขาธิการ กพฐ. ดร.อัมพร พินะสา ที่ได้กล่าวไว้ในการลงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปีที่ผ่านมา มีดังนี้

1. รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) เป็นประธานเปิดงาน All for Rayong Education 2019 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จ.ระยอง (27 สิงหาคม 2562)

2. ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. “การศึกษาต้องสร้างทักษะชีวิต เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ปลุกพลังพ่อแม่และทุกภาคส่วน ร่วมสร้างนวัตกรรมการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อ.ละงู จ.สตูล (31 สิงหาคม 2562)

3. ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต้องสร้างปัญญาให้เด็กไทย ให้ “อยู่รอด-อยู่ร่วม” ได้ โดยใช้กิจกรรมฝึกฝนจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้พื้นที่ Recycle งานโครงการที่เป็น “ขยะการเรียนรู้” ของผู้เรียน ณ โรงแรมบ้านสวนคุณตา อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (28 กันยายน 2562)

4. บรรยายพิเศษหัวข้อ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” โดย ดร.อัมพร พินะสา (รองเลขาธิการ กพฐ.) ณ อาคารอเนกประสงค์ “ดำรงวิทยพัฒน์” โรงเรียนอนุบาลดำรงราชานุสรณ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ (28 กันยายน 2562)


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
“แนวทางการขยายผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วมช. ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเข้าร่วมการทำงาน เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนการบริหารจัดการการจัดการศึกษาทั้งระบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้เกิดการปฏิรูปด้านการศึกษาที่สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงในจังหวัดเชียงใหม่
บทความล่าสุด