โรงเรียนวัดตาขัน
อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
โรงเรียนวัดตาขัน ตั้งอยู่เลขที่ 70/1 หมู่ 5 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 หนึ่งในสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กำลังโจมตีในพื้นที่และระบาดหนักทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การจัดการศึกษาก็สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องสร้างวิถีการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ที่ท้าทายความสามารถของครูในปัจจุบัน
นายวิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน กล่าวว่า การก้าวเดินของโรงเรียนในการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม สู่ปีที่ 3 ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้พาทีมพัฒนาและออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะให้ชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นความร่วมมือและภารกิจของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ สำนักวิชาการ หน่วยงานทางด้านการศึกษาอื่น ๆ ตลอดจนสถานศึกษาที่กำลังมองหาวิธีการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก จากการที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education, DOE Thailand) ซึ่งหมายถึง คุณลักษณะของคนไทย 4.0 ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยคนไทย 4.0 จะต้อง ธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก นั่นคือเป็นคนดี มีคุณธรรมยึดค่านิยมร่วมของสังคมเป็นฐานในการพัฒนาตนให้เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะ 3 ด้าน คือ ผู้เรียนรู้เพื่อสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และพลเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อสันติสุข นอกจากนี้โรงเรียนก็ได้หันกลับมามองในตัวตนของพื้นที่ ก็คือ วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวระยอง ผ่านกรอบหลักสูตรท้องถิ่น Rayong MARCO การออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนวัดตาขัน ได้เริ่มต้นจากการวิเคราะห์บริบทโรงเรียนจากฐาน 3 ส่วน ประกอบด้วย วิเคราะห์ทุนโรงเรียน เพื่อให้เห็นปัจจัยภายในของโรงเรียนที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน วิเคราะห์ทุนชุมชน เพื่อให้เห็นปัจจัยภายนอกที่เป็นโอกาสและอุปสรรค และภาพอนาคตที่คาดการณ์ว่านักเรียนจะเติบโตไปเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
เมื่อดำเนินการวิเคราะห์บริบทโรงเรียนจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเสร็จแล้ว จึงนำมากำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของโรงเรียน ซึ่งกำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ไว้ 4 ประการดังนี้
- นักเกษตรอินทรีย์วิถีสุขภาพ
- นักนวัตกรน้อย
- นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์
- นักธุรกิจน้อย
สมรรถนะของโรงเรียนวัดตาขัน
เมื่อกำหนด DOL ของโรงเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนแล้ว ก็ได้มีการวิเคราะห์สมรรถนะหลักและสมรรถนะทั่วไป ซึ่งได้มีการศึกษาจากหลายแหล่ง เช่น สภาการศึกษา จำนวน 10 สมรรถนะ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 สมรรถนะ โรงเรียนรุ่งอรุณ จำนวน 6 สมรรถนะ และศึกษาจากทิศการประเมินผลการเรียนรู้ของโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจะประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามสมรรถนะหลักและสมรรถนะทั่วไป จึงกำหนดสมรรถนะของโรงเรียน ดังนี้
1.สมรรถนะหลัก ประกอบด้วย
1.1 การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและความเป็นไทย
1.2 คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
1.3 การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
1.4 การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
2.สมรรถนะทั่วไป ประกอบด้วย
2.1 สมรรถนะการจัดการตนเองเพื่อพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง
2.2 การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและสารสนเทศ
2.3 การเป็นนักนวัตกรสร้างสรรค์
2.4 สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
2.5 สมรรถนะการเป็นผู้ประกอบการแบบร่วมมือกับผู้อื่น
School Concept
จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จึงกำหนดเป็น School Concept ของโรงเรียน คือ
TK Bio-Culture & Innovation school : นวัตกรเชิงชีววิถี
นิยามศัพท์
นวัตกรรม (Innovation) การนำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นแนวความคิด หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการดัดแปลงหรือพัฒนาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม และทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังสามารถประหยัดทั้งแรงงานและเวลาได้อีกด้วย ผ่านการเรียนรู้ Alternative maker (Creativity lab) , IOT , ตาขันเสียดายแดด และ Coding เป็นต้น
ชีววิถี (Bio-Culture) คือ การศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น การพัฒนาด้านอารยเกษตรกรเพื่อพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง สอดคล้องกับภูมิสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยนำเอาความรู้วิชาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในชุมชน เช่น ด้านการเกษตร (ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติมาปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล การเพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ) ด้านอาหาร (การประกอบอาหารพื้นบ้านและอาหารทั่วไป ขนมต่าง ๆ) ด้านสิ่งแวดล้อม (ระบบนิเวศ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ด้านทางการแพทย์ (สมุนไพรไทย และการดูแลสุขภาพ) เป็นต้น
นวัตกรเชิงชีววิถี (TK Bio-Culture & Innovation school) คือ โรงเรียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็น Smart kids ให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคมและโลกได้อย่างสร้างสรรค์
ทำไมถึงเรียกว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะ
คุณครูทัศวรรณ ชินวัลย์ กล่าวว่าโรงเรียนวัดตาขัน เป็นสถานศึกษานำร่องตามประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองได้มีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตามความเหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยให้ครอบคลุมสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้ จัดสาระการเรียนรู้รายวิชาให้หลากหลายและสอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด หรือ ความสนใจของผู้เรียน และสภาพภูมิสังคม และในปี พ.ศ. 2564 โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการการวิจัยหลักสูตรฐานสมรรถนะ ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้มีการปรับปรุง วิเคราะห์ สังเคราะห์ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 และปรับปรุง 2560 แบ่งโครงสร้างหลักสูตรออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาพื้นฐาน กลุ่มบูรณาการ กลุ่มพัฒนาสุขภาวะกายจิต และกลุ่มทักษะชีวิต
จากตารางดังกล่าวสามารถสรุปเป็นแผนภูมิรูปภาพให้เห็นน้ำหนักของเวลาชัดเจนขึ้น
ดังแผนภูมิรูปภาพ
ในการออกแบบ Learning Area นั้น มีแนวคิดสำคัญในการจัดการเรียนรู้ คือ การดูแลและจัดการตนเองในชีวิตประจำวัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง วิถีชุมชนและการเรียนรู้ในพื้นที่โคก หนอง นา@ตาขัน การเรียนแบบใฝ่รู้ (Active Learning) และวิธีการแบบเปิด (Open approach) แบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 4 รูปแบบ คือ เรียนรู้ในกิจวัตรประจำวัน เรียนรู้วิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียนรู้ในหน่วยบูรณาการคุณค่าสู่ชีวิต ในกลุ่มบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง โคก หนอง นา@ตาขันผ่านกรอบหลักสูตร Rayong MARCO สร้างพื้นฐานการเป็นนักนวัตกรผ่านวิชา Alternative Maker และเรียนรู้ระบบคุณค่าในกลุ่มสุขภาวะกายจิต
PLC กระบวนการพัฒนาครูสู่ความสำเร็จ
นายวิชัย จันทร์ส่อง กล่าวย้ำว่า การดำเนินการพัฒนาหลักสูตร และนำหลักสูตรไปใช้นั้น ครู เป็นบุคลากรที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุด ในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เนื่องจากครูเป็นผู้นำกระบวนการ อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด ครูจึงมีความสำคัญมาก การพัฒนาครู ให้เป็นครูหัวใจใหม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้ เป็นโค้ช เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก
โรงเรียนวัดตาขัน จึงมีเป้าหมายในการพัฒนาครู เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาครูให้มีความสามารถ ดังนี้
- เป็นครูที่มีสายตามองเห็นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นนักออกแบบการจัดการเรียนรู้
- เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
- เป็นผู้ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ (PLC)
- มีความรู้และเข้าใจระบบการประเมิน
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
จากความสำคัญและเป้าหมายดังกล่าว โรงเรียนวัดตาขัน จึงออกแบบการพัฒนาครู ดังนี้
1.สร้างการเรียนรู้ที่ฝึกให้ครูมองเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งต่าง ๆ โดยใช้กิจกรรม Wise Refraction (Cr.รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดสายตาของครูในการมองเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งต่าง ๆ
2.อบรมปฏิบัติการนวัตกรรมการสอนรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่
2.1 การสอนแบบ Open approach
2.2 การจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณ (Coding)
2.3 หลักสูตรการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของ สสวท.แบบออนไลน์
2.4 การสอนภาษาไทยแบบ BBL
2.5 การอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบหน่วยบูรณาการและการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ระบบไตรยางค์ (OLE)
2.6 การอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ
2.7 การอบรมเชิงปฏิบัติการการวัดผลประเมินผล
2.8 การอบรมเชิงปฏิบัติการ การเชื่อมโยงหน่วยบูรณาการที่สะท้อน School concept
3.การจัดตั้งกลุ่ม PLC เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ โดยผู้บริหารนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรม มาใช้ดำเนินการ ดังนี้
3.1 ผู้บริหารออกแบบแนวทางการดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการ ดังนี้
3.1.1 ผู้บริหารกำหนดนโยบายในการจัดกระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้อย่างชัดเจนและแจ้งให้ทุกคนทราบ
3.1.2 ผู้บริหารสร้างแรงบันดาลใจให้ครูรู้และเข้าใจถึงความสำคัญและคุณค่าของการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
3.1.3 ผู้บริหารกำหนดรูปแบบการตั้งวง PLC ตามกลุ่มการเรียนรู้ ให้ครอบคลุมทุกคน ทุกชั้น และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการในระยะต่าง ๆ
3.1.4 ผู้บริหารกำหนดการนิเทศติดตามการดำเนินการในทุกระยะ และเข้าร่วมกระบวนการกับครูอย่างต่อเนื่อง
3.1.5 ผู้บริหารมีการประเมินผลการดำเนินการเป็นระยะ เพื่อสนับสนุนในกลุ่มที่ดำเนินการได้ดี หรือแก้ไขในกลุ่มที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้
ผังมโนทัศน์แสดงบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารในการส่งเสริม PLC เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนวัดตาขัน
3.2 ครูมีการรวมกลุ่ม PLC ตามกลุ่มของระดับชั้น ดังนี้
3.2.1 ระดับปฐมวัย จำนวน 3 คน
3.2.2 ระดับประถมศึกษาตอนต้น ป.1-3 จำนวน 3 คน
3.2.3 ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ป.4-6 จำนวน 3 คน
3.2.4 ระดับสายพิเศษ จำนวน 2 คน
3.3 จัดรูปแบบกระบวนการ PLC .ดังนี้
3.3.1 กระบวนการ PLC ภายในโรงเรียน ดำเนินการดังนี้
3.3.1.1 จัดให้ครูแต่ละกลุ่มร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (BAR) ด้วยระบบ
ไตรยางค์ (OLE) ในรายวิชาพื้นฐานและบูรณาการแล้วนำเสนอให้โค้ชในโรงเรียน (ผู้อำนวยการสถานศึกษา) ช่วยกันพิจารณาว่าแผนดังกล่าววมีความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ (O) กระบวนการเรียนรู้ (L) และการวัดผล (E) หรือไม่ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อาจจำเป็นต้องใช้การออนไลน์ช่วยในบางครั้ง
3.3.1.2 จัดให้มีการสังเกตการสอนของครู (CRC) ที่สอนด้วยแผนที่พัฒนาร่วมกัน โดยโค้ชและเพื่อนครูด้วยกัน เพื่อสังเกตการเรียนรู้เก็บบันทึกภาพนิ่ง วีดีโอ ลีลาการสอนและอาการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อนำไปสะท้อนการเรียนรู้ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการสอนของครู
3.3.1.3 จัดให้มีการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (AAR) กับแผนการจัดการเรียนรู้ว่าได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่ มีสิ่งใดต้องปรับปรุงบ้าง ครูได้รับประสบการณ์อะไรใหม่ ขึ้นบ้าง และจะนำไปใช้อย่างไร แล้วบันทึกลงในแบบบันทึก PLC จากนั้นก็เริ่มกระบวนการใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
3.3.2 กระบวนการ PLC ด้วยเครือข่ายแบบออนไลน์ ดำเนินการโดยเครือข่าย PLC RYP6 ประกอบด้วยโรงเรียนวัดตาขัน สพป.ระยอง เขต 1 โรงเรียนวัดสุขไพรวัลย์ โรงเรียนบ้านมาบช้างนอน และโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย สพป.ระยอง เขต 2 โดยมีทีมโค้ชจากสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ ดำเนินการทุกวันอังคาร เวลา 15.00-17.00 น. โดยเน้นการเรียนรู้กระบวนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เป็น Active Learning เป็นหลัก
จากเป้าหมาย..สู่ การเรียนรู้ที่แท้จริง
คุณครูทัศวรรณ ชินวัลย์ กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างการเรียนรู้วิชาบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง ของนักเรียนระดับชั้น ป. 4-6 เป้าหมายหลักจะเป็นเรื่องของอารยเกษตรกร และมี Theme ในภาคเรียนที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คือ ยุวกสิกรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คือ ทรัพย์ในดิน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คือ ชีวิตที่มั่งคั่ง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่โรงเรียนได้เปิดทำการเรียนการสอนก็ได้พานักเรียนเริ่มเรียนรู้จากภูมิสังคม โดยนำนักเรียนออกไปสำรวจสภาพทางกายภาพ วิถีชีวิต อาชีพและพบปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบ มีแหล่งน้ำที่สามารถทำการเกษตรได้ ชาวบ้านดั้งเดิมทำอาชีพเกษตร เช่น ทำนา ปลูกผักสวนครัว ทำนาผักบุ้ง ทำนาบัว ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่วนประชาชนกลุ่มรับจ้างทำงานก่อสร้าง ค้าขาย อาชีพอิสระ จะได้รับผลกระทบต่อการทำงานและกิจการพอสมควร ครูจึงได้กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดโดยผ่านการตั้งคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด และชี้แนะให้ตัวผู้เรียนเห็นความสำคัญอาชีพของผู้ปกครองซึ่งก็คือ การทำเกษตร ซึ่งเป็นผู้สร้างอาหารให้แก่ตนเองและผู้อื่น สามารถต่อยอดได้หลากหลายในการดำรงชีวิต ไม่ว่าเชื้อไวรัสจะระบาดไปอีกกี่ปีก็ตาม ก็จะสามารถเลี้ยงชีพของตน ของครอบครัวและสังคมให้อยู่รอดได้
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า เกิดการพัฒนากับตัวผู้เรียน
จากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ลองผิด ลองถูก ของการพัฒนาหลักสูตรในปีที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนมีความกล้าที่จะพูดจากสิ่งที่นักเรียนคิดมากขึ้น กล้าที่จะตอบคำถาม ซึ่งครูจะส่งเสริมการกล้าคิด กล้าแสดงออกเหล่านี้ โดยไม่มีการบอกว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก แต่จะเป็นการชี้ให้ตัวผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง และจะค่อย ๆ ปรับตนเอง ให้เป็นคนกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา มากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะให้ดียิ่งขึ้น
ความคาดหวังจากความตั้งใจ
นายวิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน กล่าวว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในโรงเรียนวัดตาขัน มีความทุ่มเท แรงกาย แรงใจ ในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรฐานสมรรถนะ และมุ่งมั่นที่จะนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีกระบวนการ เพื่อหวังให้ปลายทาง คือ เด็กนักเรียนของเราได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ ความสามารถ เจตคติ สู่การมีสมรรถนะที่สำคัญในการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งจะเป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจของทางทุกคนในโรงเรียนตามเจตนารมณ์ที่ได้มุ่งหวังไว้
ผู้เขียน: ปราชญาพร แช่ใจ
ผู้ให้สัมภาษณ์: วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน, ทัศวรรณ ชินวัลย์ ครูโรงเรียนวัดตาขัน
ผู้สัมภาษณ์: ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนวัดตาขัน