การประชุมวิชาการด้านคณิตศาสตร์ศึกษา ครั้งที่ 2 ของสมาคมคณิตศาสตร์ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อต้นปี 2558 คือจุดเริ่มต้นที่ได้เห็นชั้นเรียนโดยใช้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) และเพิ่งได้ยินการทำงานร่วมกันในชั้นเรียน ที่เรียกว่าการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ภาพการสอนและสะท้อนผลยังคงอยู่ในความทรงจำ เพราะเป็นการดูชั้นเรียนที่ไม่รู้และไม่เข้าใจว่าจะดูอะไรในชั้นเรียน เพราะชั้นเรียนที่ดูก็เป็นชั้นเรียนปกติ ครูผู้สอนก็ไม่ได้มีชื่อเสียง มีเพียงวิธีสอนที่เรียกว่า วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยได้ยิน
เป็นเวลาเกือบ 4 ปีที่ได้รู้จักและเรียนรู้การพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ตามแนวคิดของท่านรองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านการถ่ายทอดและติดตามอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ ดร.เกษม เปรมประยูร รองคณบดีฝ่ายวางแผนและบริการวิชาการ และอาจารย์ ดร.สุวรรณี เปลี่ยนรัมย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ด้วยการเข้าร่วมอบรมฯ การร่วมสังเกตชั้นเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ที่เปิดชั้นเรียน (Open Class) และการเปิดชั้นเรียน (Open Class) ของตนเองโดยมีทีมที่เรียกว่าทีมศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ร่วมออกแบบ (PLAN) ร่วมสังเกต (DO) และร่วมสะท้อนผล (SEE) นับได้ว่าเรียนรู้ทุกวิธีการเพื่อให้เข้าใจนวัตกรรมนี้ แม้กระทั่งการเปิดชั้นเรียน (Open Class) ระดับชาติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้พาไปร่วมกิจกรรมถึง 2 ครั้ง จนพวกเราเรียกตัวเองว่า FC ของรองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ อย่างเต็มปาก
การร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Open Class) นั้นถือว่ามีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) แต่ว่าการขับเคลื่อนในโรงเรียน โดยเฉพาะการปฏิบัติจริงในชั้นเรียนมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะหากเข้าใจแต่ไม่ปฏิบัติการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ในโรงเรียนย่อมไม่เกิดขึ้น และไม่อาจจะเข้าใจความหมายของการร่วมดู (สังเกต) ชั้นเรียนได้ นับตั้งแต่ได้รู้จักการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมก็ได้เริ่มนำการสอนด้วยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ไปใช้เพราะคิดว่าเป็นการสอนคณิตศาสตร์ทั่ว ๆ ไป ผนวกกับตัวเองจบสาขาคณิตศาสตร์ด้วย จริงมีความมั่นใจว่าสามารถสอนได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อสอนแล้วได้ส่งรูปภาพให้อาจารย์ ดร.เกษม เปรมประยูร ได้ดู อาจารย์ไม่ได้ตอบกลับ และกลับส่งรูปภาพของชั้นเรียนคาบเดียวกันของอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับชั้นเรียนของผม ทำให้ท้าทายความสามารถของผมเป็นอย่างมาก จึงได้เรียนรู้และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงได้เข้าอบรมทุกครั้งที่มีการจัดและทุกครั้งที่ไปอบรมฯ จะมีเรื่องหรือประเด็นที่ต้องไปแก้ไขในชั้นเรียน และมักจะให้กลับไปทำอะไรแปลกๆ ที่การอบรมทั่ว ๆ ไปจะไม่มี เช่น การใช้โจทย์ปัญหา (หรือสถานการณ์ปัญหา) เพียงโจทย์เดียว ในหนึ่งคาบ หรือให้เอาสก๊อตเทปปิดปาก เมื่อให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรม เพื่อให้พูดให้น้อยลงและฟังนักเรียนให้มากขึ้น ห้ามสอนด้วยวิธีการอธิบาย แต่ให้นักเรียนทำเอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดกับความรู้สึกปกติของการทำหน้าที่ครูของคนทั่ว ๆ ไป ที่เชื่อว่าการสอนคณิตศาสตร์เราต้องอธิบาย และทำโจทย์หลากหลายข้อเพื่อให้นักเรียนเข้าใจ และสิ่งสำคัญในระหว่างการสอน ครูผู้สอนและทีมศึกษาชั้นเรียนจะต้องค้นหาแนวคิดของนักเรียนเพื่อใช้ในการอภิปรายในชั้นเรียน ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ยากที่จะพบในชั้นเรียนทั่วไป ทว่าการต้องทำอะไรแปลกๆ ในสิ่งที่ครูทั่ว ๆ ไปไม่ทำกลับเห็นผู้เรียนในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือ นักเรียนมีความกล้าแสดงออก กล้านำเสนอแนวคิดที่แตกต่าง ความมีวินัย และที่สำคัญมีทักษะกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์อย่างเห็นได้ชัดผ่านการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ปัญหาปลายเปิดที่ครูและทีมร่วมกันออกแบบ
4 ปีที่ผมได้นำนวัตกรรมมาใช้ในโรงเรียน และมีความมั่นใจว่า การพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) เป็นนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาผู้เรียนอย่างเรียนแท้จริง และเป็น 4 ปีที่ผมเพิ่งเรียนรู้ว่าชั้นเรียนคณิตศาสตร์ต้องออกแบบ และพัฒนากันเป็นทีม และได้เรียนรู้ว่าชั้นเรียนในแต่ละชั่วโมงมีความหมายและมีความสำคัญ ที่ทีมศึกษาต้องร่วมสังเกตและสะท้อนผลด้วยกัน
“ผมว่าการนำ LS & OA ไปใช้ เราจะรู้สึกว่ามีเรื่องที่จะพัฒนาและปรับปรุงใหม่อยู่เสมอ เสมือนว่าต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”
ผู้เขียน: นาเดอร์ อูซิน โรงเรียนบ้านกะรุบี จังหวัดปัตตานี
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์