เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ได้มีโอกาสได้พบ ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. จึงได้ขอความรู้เกี่ยวกับแนวคิดหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ สพฐ. กำลังอยู่ระหว่างการยกร่าง และยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนก่อนนำไปสู่การทดลองใช้หลักสูตร รวมทั้งการเสนอขอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้มีข้อมูลเบื้องต้น ในการเตรียมตัว/ เตรียมการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ในโอกาสที่จะต้องปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 อยู่แล้ว
หลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังดำเนินการยกร่างนี้ ใช้นำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง – มีคุณธรรม 3) มีงานทำ – มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี ดูรายละเอียดที่นี่ https://bit.ly/2SqqrBV
ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education: DOE) มี 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผู้เรียนรู้ 2) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 3) พลเมืองที่เข้มแข็ง ดูรายละเอียดที่นี่ https://bit.ly/2SrcBze
ใช้เรื่อง Well-being ของ OECD ดูรายละเอียดที่นี่ https://bit.ly/2sl3GVk ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็ก โดยนำมาพิจารณาว่าเด็กจะแสดงพฤติกรรมใดออกมาลักษณะใด
จึงได้สมรรถนะ จำนวน 5 สมรรถนะ ได้แก่
1. การจัดการตนเอง
2. การสื่อสาร
3. การรวมพลังทำงานเป็นทีม
4. การคิดขั้นสูง
5. การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
ประเด็นสำคัญคือ การตรวจสอบหรือประเมินว่าเด็กมีสมรรถนะจริงนั้น จะต้องประเมินอย่างไร แนวทางคือจะใช้ formative assessment ประเมินที่พฤติกรรมการเรียนรู้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และประเมินที่สมรรถนะ (competency) เป็นสำคัญ ดังนั้น ในการประเมินจะดูที่การแสดงออกของเด็กในระหว่างการจัดการเรียนรู้ มีการกำหนด Learning Area เพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ และ key concept ที่สอดคล้องกับช่วงวัย เรียนทั้งเป็นรายวิชาและแบบองค์รวม (holistic) โดยใช้ประเด็น (issue) หรือหัวเรื่อง (topic) สมรรถนะ (competency) เป็นการผสมผสานทั้งความรู้ (knowledge) ทักษะ (skill) คุณค่า (value) และเจตคติ (attitude) ของผู้เรียน เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน ใช้แก้ปัญหา ฯลฯ โดยจะทำเป็นระดับ (level) ความเชี่ยวชาญแต่ละสมรรถนะที่สอดคล้องกับช่วงวัย
ซึ่งหากมีการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจะต้องมี Learning Platform เพื่อช่วยครู ช่วยเด็ก จะต้องมีการปรับเปลี่ยน “หนังสือเรียน” “การวัดและประเมินผล” รวมทั้งปรับการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยของผู้เรียนด้วย
สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการเกริ่นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น กระบวนการดำเนินการยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่จบ และอาจมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงพัฒนาต่อไป หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะนำมาแบ่งปันเพื่อให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้นำไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาต่อไป
เรื่อง: พิทักษ์ โสตถยาคม
อ้างอิง: รัตนา แสงบัวเผื่อน. รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. สัมภาษณ์, 19 ธันวาคม 2562.
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์