ปรับ “บ้าน” เป็นโรงเรียน เปลี่ยน “พ่อแม่” เป็นครู จัดการเรียนรู้ใช้โรงเรียนเป็นฐานใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน

18 สิงหาคม 2021

จากเทปบันทึกรายการที่ท่าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอน สร้างโอกาส ก้าวทันโลก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบภาคการศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนว่าสิ่งที่สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ดำเนินการอยู่นั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและการให้สัมภาษณ์ของดร.อัมพร เป็นอย่างยิ่ง ดังคำกล่าวที่สำคัญ เช่น การจัดการศึกษาที่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของบริบท ชุมชนพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมของการจัดการศึกษา

“การศึกษาหรือนโยบายอะไรก็ตาม ผมคิดว่าเราตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใส่ด้วยกันทั้งหมดคงไม่ใช่
เพราะแต่ละพื้นที่แต่ละบริบทมีปัญหาแตกต่างกัน มีต้นทุนแตกต่างกัน”

ทั้งนี้ สิ่งสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้นำเสนอตลอดมาผ่านบทความต่าง ๆ เราจะพบว่าหลายสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีการพูดถึงครูสามเส้าที่มีกระบวนการดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานของตน อาทิ

  

และยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่ง ที่ดำเนินการจัดการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ เห็นการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาที่ยึดโยงกับวิถีของชุมชน ไม่ละเลยความต้องการของพื้นที่ ล้วนสะท้อนภาพในสิ่งที่เลขาธิการ กพฐ. กำลังกล่าวถึงได้เป็นอย่างดี “ตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใส่ด้วยกันทั้งหมดคงไม่ใช่”

หรือจะพิจารณาลงลึกไปถึงระดับห้องเรียน การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมออกแบบการเรียนรู้ สามารถเลือกหัวข้อ เลือกกิจกรรมการเรียนที่เหมาะสมกับความถนัดและความต้องการของตน เช่น ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสตูล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โรงเรียนอนุบาลสตูลที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ทุกคนเป็นนักวิจัยที่ค้นคว้าความเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือจะเป็นโรงเรียนบ้านซ่อง จ.กาญจนบุรี ที่ออกแบบกิจกรรมทักษะอาชีพตามความสนใจของผู้เรียนผ่านทักษะอาชีพ 8 กิจกรรมสู่ห้องเรียนอัจฉริยะ เป็นต้น

ผู้บริหารโรงเรียนจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุด หรือสถานศึกษาเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เป็นอีกครั้งกับการเน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโรงเรียนและจากสัมภาษณ์โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็พบผลที่สอดคล้องกับสิ่งที่ท่าน ดร.อัมพร พินะสา ได้เน้นย้ำ ดังเช่นหลายบทความที่เราได้นำเสนอออกไปแล้ว

 

ความพยายามในการที่จะปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบันนั้น เริ่มมีให้เห็นแล้วในหลายโรงเรียน เช่น การคิดค้น “Learning Box” (กล่องการเรียนรู้) นวัตกรรมของโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่ออกแบบมาเพื่อนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ที่บ้านในช่วงโควิด-19 สะท้อนความพยายามในการปรับตัวของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

นี่เป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมด ที่มีมากกว่า 300 บทความ ที่ผู้เขียนได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้นยังมีอีกหลายโรงเรียน อีกหลายนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัดในขณะนี้ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ท่านเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวถึง

ไม่เพียงที่ปรากฏตามบทความที่ผ่านมาเท่านั้นที่เป็นความพยายามที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน และในไม่กี่วันที่จะถึงนี้จะมีกิจกรรมซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดประชุมเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล) ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ และผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะมาร่วมรับฟัง พูดคุยแลกเปลี่ยนสะท้อนคิด โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 – 12.30 น. ในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings และทุกท่านสามารถเข้าร่วมรับฟังผ่าน Facebook Live ได้ทุกที่ ทุกอุปกรณ์ หากท่านสนใจเข้าร่วมประชุมโปรดสแกน QR-Code หรือ Link ด้านล่างได้เลย

QR Code สำหรับเข้าร่วมประชุมผ่าน Facebook Live
หรือ >>> คลิกที่นี่ <<<

กำหนดการประชุม

________________

ปล. เนื้อหาโดยสรุปจากเทปบันทึกรายการที่ท่าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอน สร้างโอกาส ก้าวทันโลก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 มีดังต่อไปนี้

การจัดการศึกษาหรือนโยบายใด ๆ หากเปรียบว่า การตัดเสื้อตัวเดียว แล้วใส่ด้วยกันทั้งหมด “คงไม่ใช่” เพราะแต่ละพื้นที่แต่ละบริบทมีปัญหาแตกต่างกัน มีต้นทุนแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ผู้บริหารโรงเรียนจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุด หรือสถานศึกษาเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา “การศึกษาที่ดีต้องใช้โรงเรียนเป็นฐาน ใช้ตัวผู้เรียนเป็นฐานในการพัฒนา” แล้วสิ่งที่เอาไปใช้กับเด็กแต่ละคนก็ไม่ควรเป็นสิ่งเดียวกัน การศึกษาไม่สามารถหยุดนิ่งในสภาวะที่มีโรคระบาดได้ เราจะทำอย่างไรที่จะปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ซึ่งก็หมายความว่า การศึกษาในรูปแบบใหม่ที่ สพฐ. ออกแบบไว้ก็คือ ให้นักเรียน เรียนกับครูอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไรให้เด็กแต่ละคนมีความอยากรู้อยากเรียน และอยากไขว่คว้าหาความก้าวหน้าให้กับตนเอง โดยใช้บ้านเป็นสถานที่เรียน ที่มีพ่อแม่เป็นที่ปรึกษา มีคุณครูเป็นคนส่งเสริมสนับสนุน โดยใช้หลักการว่า “นอกจากใช้โรงเรียนเป็นฐานแล้ว ต้องใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน” ซึ่งในแต่ละคน แต่ละที่ แต่ละจุด ต้องมีนวัตกรรมมีรูปแบบที่ต่างกัน ฉะนั้น ถ้าจะให้เกิดสิ่งที่ได้กล่าวไป สพฐ. ต้องกระจายอำนาจ ในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ทั้งหมดไปที่สถานศึกษา แล้วส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนรวมทั้งผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม และเหนือสิ่งอื่นใดตัวที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดจะต้องมีการทำ

  1. การทำ PLC ในกลุ่มของผู้เกี่ยวข้อง ให้พัฒนาจากฐานที่ตัวเองแต่ละคนมีอยู่ไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ไม่ใช่ทำเพื่อการแข่งขันแต่ทำเพื่อการพัฒนาแล้วจะทำให้โรงเรียนมีความยั่งยืน
  2. การมีโรงเรียนใครโรงเรียนมันก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะจริง ๆ แล้วโรงเรียนเป็นของรัฐทั้งหมด แต่ถ้าหากเราใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ 3-4 โรงเรียนมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน ใช้ครูที่เก่ง ๆ คนเดียวกัน ใช้สื่อเทคโนโลยีสารวนเทศที่ดี ๆ ของโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งก็สามารถมาใช้ร่วมกันได้ ก็จะทำให้เกิดแบบ two in one , three in one หรือ four in one ในกลุ่มการศึกษาจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากกำจัดความคิด แต่ควรหารูปแบบที่สอดคล้องกับบริบท ของพื้นที่และชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ

รูปแบบการเรียนที่ออกมา จะมีทั้งลักษณะ คือ

  1. Online แบบ On Demand เพราะจะใช้ในกรณีที่บ้านนักเรียนมีอินเตอร์เน็ต พ่อแม่มีอุปกรณ์พร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนตรงนี้ได้
  2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาผ่านทางมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม ต่อมา รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานและต่อยอด ซึ่งมีการจัดการเรียนที่ดีที่สุดก็คือ การเรียน On Air คือ การเรียนผ่านทางมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งก็มีจัดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม. 3 ก็ทำให้นักเรียนที่มีทีวีอยู่ที่บ้านสามารถเรียนรู้ที่บ้านได้
  3. ประเทศไทยเรามีความพร้อมที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด มีหมู่บ้านบางหมู่บ้านอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรซึ่งอยู่ไกลการคมนาคมไม่สะดวก เรามีรูปแบบการจัดชุดการเรียนที่เป็นลักษณะของ On Hand คือ ชุดการเรียนสำเร็จรูปไปให้นักเรียนเรียนที่บ้าน เพราะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเป็นแนวคิดใหม่ซึ่งต่อไปอาจจะถอดบทเรียนจากตรงนี้ว่า ภาพอนาคตต่อไปจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมาโรงเรียนทุกวัน อันนี้ก็เป็นความท้าทายรูปแบบใหม่ซึ่งคิดว่าจะเป็นการเรียนแบบ Anywhere Anytime ซึ่งอยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้ และจะทำอย่างไรให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้ และอ่านคิดวิเคราะห์ได้ ถ้านักเรียน มีพื้นฐานที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ที่เหลือคิดว่า นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองได้ มีพัฒนาการได้ การมาโรงเรียนอาจจะมาแค่ปรึกษาคุณครู มาสอบถามในส่วนที่นักเรียนทำไม่ได้แต่การศึกษาจริงๆกลับไปเรียนที่บ้านก็ได้ อันนี้อาจจะเป็นการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนทุกคนควบคู่กันไป

“ ดังนั้นแล้ว การศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) แม้จะมีความยุ่งยาก แต่เราก็ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ตรงนี้ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องห่วงเรื่องคุณภาพของนักเรียนอยู่ และภาคหน้าการศึกษาพื้นฐานจะประสบความสำเร็จต้องเป็นการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งอาจจะร่วมมือกับชุมชนและพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือพี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน เกิดเป็นการศึกษารูปแบบใหม่ ”

สุดท้าย ฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในประเทศไทยทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะทุกคนเติบโตมา เกิดจากการศึกษาทั้งสิ้น แต่คิดว่าการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงทิศทางใดหรือไม่อย่างไร คนในชุมชน ในสังคมต้องช่วยกัน และเป็นแบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นต้นแบบหรือคนในชุมชนเป็นต้นแบบช่วยขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เป็นคนดีร่วมกันอย่างสันติสุขไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมไทยกับการศึกษาก็จะให้การพัฒนา ส่วนเทคโนโลยีหรือภาษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเราจะต้องช่วยกันส่งเสริมพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่พัฒนา เเต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยของเรามีข้อดี ก็คือ ความรักความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การน้อมถ่อมตนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งสิ่งนี้ภายใต้ “สถานการณ์โควิด” จะมาในรูปแบบรุนแรงแค่ไหน ถ้าทุกคนมีความรัก ความห่วงใยต่อกันก็ทำให้สังคมไทยเดินหน้าและอยู่ได้อย่างมีความสุขได้

ท่านสามารถติดตามรับชมรายการ 1 ในพระราชดำริ ได้ทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.30 – 20.50 นาที (หลังข่าวในพระราชสำนัก)

 


 


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
“ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” เสวนาออนไลน์บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล) ครั้งที่ 1“น้ำพริกแกงสด” ของดีในชุมชนบูรณาการการเรียนรู้สู่การสร้างสมรรถนะให้แก่นักเรียน
บทความล่าสุด