แนวทางขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม ควรเลือกทำ Big Rock เรื่องสำคัญและใหญ่ และวางภาพเป้าหมายความสำเร็จในทุกระดับ

3 เมษายน 2020

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากวงเสวนาในการพิจารณาความเหมาะสมของแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ สพฐ. มีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้แทนสำนักใน สพฐ. สกศ. และ สป.ศธ. รวมทั้งผู้แทนภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) หนึ่งในนี้คือ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปรึกษาพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2559 – 2560)

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวถึง บทบาทการมีส่วนร่วมในเส้นทางการจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ทั้งการร่วมนำเรียนเหตุผลความจำเป็นต่อนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และผู้แทนบางท่านในภาคีเพื่อการศึกษาไทย การมีส่วนร่วมอยู่ในสภาการศึกษาได้เห็นความพยายามของผู้เกี่ยวข้อง การฝ่าอุปสรรคของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จนสามารถประกาศบังคับใช้เป็น พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562

ผู้เขียนขอเรียบเรียงสรุปสิ่งที่ปรึกษาพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี มองเห็นการดำเนินงานที่ผ่านมาและแนวทางการพัฒนาการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 จำนวน 7 ประเด็น ดังนี้

1. เห็นการทำงานเชิงรุกของ สพฐ.

เมื่อ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประกาศใช้ ทาง สพฐ. ได้มีการดำเนินการเพื่อรองรับเป็นอย่างดี มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบอย่างชัดเจน มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เข้มแข็ง และมีความคืบหน้าในการขับเคลื่อน

“เมื่อ พ.ร.บ. ออกมา ผมว่าทาง สพฐ. รับลูกดีมาก
ตั้งทีมงาน เอาจริง เข้มแข็ง และเดินหน้า”

2. เห็นความท้าทายที่ต้องร่วมผลักดัน

การใช้ พ.ร.บ. เป็นเครื่องมือในการผลักดันและสร้างการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในสภาพปัจจุบัน ยังไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง อาทิ เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของ สพฐ. หรือเรื่องความเข้าใจและการเป็นผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา เรื่องระบบงบประมาณ เรื่องระบบการบริหารงานบุคคล

3. เห็นโอกาสในการจัดระบบการประกันคุณภาพภายในและให้โรงเรียนกำหนดเป้าหมายของตนเอง

ในมาตรา 37 ให้โรงเรียนนำร่องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ซึ่งโรงเรียนสามารถกำหนดมาตรฐานการศึกษา หรือเขียนมาตรฐานของตนเองได้ และจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของตนเองได้ ทั้งนี้ โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถนำวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งมี 4 ประเด็นคือ 1) ผสานเครือข่าย 2) กระจายอำนาจ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ 3) ผลิต คิดค้น พัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม และ 4) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา แล้วจึงจัดให้มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา  ติดตามผลการดําเนินการ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กํากับดูแลสถานศึกษาเป็นประจําทุกปี ทั้งนี้ ข้อควรระวังคือ เมื่อโรงเรียนมีการประเมินตนเองต้องระวังอย่าให้การประเมินมากกว่าการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

4. เห็นบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาที่ควรมากกว่าที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.

ข้อความที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ที่เป็นบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปรากฎในมาตรา 27 คือ ให้ความเห็นชอบให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง และมาตรา 25 วรรคสอง คือ ให้ความเห็นชอบหลักสูตรของสถานศึกษาของสถานศึกษานำร่อง กรณี สถานศึกษานำร่องต้องการปรับหลักสูตรเพิ่มเติมจากหลักสูตรตามมาตรา 20 (4) ซึ่งในสภาพที่ควรจะเป็นนั้น คณะกรรมการสถานศึกษาควรมีบทบาทอื่น ๆ เพิ่มเติมในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาโรงเรียนนำร่อง เช่น การริเริ่ม เสนอแนะ ให้แนวทางในการทำงาน ทั้งนี้ หากต้องการปรับบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้ฐานของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นการเฉพาะ โดยให้อำนาจกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ก็สามารถเสนอเข้าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อพิจารณาได้

5. เห็นบทบาทของเขตพื้นที่ที่ควร “หนุน” และ “นำ”

ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในโรงเรียนนำร่องของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรของเขต ควรทำหน้าที่สนับสนุน (support) โรงเรียนนำร่องให้มาก โดยพิจารณาว่าควรมีภารกิจใดที่จะ “หนุน” สนับสนุนส่งเสริมโรงเรียนนำร่อง หรือภารกิจใดที่ควร “นำ” ชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนนำร่องให้สามารถดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

6. เห็นบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อน ต้องเป็น Supporter และ Operator

ในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัดไว้หลายประการ ซึ่งมีทั้งบทบาทเป็นผู้ปฏิบัติ (Operator) เช่น ทำยุทธศาสตร์ ปรับหลักสูตร รายงานผลสัมฤทธิ์ ติดตามประเมินเพื่อการพัฒนา และผู้สนับสนุน (Supporter) เช่น ส่งเสริมพัฒนาครู สนับสนุน/เสริมสร้างโรงเรียนนำร่อง ซึ่งจำเป็นต้องวางแนวทางให้การดำเนินการในบทบาทต่าง ๆ ให้สู่การปฏิบัติอย่างชัดเจน

7. เห็นบทบาทของ ศธจ. ต้องรู้จักโรงเรียนนำร่องรายโรง

นอกจากบทบาทหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัดในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อน และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในฐานะฝ่ายเลขานุการและรับผิดชอบงานธุรการของคณะการการขับเคลื่อนตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แล้ว จะต้องรู้จักโรเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นรายโรงเรียน รู้จักผู้อำนวยการโรงเรียนรายบุคคล รู้จักครูและนักเรียนบางคนหรือบางกลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้แบบมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ

จากมุมมองของ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรีข้างต้น ทำให้เห็นโอกาสของการใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นเครื่องมือปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยผู้นำ โดยหน่วยงาน โดยทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งร่วมกันออกแบบ ร่วมกันดำเนินการ ร่วมกันติดตาม ร่วมกันสื่อสารสร้างการรับรู้ ร่วมสร้างพลังในการขับเคลื่อนให้เห็นผล ดำเนินการตามบทบาทของผู้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เชื่อมโยงหนุนเสริมการทำงานระหว่างกัน และบูรณาการการทำงานร่วมกัน มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง เอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการศึกษา และมุ่งให้เกิดสัมฤทธิผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสำคัญ

ดังนั้น การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงจำเป็นต้องวางแนวทางขับเคลื่อนในเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญ และทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นเป้าหมายความสำเร็จในระดับประเทศ จังหวัด คณะกรรมการขับเคลื่อน เขตพื้นที่ และโรงเรียนนำร่อง  เพื่อร่วมพัฒนาให้การศึกษาตอบสนองความต้องการของพื้นที่ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เป็นไปตามความคาดหวังและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, ศศิธร สวัสดี

Facebook Comments
สพฐ. ปลดล็อก การซื้อตำรา/สื่อ ได้อย่างอิสระ ใน รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา ตามเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562โรงเรียนบ้านหนองกก จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนสร้างสุข นักเรียนสนุกที่จะเรียนรู้ ผอ.และครูเป็นครูโค้ช ตอบโจทย์คุณภาพด้วยนวัตกรรมเชิงระบบ
บทความล่าสุด