โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ ตำบลพลงตาเอี่ยม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 – ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 100 คน มีบุคลากรครูทั้งหมด 5 คน ผู้บริหาร 1 คน มีพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา โดยบริบทของโรงเรียน เป็นโรงเรียนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากมีนักเรียนนับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ชุมชนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง มีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนเป็นอย่างดี สมาชิกในชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ เป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมมาประมาณ 1 ปี โรงเรียนเริ่มต้นโดยการกำหนด School Concept คือ “โรงเรียนพหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์” หลังจากที่โรงเรียนมีจุดเน้นแล้ว โรงเรียนดำเนินการจัดทำหลักสูตรอิงมาตรฐาน และพร้อมปรับเปลี่ยนสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ สิ่งที่กำลังผลักดันคือ การนำหลักสูตรสู่การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ ที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสวางแผนร่วมกัน ทั้งครู ผู้ปกครอง ชุมชน และนักเรียน เพื่อเปลี่ยนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ โดยมีครูเป็นโค้ช
โรงเรียนมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันใน 5 ด้านดังนี้ ด้านผู้เรียน ด้านการเรียนการสอน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ และได้กำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงใน 7 เรื่อง (Seven Changes) คือ 1. School Concept (โรงเรียนพหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์) 2. School Leader (ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็น Coach ของครู) 3. Teachers (ครูปรับกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ) 4. Classrooms (คืนพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่นักเรียน) 5. Curriculum (ปรับหลักสูตรเน้นสมรรถนะที่ตอบโจทย์เชิงพื้นที่) 6. Pedagogy (จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning) 7. Evaluation (ประเมินตามสภาพจริงแบบ 360 องศา)
เป้าหมายของโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ ด้านนักเรียน นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เชิงพหุวัฒนธรรม มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสามารถเชื่อมโยงสู่อาชีพเชิงวัฒนธรรมได้ มีทักษะในศตวรรษ ที่ 21 และสามารถสร้างชิ้นงานทางวัฒนธรรม (Multicultural Project) ที่เป็นอาชีพได้ เห็นคุณค่าและเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกระบวนการคิดข้ามวัฒนธรรมนักเรียนมีสมรรถนะพลเมืองไทยใส่ใจสังคม พลเมืองที่เข้มแข็งมีสำนึกสากล (Active Citizen with Global Mindedness)
ด้านการเรียนการสอน ครูเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ ยอมรับและเห็นคุณค่าความสำคัญของการจัดการเรียนรู้เชิงพหุวัฒนธรรม มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการ เน้นความแตกต่างทางวัฒนธรรม มีทักษะการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน
ด้านการบริหารจัดการ ระบบบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ สร้างความตระหนักต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างบรรยากาศและพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงพหุวัฒนธรรม มุ่งเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วม สร้างความเชื่อมโยงระหว่างความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงวัฒนธรรม
ด้านการมีส่วนร่วม ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้มาตรฐาน และให้ชุมชนร่วมออกแบบการจัดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ หลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นการเรียนรู้เชิงพหุวัฒนธรรม และการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ มีโครงสร้างเนื้อหาแบบธีมส์ (Themes) เชิงวัฒนธรรม บูรณาการตัวชี้วัดทุกกลุ่มสาระให้สอดคล้องกับธีมส์เชิงวัฒนธรรม ลดตัวชี้วัดที่ไม่จำเป็นของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ปรับโครงสร้างเวลาเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ จากนั้นวัดผลประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
สิ่งที่โรงเรียนต้องการมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียน โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อต้องการสร้างให้ผู้เรียนตระหนักรู้ สังคมพหุวัฒนธรรม รู้จัก เข้าใจ ยอมรับ เคารพ และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข มีทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน ร่วมสร้างเมืองระยองน่าอยู่
ผลการตอบรับของคนในพื้นที่ดีมาก ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องของหลักสูตร ที่มีการกำหนดให้มีการจัดชั้นเรียนแบบคละชั้น การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากร และนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข
สิ่งที่ดำเนินการอยู่ที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ ผอ. คิดว่าเป็นกิจกรรมการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียนดำเนินการสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้กับผู้ปกครองและชุมชนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และการจัดชั้นเรียนแบบคละชั้น (พี่ช่วยน้อง) โดยให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน ซึ่งผู้ปกครองเข้าใจและเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงาน สิ่งที่ควรสานต่อคือทุกเรื่องที่ทำมาแล้ว ไม่ควรทิ้งควรใช้ความพยายามสานต่อให้สำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วม เป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ รัก และหวงแหน ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการปรับปรุงแก้ไขน่าจะเป็นเรื่องของหลักสูตรที่ยังไม่ลงตัวและยังอิงมาตรฐานอยู่ จะต้องปรับเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และปรับหน่วยการเรียนรู้ให้แล้วเสร็จและพร้อมใช้ในภาคเรียนที่ 1/2563
สิ่งที่จะดำเนินการในอนาคตนอกจากการปรับหลักสูตร และการปรับหน่วยการเรียนรู้แล้ว โรงเรียนมีแนวทางในการปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน ให้เป็นแบบ Active Learning โดยครูเป็นโค้ช ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้มากขึ้น และเรียนรู้อย่างมีความสุข การจัดการเรียนรู้มุ่งเน้นในเรื่องความแตกต่างของบุคคลและวัฒนธรรม โดยผู้เรียนที่จบจากโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อจะต้อง รู้จัก เข้าใจ ยอมรับ เคารพ และอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข
ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: นพรัตน์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านบ้านคลองบางบ่อ