เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำหนดจัดประชุม ครั้งที่ 2/2564 โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เช่น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะรองประธานกรรมการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการจากสำนักงานปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ สบน. ในฐานะรับผิดชอบงานเลขานุการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และนำเสนอ (ร่าง) ประกาศ และข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมพิจารณา ดังต่อไปนี้
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมทราบ
ในการดำเนินการงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. เมื่อวัน 1 พ.ค. 62) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความก้าวหน้าดังต่อไปนี้
1. จากเป้าหมายตามแผนปฏิรูปการศึกษาระยะสั้น (ภายในปี 64) ระบุว่าให้มีนโยบายและกฎระเบียบที่คล่องตัวและเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และการบริหารสถานศึกษา อีกทั้งให้มีหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของชุมชนและพื้นที่ ซึ่งได้มีการดำเนินการการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่เป้าหมาย โดยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของพื้นที่ให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและวัดประเมินผลการศึกษาได้เอง โดยกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่สนับสนุนในเรื่องการกระจายอำนาจและให้ความอิสระแก่พื้นที่และสถานศึกษานำร่อง อีกทั้ง สพฐ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้จัดทำกฎหมายลำดับรอง กฎ ระเบียบ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ความเห็นชอบ
การดำเนินการที่ผ่านมา ดูรายละเอียดลิงก์ด้านล่างนี้
การจัดทํา/คัดเลือก/จัดหา/ใช้ตํารา/สื่อการเรียนการสอน
ความอิสระในการเลือกใช้หลักสูตร
เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี พ.ศ. 2564 – 2569
ระเบียบ/ประกาศ
การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน
การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
การเทียบโอนผลการเรียน
การรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค
2. การวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษานำร่องที่ยืนยันเข้าร่วมโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งสิ้นจำนวน 265 โรงเรียน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ย. 64) แบ่งออกเป็น โรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 226 โรงเรียน สังกัด สช. จำนวน 17 โรงเรียน และ สังกัด อปท. จำนวน 22 โรงเรียน ( ดูรายละเอียดคลิกลิงก์นี้ )
ซึ่ง รศ.ทิศนา แขมมณี ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ได้จัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช … ช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1 – ป.3) และคู่มือการใช้เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดตามภาพ
ในการวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้มีกำหนดวัตถุประสงค์ คือ
-
- เพื่อศึกษาความคิดเห็นของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมที่มีต่อคู่มือการใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. สำหรับช่วงชั้นที่ 1
- เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาและใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาระบบและการบริหารจัดการปัจจัยด้านบุคลากร การบริหารจัดการหลักสูตร และการประกันคุณภาพการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุง (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. สำหรับช่วงชั้นที่ 1 การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการหลักสูตร และการประกันคุณภาพการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
3. ผลการจัดเสวนา “ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้” บทเรียนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล เผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของกรณีศึกษา 3 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล)
รับชมย้อนหลังบทเรียน กรณีศึกษาจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
รับชมย้อนหลังบทเรียน กรณีศึกษาจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
รับชมย้อนหลังบทเรียน กรณีศึกษาจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
4. ผลการดำเนินงานด้านวิชาการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด
จังหวัดศรีสะเกษ
-
- จังหวัดมีโจทย์ยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด
- การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็น 1 ใน 9 ประเด็นพิเศษของจังหวัด
- ในระยะ 3 ปี ของการขับเคลื่อน มีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีจำนวนโรงเรียนนำร่องเพิ่มขึ้นทุกปี/มีการเพิ่มคุณภาพโดยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning/มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะมีการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
- การจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการสาระวิชาหลายวิชา
- การประเมินผลแบบบูรณาการ นักเรียนทำงาน 1 งาน โดยประเมินได้หลายวิชา
จังหวัดกาญจนบุรี
-
- มีการขยายผลนวัตกรรมสู่การเชื่อมโยงกับหลักสูตรอาชีวศึกษา
- จัดทำกลยุทธ์ที่มีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น
- ตอบโจทย์ความต้องการทางเศรษฐกิจลดปัญหาสังคม
- มีกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานมุ่งเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ คุณธรรม ภาษา และทักษะอาชีพ
- ร่วมกับมหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ ในเรื่องของธุรกิจการค้าปลีก
- มีการจัดทำหลักสูตรในแต่ละปี มีความยืดหยุ่นปรับได้ตลอดเวลา มีนวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย
- ใช้หลักสูตรที่ตรงตามสมรรถนะของผู้เรียนอย่างแท้จริง ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมจัดการเรียนรู้และการประเมินผล
- มีนวัตกรรมในแต่ละโรงที่เชื่อมโยงสู่เป้าหมายของการเป็นสถานประกอบการ
- ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยคัดเลือกครูที่มีความสามารถในแต่ละกลุ่มสาระวิชาให้ครูจัดทำคลิปแล้วอัพโหลดเป็นคลังความรู้
จังหวัดระยอง
-
- จังหวัดระยองได้ประกาศเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (EEC : EASTERN ECONOMIC CORRIDOR) และมีการใช้หลักสูตร RAYONG MARCO
- จังหวัดระยอง มีจุดเด่นชัดในเรื่องพลังความร่วมมือต่อการจัดการศึกษา เป็นระบบครบถ้วน ตั้งแต่หลักสูตร จนกระทั่งการวัดและประเมินผล
- จังหวัดระยองมีศักยภาพที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดอื่น
- มีระบบ PLC และมีฐานความรู้พอสมควร สามารถพัฒนาต่อยอดได้โดยการดำเนินงานให้กับทุกภาคส่วน
- การจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการสาระวิชาหลายวิชา
- การประเมินผลแบบบูรณาการ นักเรียนทำงาน 1 งาน โดยประเมินได้หลายวิชา
- การใช้การเรียนรู้แบบใช้ online course : MOOCS
จังหวัดเชียงใหม่
-
- จังหวัดเชียงใหม่ได้สร้างกลไกในการดำเนินงานโดยการสร้างสังคม/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยการพัฒนา(PLCD)
- มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการดำเนินงานให้กับทุกภาคส่วน
- มีหลักการทำงานโดยใช้งานวิจัยเป็นฐานในการปฏิบัติการ
- มีจำนวนโรงเรียนนำร่องเพิ่มขึ้นทุกปี
- มีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานหรือเรียกว่าทวิพหุภาษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- การจัดการเรียนการสอนโดยนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานหรือเรียกว่าทวิพหุภาษาบูรณาการสาระวิชาหลายวิชา
จังหวัดสตูล
-
- มีการปรับการเรียนการสอนเป็นเชิงบูรณาการมากกว่า 10 ปี มีการออกแบบ ปรับจาก 10 สมรรถนะ ของ สมศ. และท้ายที่สุดหลอมรวมเหลือ 5 สมรรถนะ
- ใช้โครงงานฐานวิจัย ออกแบบ model ครูสามเส้า 8,700 ชั่วโมง
- มีการวัดประเมินผลที่ตอบโจทย์ฐานสมรรถนะ
- ใช้ฐานการเรียนรู้จากที่บ้านของนักเรียน เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน
จังหวัดปัตตานี
-
- มีการขับเคลื่อนโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด คือ “มุ่งสู่ความเป็น Smart People Smart City”
- การจัดทำหลักสูตร Pattani Herritage
1) จัดทำโมดูลการเรียนรู้โดยใช้บริบทพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีเป็นแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มเติมตามบริบทพื้นที่ของสถานศึกษา
2) ปรับใช้ตัวชี้วัดโดยวิเคราะห์รวบรวมและสังเคราะห์ หรือคงตัวชี้วัดบางตัวไว้ตามแนวทางสถานศึกษา รวมถึงการจัดชั่วโมงภายใต้กรอบมาตรฐานกลุ่มสาระวิชาและตามระดับชั้น
3) พัฒนาหลักสูตรโดยใช้แนวทางปฏิบัติในการเลือกใช้หลักสูตรตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ตามหลักสูตรประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 - การพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผ่านการดำเนินการ 5 ขั้นตอน คือ
1) การกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน
2) การกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3) การสร้างความร่วมมือ
4) การขับเคลื่อนความร่วมมือ
5) ร่วมกันประเมินผลและทบทวนเป้าหมาย - การเลือกใช้หลักสูตรที่เน้นความเป็นท้องถิ่นจากชุมชนสู่สากล สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีปรับไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ครอบคลุมในด้านของความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ
จังหวัดยะลา
-
- มีการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1) ขับเคลื่อนโดยโรงเรียนและชุมชน (micro)
2) จิตวิญญาณความเป็นครู (macro)
3) สร้างกลไกความร่วมมือ (critical mass)
4) กลไก 3 ระดับ ได้แก่ นโยบาย พื้นที่ และโรงเรียนร่วมกับชุมชน
5) ความเป็นสากล พหุภาษา สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เก็บรักษา ภูมิปัญญา สร้างกระบวนการคิดการทำงาน รวมถึงการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร - มีระบบการพัฒนาครู และพัฒนาผู้เรียนโดยใช้ฐานคิดด้านพหุภาษา พหุวัฒนธรรม
- มีการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
จังหวัดนราธิวาส
-
- การสร้างความหมายใหม่และบทบาทใหม่ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของพื้นที่อย่างยั่งยืนจัดทำโมเดลเนื้อหาความรู้ ประกอบด้วย
1) เนื้อหาชีวิต ซึ่งเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม
2) ทักษะชีวิตที่จำเป็นในยุค new normal
3) วิชาหลักที่จำเป็นต้องเรียนรู้รวมถึงความสามารถในส่วนของ 3R8C - มีหลักสูตรที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จำนวน 20 หลักสูตร จากสถานศึกษานำร่อง 20 แห่ง
- มีการจัดอบรมครูและผู้บริหารสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการสอนในสถานการณ์โรคระบาดสำหรับนักเรียนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ทางเลือก คือ การสอนในแบบออนไลน์ และแบบออนไลน์เสมือนจริง (Virtual Classroom)
- มีการพัฒนาเครื่องมือนิเทศ ติดตามและประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษาของแต่ละระดับชั้นและรายวิชาที่ต่างกันออกไป ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย
- แนวทางการพัฒนาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส
1) การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้
2) จัดสาระการเรียนรู้ให้หลากหลาย สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และสภาพภูมิสังคม
3) การนำหลักสูตรนำไปสู่การปฏิบัติ ลดความจำเป็นของการใช้แบบทดสอบแบบเลือกตอบ จนไปถึงการเลิกใช้
4) เปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่
5) เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ตามความต้องการและเสรี
- การสร้างความหมายใหม่และบทบาทใหม่ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของพื้นที่อย่างยั่งยืนจัดทำโมเดลเนื้อหาความรู้ ประกอบด้วย
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
การประชุมวันนี้ได้มีการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ/ข้อเสนอ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
1. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. …
เพื่อให้มีการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยสาระสำคัญ คือ จะมีการแต่งตั้งผู้ประเมินอิสระเป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุก 3 ปี โดยใช้กระบวนการประเมินเชิงพัฒนา DE เพื่อพัฒนาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในกรณีที่คณะผู้ประเมินอิสระเห็นว่าผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ได้ ให้คณะผู้ประเมินอิสระเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายให้มีการยุบเลิกพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้นได้ ทั้งนี้การประเมินยังคงวัตถุประสงค์ คือเพื่อมุ่งให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประเมิน 5 ประการดังนี้
(1) เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา การบริหารจัดการในด้านการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง และการสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(2) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางและปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(3) เพื่อถอดบทเรียนในการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งบทเรียนในการดำเนินงานของสถานศึกษานำร่อง และบทเรียนในการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละพื้นที่
(4) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(5) เพื่อขยายผลแนวปฏิบัติที่ดีในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐและของเอกชน
2. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินงานในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …
เพื่อให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินการในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง สังกัด สพฐ. ซึ่งประธานคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้นำเสนอที่มาของร่างประกาศ โดยเน้นย้ำที่จะพยายามทำให้สูตรจัดสรรเงินครั้งนี้ ให้ดูเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนแต่ให้ครอบคลุมตัวแปรที่หลากหลาย มุ่งให้เกิดการจัดสรรที่ลดความเหลื่อมล้ำในด้านงบประมาณ เช่น ตัวแปรด้านภูมิศาสตร์ ด้านขนาดโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ประธานในที่ประชุม ยังได้ขอให้ดูคำนิยามของถ้อยคำต่าง ๆ ให้ถูกต้องชัดเจน ตามที่ประชุมได้เสนอมา โดยเฉพาะคำว่าเงินอุดหนุนทั่วไป ขอบเขตการใช้จ่ายจะได้ขนาดไหน เป็นอย่างไร ขอให้ทำให้ชัดเจนเพื่อลดหรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาในอนาคต อย่างเช่น กรณีที่เคยมีปรากฏให้เห็นเป็นกรณีศึกษามาแล้ว ในวาระนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการสูตรจัดสรรฯ ตามที่ฝ่ายเลขาได้นำเสนอ ซึ่งหากสูตรจัดสรรนี้ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ ก็จะช่วยให้สถานศึกษาได้มีงบประมาณรายหัวมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขยายผลในเชิงนโยบายและนำไปใช้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่นต่อไป
3. (ร่าง) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อ ก.ค.ศ.
เพื่อให้มีการพิจารณาออกกฎ ก.ค.ศ. หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขสำหรับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เกิดความเหมาะสมกับการบริหารงานของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้ง อ.ก.ค.ศ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่อง สำหรับการคัดเลือก ตัวอย่างเช่น ภาค ค. ให้คณะกรรมการประเมินจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหรือที่แต่งตั้ง การบรรจุแต่งตั้ง ตัวอย่าง เช่น การกันอัตราครูจากนักเรียนที่รับกองทุนต่าง ๆ หรือจากครูในพื้นที่เพื่อป้องกันการย้ายกลับภูมิลำเนา และการโยกย้าย ให้มีคณะกรรมการประเมินจากคณะกรรมการขับเคลื่อนหรือที่แต่งตั้งด้วย
ก่อนปิดการประชุมประธานในที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าจะขอนัดหมายประชุมคราวต่อไปเร็วขึ้นกว่ารอบการประชุมปกติ เพื่อติดตามงานและพิจารณางานที่มอบหมาย ซึ่งจะช่วยให้การเดินหน้าขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อได้ไม่สะดุด ที่ประชุมรับทราบและยินดี
ติดตามความเคลื่อนไหวผ่าน Facebook เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม Facebook
ผู้เขียน:อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, อิศรา โสทธิสงค์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์