การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมเพื่อทักษะการใช้ชีวิต โรงเรียนบ้านโก จังหวัดศรีสะเกษ

31 มีนาคม 2020

โรงเรียนบ้านโก ตำบลส้มป่อย อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษได้มีการดำเนินการด้วยโมเดลลำปลายมาศพัฒนาโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้เรียนแบบจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – Based Learning) และ  การขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional Learning Community) “ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. จิตศึกษา

คือ กระบวนทัศน์ในการพัฒนาปัญญาภายในและการสร้างคุณธรรมให้กับนักเรียน ซึ่งกระบวนการนี้มีการจัดกิจกรรมที่แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ กิจกรรมกระบวนการจิตศึกษา กิจกรรม Body Scan และกิจกรรมการทบทวนหลังการเรียนรู้ AAR (After Action Review) โดยในแต่ละกิจกรรมมีลักษณะ ดังนี้

กิจกรรมกระบวนจิตศึกษา เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในตอนเช้าของทุกวันและในทุกระดับชั้นโดยที่ใช้เวลาในกิจกรรมนี้ประมาณ 20 นาที ซึ่งขั้นแรกเป็นการเตรียมสภาวะจิต สติ ความพร้อมก่อนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการให้นักเรียนได้ใคร่ครวญ รู้สึกตัว และการทำ Brain Gym ถัดมาเป็นการสร้างสถานการณ์ การตั้งคำถามของครูผู้สอนเพื่อนำสู่กระบวนการ “ชง เชื่อม ใช้”

ชง คือ การที่คือครูผู้สอนนำนักเรียนสู่สถานการณ์ เรื่องราวต่างๆ โดยการให้นักเรียนนำตัวเองไปสู่สถานการณ์การนั้น

เชื่อม คือ เมื่อนำพานักเรียนเข้าไปอยู่สถานการณ์ดังกล่าวแล้ว นักเรียนได้ใคร่ครวญเชื่อมโยงความเข้าใจเดิมและการเข้าใจผู้อื่นว่ามีความรู้สึกอย่างไร มีความคิดเห็นอย่างไร หรือจะมีแนวทางการแก้ไข วิธีการจัดการอย่างไรกับสถานการณ์นั้น

ใช้ คือ การนำคำตอบของตนเองเมื่ออยู่สถานการณ์นั้นมาแชร์กัน แลกเปลี่ยนกันของนักเรียนเป็นคำพูดหรือชิ้นงาน เพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้ในชีวิตของนักเรียนได้จริง

ขั้นสุดท้ายของกระบวนการจิตศึกษา คือ Empower การขอบคุณทุกสรรพสิ่ง ครูผู้สอนชื่นชมในความตั้งใจของทุกคนและการมอบความรักให้กันระหว่างนักเรียนกับครู

กิจกรรม Body Scan เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในช่วงบ่ายก่อนการเริ่มเรียนในภาคบ่าย ซึ่งเป็นกิจกรรมการกระตุ้นการตื่นตัว การเตรียมตัว โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที ในกิจกรรมนี้เพื่อเป็นการฝึกฝนสติให้กับนักเรียน การฝึกฝนสติบ่อยๆจะทำให้กลับมารู้ตัวไว ตื่นตัวไว พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น

กิจกรรมการทบทวนหลังการเรียนรู้ AAR (After Action Review) เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในช่วงเย็น ซึ่งเป็นการทบทวน ใคร่ครวญ ว่าในระหว่างวันที่ผ่านมานั้น ได้มีการเรียนรู้อะไรบ้าง โดยให้นักเรียนได้เล่าถึงที่ตนเองได้เรียนรู้ กิจกรรมต่างที่ได้ทำมีความรู้สึก มีความคิดเห็นอย่างไร และการพูดถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหรือสิ่งที่ผิดพลาดจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร รวมถึงมี BAR (Before Action Review) การเตรียมตัวในการเรียนในวันถัดไปจะเตรียมการอย่างไร อะไรบ้าง ซึ่งทุกคนจะได้แชร์ของตนเองให้เพื่อนๆได้ฟัง สุดท้ายเป็นการพูดขอบคุณกันและกัน ทั้งนักเรียนและครูผู้สอน

2. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – Based Learning: PBL)

คือ การจัดการเรียนรู้ของครูโดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มีความหลากหลายในการเรียนการสอนภายในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยมีกิจกรรมที่เป็นการปฏิบัติจริงและเรียนรู้จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นการเน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือเป็นกิจกรรมที่เป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยมีครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ชี้แนะเท่านั้น

โรงเรียนบ้านโกได้มีการดำเนินการรูปแบบการเรียนการสอนด้วย PBL มีการแบ่งบทเรียนออกเป็น Quarter ซึ่ง 10 สัปดาห์ ต่อ 1 Quarter ในภาคเรียนจะมีทั้งหมด 2 Quarter โดยมีการแบ่งออกเป็นหน่วยต่างๆสำหรับการเรียนการสอนในแต่ละระดับชั้น ครูผู้สอนจะเลือกหน่วยในการเรียนการสอนในแต่ละ Quarter โดยมีตัวอย่างรายละเอียดใน 1 Quarter ดังนี้

  • ระดับชั้นอนุบาล 1 – 2 คือ หน่วยน้ำมหัศจรรย์
  • ระดับชั้นอนุบาล 3 คือ หน่วยชีวิตเล่นเล่น
  • ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คือ หน่วยของเล่นเพื่อนรัก
  • ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 คือ หน่วยสีธรรมชาติ
  • ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 คือ หน่วยการเปลี่ยนแปลง (Transform)
  • ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คือ หน่วย you are what you eat
  • ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คือ หน่วยพลังงานทดแทน
  • ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คือ หน่วย Coding

3. การขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional Learning Community)

“ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนาครู เป็นการร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครูและผู้บริหาร ในการพัฒนาทักษะและการวางแผน การออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่มีความหลากหลายมิติ

โรงเรียนบ้านโกมีการรายงานการดำเนินการแผนและการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนในทุกสัปดาห์ โดยวันอังคารและวันพฤหัสบดี ซึ่งครูทุกท่านจะเล่าเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นของการดำเนินการแผนจิตศึกษาและการเรียนการสอนแบบ PBL ซึ่งในแต่ละระดับชั้นได้นำไปใช้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลลัพธ์อย่างไร ครูจะแชร์กันในความงอกงามของนักเรียนและในกรณีที่เกิดปัญหา ข้อผิดพลาด หรืออุปสรรค ในการดำเนินการนั้น จะมีการร่วมกันหาแนวทาง วิธีการ ในการแก้ไขปัญหา ข้อผิดพลาดและอุปสรรคเหล่านั้นร่วมกัน เพื่อการพัฒนาแผนการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนให้มากที่สุด

ในแต่สัปดาห์จะมีการเลือกแผนจิตศึกษาหรือกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสัปดาห์ มาเล่าสู่กันฟังพร้อมทั้งนำชิ้นงานหรือรูปภาพ โดยมีกระบวนการ ดังนี้

  1. Dialogue การฟังอย่างลึกซึ้ง
  2. Share & Learn การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากช่วงเวลาที่ผ่านมา
  3. AAR (After Action Review) การทบทวน/ใคร่ครวญหลังการเรียนการสอน
  4. Lesson Study การร่วมการวางแผนการเรียนการสอนในสัปดาห์ถัดไป

จากการดำเนินการนวัตกรรมทั้ง 3 นวัตกรรมที่ผ่านมาของโรงเรียนบ้านโก ผู้อำนวยการวิทยา ทองอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโก ได้มองเห็นว่าถือเป็นความน่าพึงพอใจอย่างมาก เพราะโรงเรียนเองก็นำการเรียนการสอนแบบใหม่มาใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องราวใหม่ๆทั้งในส่วนของครูผู้สอนและนักเรียน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกับทุกฝ่าย 

จากการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของโรงเรียนบ้านโกที่มีผลต่อนักเรียนนั้นที่มองเห็นได้ชัด คือ การที่นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีสติจดจ่อกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้รับทักษะในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากวิชาทักษะพื้นฐาน เช่น ทั้งทักษะอาชีพ ทักษะการแก้ปัญหา หรือทักษะอื่น ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้จริง รวมถึงการที่นักเรียนมีความกล้าแสดงออกในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่คิดต่อครูผู้สอนมากขึ้น

ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อครูผู้สอนเป็นการที่ครูผู้สอนมีความสุขในการที่ได้สอนในรูปแบบของนวัตกรรมนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดใจ ทำความเข้าใจและการเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน รวมถึงครูผู้สอนไม่เป็นการสอนอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นการเปลี่ยนบทบาทเป็นชี้แนะ ชี้นำ ในแต่ละกิจกรรมและการเรียนการสอน

เป้าหมายของโรงเรียนบ้านโกในปีการศึกษาหน้ามีการกำหนดที่จะพัฒนาครูให้เกิดความชำนาญ การมีทักษะเพิ่มมากขึ้น เพื่อการเรียนการสอนที่มีจุดมุ่งหมายในการถ่ายทอดการเรียนรู้ ทักษะ ทัศนคติ ให้นักเรียน โดยจะเน้นในส่วนที่เป็นการสร้างให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ การมีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็น และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสม


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, วิทยา ทองอินทร์
ผู้ให้สัมภาษณ์: วิทยา ทองอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโก จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: วิทยา ทองอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโก, โรงเรียนบ้านโก สพป.ศรีสะเกษ เขต 2

Facebook Comments
โรงเรียนสุนทรภู่พิทยา จ.ระยอง พัฒนาการเรียนด้านภาษาอังกฤษ และส่งเสริมให้นักเรียนมองเห็นอาชีพในอนาคตโรงเรียนบ้านหนองหวาย พื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ ใช้หลักสูตรมอนเตสซอรี่ (Montessori) เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน
บทความล่าสุด