โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง ของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 190 คน ได้รับมอบหมายให้เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 6 ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ประกอบด้วยเขตบริการ 3 หมู่บ้าน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนไทยพื้นราบ และเป็นชาวไทยพื้นที่สูงประมาณ ร้อยละ 10 เช่น ชาวม้ง กะเหรี่ยง มีข้าราชการครู 9 คน พนักงานราชการ 1 คน นักการภารโรง 1 คน ผู้บริหารโรงเรียน คือ ผอ.บุญเลิศ ทิพจร
ผอ.บุญเลิศ ทิพจร ตัดสินใจนำโรงเรียนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเมื่อปี 2562 เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ โดยค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนมาแล้วตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่ได้ย้ายมาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ ผอ.ต้องการศึกษาเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศของเรา จึงตั้งใจขับรถไปศึกษาถึงแนวปฏิบัติที่ดี ณ โรงเรียนหลายแห่ง เช่น โรงเรียนวัดแสลง อำเภอเมือง จันทบุรี ในภาคตะวันออก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนบ้านประทาย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังต้องการความมีอิสระเรื่องสื่อการเรียนการสอน ต้องการซื้อหนังสือตามความต้องการของเด็ก ๆ บ้างอย่างน้อยปีละเล่ม หรือต้องการหนังสือที่ทำขึ้นมาเอง หรือตามที่เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งต้องใช้ในการเรียนการสอน หรือต้องการให้เด็กทำสื่อขึ้นมาเอง ความมีอิสระด้านหลักสูตร ผอ.โรงเรียนมีความเห็นว่า สาระการเรียนรู้มีจำนวนมากเกินไป บางสาระการเรียนรู้สามารถรวมกันได้ และที่สำคัญคือ ต้องการเผยแพร่การจัดการศึกษาของโรงเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น เนื่องจากเห็นว่า เด็กไทยควรได้รับการพัฒนาผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบที่โรงเรียนใช้จัดการศึกษา หลังจากเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว โรงเรียนได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. การใช้นวัตกรรมการศึกษาพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
หลังจาก ผอ.บุญเลิศ ทิพจร ได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ขับรถส่วนตัวไปศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนที่มีความน่าสนใจ จึงได้ปรับใช้เป็นนวัตกรรม 3P1M สำหรับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง 3P ประกอบด้วย จิตศึกษา (Psychology) การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) และ PLC (Professional Learning Community ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา) ส่วน M คือ Montessori รายละเอียดจะขอกล่าวถึง Montessori ก่อน ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ผอ.บุญเลิศ ทิพจร ให้ความสำคัญนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเกือบทุกระดับชั้น โดยเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลก่อน สรุปได้ดังนี้
M : Montessori เป็นแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลขึ้นไป และใช้ได้จนกระทั่งระดับชั้นที่เปิดสอนในชั้นสูงสุดของโรงเรียนแห่งนี้ ให้เด็กได้เรียนผ่านสื่ออุปกรณ์ที่มีการใช้และพัฒนาให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ ตามศักยพภาพของเด็ก ยิ่งใช้มือทำกิจกรรมมากเส้นใยสมองเด็กในช่วงอายุที่สมองกำลังพัฒนาก็ยิ่งแตกเส้นใยสมองมากขึ้น สมองร้อยละ 80 ของมนุษย์เจริญเติบโตในช่วงปฐมวัย (อายุ 1-6 ขวบ) และสมองของเด็กเรียนรู้ผ่านการใช้มือ ขนาดและเส้นใยสมองจะเพิ่มมากขึ้น ให้เด็กได้มีโอกาสเลือกเรียนตามที่ตนสนใจ เพื่อฝึกการคิด การตัดสินใจ จึงมีความเป็นอิสระไม่ถูกบีบคั้น สื่อและวิถีจัดการเรียนการสอนทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันตามศักยภาพของตนเอง โรงเรียนเริ่มจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอรีมา 5 ปีแล้ว อุปกรณ์และสื่อในห้องเรียนมีมากกว่า 1,000 ชิ้น ผลของการจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ ทำให้เด็กมีคุณลักษณะด้านจิตพิสัยที่ดีมาก เด็กอนุบาลใช้สื่อเหล่านี้แล้วเก็บไว้ที่เดิมทุกคน โดยครูไม่ต้องบังคับ แสดงถึงความรับผิดชอบของเด็ก บางเรื่องเด็กสามารถเรียนรู้จากสื่อและอุปกรณ์ได้ดีมาก เช่น เด็กอนุบาลสามารถบวกเลขได้ถึงหลักแสน เมื่อเด็กต้องการบวกเลข ก็สามารถเข้ามาใช้สื่อได้เอง เด็กสามารถเรียนรู้ซ้ำได้ตลอดเวลาตามความต้องการ ในขณะที่การสอนตามปกติจะสอนได้เพียงครั้งเดียว เด็กจึงมีความเป็นอิสระ รับผิดชอบและมีความสุข รู้ค่าความสำเร็จของตนในการเรียน
3P : โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่งได้นำวิธีปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาใช้จัดการเรียนการสอน รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
P ที่ 1 คือ Psychology หรือ จิตศึกษา เป็นการฝึกปัญญาภายในให้เด็กมีสติรู้ตัว ตั้งแต่เช้าเวลามาถึงโรงเรียน ครูจะไปรับเด็กแต่ละชั้น มีการฝึกความรับผิดชอบ รู้ตัวเอง เป็นโรงเรียนไร้เสียงระฆังสัญญานเตือน เด็กจะมาเข้าร่วมกิจกรรมหน้าเสาธงกันเองตามเวลา โรงเรียนทำให้กิจกรรมหน้าเสาธงเป็นกิจกรรมที่มีความหมาย การร้องเพลงชาติ ไหว้พระสวดมนต์แปลพร้อมกัน โดยไม่ต้องมีผู้นำ มีการฝึกสติโดยให้เด็กเดินเข้าห้องเรียนตามรอยเท้าที่สร้างเป็นรูปเท้าเอาไว้ หรือเดินอย่างมีสติรู้ตัว ซี่งครูก็ต้องทำด้วยเช่นกัน ก่อนเรียนใช้เวลาทำกิจกรรมจิตศึกษาประมาณ 20 นาที โดยให้นักเรียนนั่งล้อมวง สวัสดีกัน ทำกิจกรรมสร้างสติรู้ตัว โรงเรียนเชื่อว่า เด็กทุกคนถูกกระทำมาต่างกันจากที่บ้าน กิจกรรมจิตศึกษาจะทำให้เด็กมีภาวะสมองที่พร้อมจะเรียนรู้อย่างมีความสุข ภาคบ่ายทำกิจกรรมบอดี้สแกน ให้เด็กหลับตานอนลงในท่าศพหรือท่าที่สบายที่สุด จากนั้นครูทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายเพื่อให้เกิดการสร้างคลื่นสมองในความถี่ต่ำ เปิดเสียงเพลงประกอบเบาๆ แล้วเล่านิทานคุณธรรมให้เด็กๆฟัง ถ้าเป็นเด็กโตจะให้เพื่อนอ่านนิทานคุณธรรมให้ฟัง ในหลักการที่ทำ ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง ครูรักเด็ก เด็กรักครู สอนให้แข่งกับตัวเอง ช่วยเหลือเพื่อน สามารถทำงานเป็นทีมได้ตามความสมัครใจ ครูจะไม่ทำร้าย ข่มขู่เด็ก หรือหลอกล่อเด็กด้วยรางวัล
P ที่ 2 คือ Problem-based Learning หรือ PBL (การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน) หลังจากทำกิจกรรมจิตศึกษาบอดี้สแกนตอนกลางวันเสร็จแล้ว เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จึงเรียนแบบ PBL ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนแบบโครงงานที่มาจากความอยากรู้ของเด็กๆ บนตัวชี้วัดของหลักสูตร ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เรียนรู้กับเด็ก (Facilitator) หลังเลิกเรียนมีกิจกรรม AAR (After action Review) สำหรับเด็กทุกระดับชั้นหรือพิธีนม ประมาณ 5 นาที คือให้เด็กนั่งล้อมวงดื่มนมกันเพื่อการสรุปรวม แล้วครูประจำชั้นจะถามถึงความประทับใจอะไรบ้าง ที่ได้มาเรียนในวันนี้ หรืออะไรที่ต้องทำต่อหรือเตรียมในวันต่อไป
การเรียน PBL ใน 1 เทอม (10 สัปดาห์) แบ่งเป็น 2 ควอเตอร์ต่อ 1 เทอม มีการทำกิจกรรม 2 โครงงาน ภาคเช้าเรียนคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาคบ่ายเป็นการบูรณาการโดยใช้วิชาใดเป็นแกนกลางก็ได้ สัปดาห์แรกของการเรียนแบบ PBL เป็นการสร้างแรงบันดาลใจว่าเด็กสนใจเรียนเรื่องใด เมื่อเด็กได้ประเด็นที่สนใจแล้ว ครูจึงนำเข้าสู่แผนการสอน ประเด็นที่เด็กไม่รู้จึงทำเป็นโครงงาน จากนั้นทำ Mind Mapping ของทั้งครูและนักเรียน ว่าเกี่ยวข้องกับสาระการเรียนรู้และตัวชี้วัดใดบ้าง โดยให้เด็กช่วยกันตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้และวางแผนวิธีการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ ครูเป็นfacilitator เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เด็กจึงตื่นเต้น เรียนเพราะอยากเรียน ไม่ได้ถูกบังคับให้เรียน ชิ้นงานที่ได้ก็จะวาดเป็น Mind Mapping วันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ 10 จะเปิดบ้านเพื่อนำผลงานของแต่ละชั้นเรียนมาแสดง
P ที่ 3 คือ PLC ดำเนินการคล้ายกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคณะครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่จัดให้กับเด็กหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยพูดในเชิงบวกและไม่ต้องเป็นทางการมาก ในวันอังคารและวันพฤหัสบดีหลังเลิกเรียน มีการตั้งประเด็นในการทำ PLC เช่น กิจกรรมจิตศึกษา ตั้งหัวข้อคุยกันว่า เห็นอะไรบ้างหรือที่ทำแล้วประทับใจ หรือใช้ประโยค “ถ้าจะดีกว่านี้ เราควรจะทำยังไง” ด้วยการนั่งล้อมวงจับมือกัน มีผู้นำวง PLC 1 คน มีพรมปู หมอน ที่รองนั่ง เปิดเพลงเบา ๆ ส่งพลังบวกให้กันและกัน ทำให้ได้องค์ความรู้จากเพื่อนครูและเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน ถือเป็นทั้งการทำงานและการเรียนรู้ร่วมกัน
การจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก 10% ที่เป็นเด็กชาวเขาซึ่งเริ่มเรียนระดับชั้นอนุบาล ภาษาไทยของเด็กจะเรียนเป็นคำ เรียกว่าเรียนแบบภาษาไทยมุ่งประสบการณ์ เป็นการเรียนแบบมอนเตสซอรี่โดยเฉพาะ เนื่องจากการเรียนในระดับชั้นอนุบาลมีความแตกต่างจากโรงเรียนใกล้เคียง โรงเรียนจึงเชิญผู้ปกครองมาเรียนกับบุตรหลาน 1 วันใน 1 ปีการศึกษา เพื่อให้ได้เรียนรู้ว่าบุตรหลานเรียนอย่างไร อยู่กับใครบ้างในโรงเรียน เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่สื่อสารภาษาไทยได้บ้าง เพราะผู้ปกครองซึ่งมาทำงานที่นี่ใช้ภาษาไทยได้บ้างและต้องการให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนในเมือง เด็กกล้าสื่อสารภาษาไทยกับครู เนื่องจากเกิดความไว้วางใจครูจากกิจกรรมจิตศึกษาใน 2 สัปดาห์แรกที่เข้ามาเรียน แม้จะเป็นการพูดภาษาไทยทีละคำ เมื่อเด็กพูดไม่ถูก ครูก็จะสอน
2. เรื่องที่โดดเด่นของโรงเรียน
2.1 นอกจากนวัตกรรม 3P1M แล้ว โรงเรียนยังมีความโดดเด่นในเรื่องความรับผิดชอบของเด็ก โรงเรียนไร้เสียงระฆัง แต่เด็กสามารถมาเข้าแถวเคารพธงชาติพร้อมกันในตอนเช้าได้อย่างพร้อมเพรียง
2.2 ปัจจุบัน โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง เป็นที่ฝึกอบรมและศึกษาดูงานของสมาคมมอนเตสซอรี่แห่งประเทศไทย มีผู้มาศึกษาดูงานทั้งจากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ฮ่องกง จีน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนจากเวียดนาม ซึ่งเมื่อได้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วต่างชื่นชมถึงคุณภาพ บรรยากาศการเรียน เป็นแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ให้กับโรงเรียนที่มาศึกษาดูงาน แม้กระทั่งในประเทศไทย ได้มีหลายโรงเรียนเข้ามาศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ณ โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่งด้วยเช่นกัน
3. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและต้องการสืบสานต่อ
โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง ได้พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ผอ.มีแนวคิดว่า ควรมีโรงเรียนคู่ขนานที่จะพัฒนาไปด้วยกัน ไม่ใช่การพัฒนาโรงเรียนเพียงลำพัง ความสำเร็จที่ต้องการสืบสานต่อไป คือ การขยายการจัดการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่ขึ้นมาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 แต่เนื่องจากโรงเรียนไม่มีครูผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ อีกทั้งยังขาดแคลนงบประมาณ จึงได้ประสานขอความร่วมมือไปยังสมาคมมอนเตสซอรี่แห่งประเทศไทย ประกอบกับครั้งหนึ่งเคยทดลองสอน 1 ภาคเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งในขณะนั้น โรงเรียนฟอร์เรสวิวจากประเทศออสเตรเลียได้ส่งคณะครูมาสำรวจและศึกษาดูงานครั้งสุดท้าย ปรากฏเป็นที่พึงพอใจอย่างมากต่อคณะดังกล่าวในกิจกรรมและสื่อการสอนของโรงเรียน และตกลงที่จะส่งนักเรียนมาศึกษาดูงาน 1 สัปดาห์ในปีการศึกษาหน้า
และเนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกและประเทศไทยประสบกับวิกฤตไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ โรงเรียนจะเริ่มสอนทางไกล ด้วยการทำแผน PBL นำไปใช้กับผู้ปกครอง ครูเป็นคนดูแลเรื่องแผน ผู้ปกครองเป็นคนสอน โดยได้สำรวจจากผู้ปกครองโดยใช้ Google form ว่ามีความต้องการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนด้านใด มีความต้องการสอนเรื่องใดให้บุตรหลานมากที่สุด เช่น ผู้ปกครองที่ขายก๋วยเตี๋ยว ต้องการสอนเรื่องการขายก๋วยเตี๋ยว ก็ให้นำมาทำเป็นโครงงาน นำตัวชี้วัดตามหลักสูตรเชื่อมโยงเข้าไปในโครงงานชิ้นนั้น ให้ผู้ปกครองมั่นใจว่า โครงงานที่ทำเป็นไปตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ การทำโครงงานแต่ละชิ้นทำให้เด็กได้รับการพัฒนาสมรรถนะในหลายด้าน ผลที่เกิดขึ้นกับเด็กอาจเกินที่หลักสูตรแกนกลางกำหนดไว้ เช่น เด็กสามารถคำนวณได้ว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวทำมาจากอะไรบ้าง เป็นต้น
เนื่องจากมอนเตสซอรี่มีวิธีการที่ชัดเจน มีรูปแบบ ทำให้ง่ายต่อการจัดการเรียนการสอนของครู อย่างไรก็ตามโรงเรียนยังจัดการเรียนการสอนแบบ PBL และกิจกรรมจิตศึกษาควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ให้เป็นไปอย่างกลมกลืนกันอีกด้วย
4. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากความมุ่งมั่นและการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนของผอ.โรงเรียน โดยมีทฤษฎี มีผลการปฏิบัติที่สำเร็จแล้วเป็นต้นแบบ มีความอดทน และมีคณะครูร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งเมื่อครูเห็นงานประสบความสำเร็จทีละเล็กละน้อย ก็เกิดการปรับเปลี่ยนในตัวครู ปัจจุบันครูทุกคนไม่มีเวลาว่าง มีแต่เวลาทำเพื่อเด็ก
5. ปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข
5.1 การที่โรงเรียนไม่สามารถสรรหาครูได้ตรงตามความเชี่ยวชาญที่โรงเรียนต้องการ เช่น ครูเอกวิทยาศาสตร์ เมื่อโรงเรียนขาดครูด้านนี้ จึงได้หารือและนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
5.2 การบริหารงบประมาณ ในการใช้งบประมาณเพื่อขยายผลการจัดการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ โรงเรียนยังต้องดำเนินการภายใต้กฎระเบียบเดิม ทำให้โรงเรียนต้องสรรหางบประมาณจากแหล่งอื่น
6. แนวทางการดำเนินงานในอนาคต
6.1 โรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 แต่เมื่อประสบกับวิกฤตไวรัส COVID-19 โรงเรียนได้พยายามเริ่มต้นการสอนทางไกลตั้งแต่เดือนเมษายนโดยใช้โปรแกรมที่ผู้ปกครองสามารถใช้งานได้ เช่น Line และ Messenger ซึ่งผอ.บุญเลิศ ทิพจร ได้มอบหมายงานในกลุ่มไลน์ โดยตั้งกลุ่ม Line ขึ้นมาทุกระดับชั้น ให้เด็กทุกคนสร้างชิ้นงาน เช่น การเขียนการ์ตูนช่อง เรื่องเกี่ยวกับ COVID-19 ปรากฏว่าเด็กได้ส่งชิ้นงานเข้ามา เช่น การป้องกัน COVID-19 ต้องล้างมือ ต้องใช้ช้อนกลาง บางคนทำชิ้นงานเป็นคลิปส่งให้ครู
6.2 โรงเรียนจะทำแผนการจัดการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่ร่วมกับผู้ปกครองถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ส่วนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ยังใช้การจัดการเรียนการสอนแบบจิตศึกษาอยู่ ทั้งนี้ มีแผนค่อย ๆ ใช้การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่เข้าไปใช้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
7. การศึกษาฐานสมรรถนะ
โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่งยังไม่ได้ปรับหลักสูตร โรงเรียนยังใช้หลักสูตรเดิม ตามตัวชี้วัดเดิม เพิ่มเติมแค่การใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น ซึ่งมีความคล้ายหลักสูตรฐานสมรรถนะในประเด็นที่มุ่งไปสู่การพัฒนาสมรรถนะให้กับเด็กระหว่างการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL อย่างไรก็ตาม โรงเรียนอยู่ระหว่างการให้ครูอบรมพัฒนาเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะและการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ ที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็น ผู้เรียนรู้ (learner person) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation co-creator) และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizens) ต่อไป
โรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง แม้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ถือว่ามีทุนที่ดีอยู่หลายประการที่จะช่วยสนับสนุนความสำเร็จตามเจตนารมณ์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้เป็นอย่างดี คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีด้านการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ความทุ่มเทของทั้งผู้บริหารและคณะครูในการจัดการเรียนการสอนทั้งแบบ PBL และจิตศึกษา ผลลัพธ์สุดท้ายไม่ใช่อื่นไกลเลยที่ผอ.บุญเลิศ ทิพจรและคณะครูต้องการ คือ ผู้เรียนที่เปี่ยมด้วยความรู้ สมรรถนะ และเจตคติที่ดี
ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, บุญเลิศ ทิพจร
ผู้ให้สัมภาษณ์: บุญเลิศ ทิพจร ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: บุญเลิศ ทิพจร และคณะ