จากการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนา หลักสูตรดิจิทัลการฝึกอบรมครูเพื่อการจัดการศึกษาตามแนวทางทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน (Digitalized Mother Tongue Based Multilingual Education Teacher Training) ระหว่าง มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ คณะครุศาสตร์ สำนักดิจิทัลเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล๊อตซี่ และมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา โดยทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการจัดการอบรมครูผู้สอนที่จะสามารถจัดการศึกษาตามแนวทางทวิ/พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานได้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร รองรับสถานการณ์การระบาดของ Covid -19 และการขยายผลไปยังโรงเรียนที่มีความสนใจ
ในวันศุกร์ ที่ 10 เดือนกันยายน 2564 เวลา 13:00-16:00 น. ที่ผ่านมาได้มีการแถลงข่าวเปิดหลักสูตรดิจิทัลการฝึกอบรมครูเพื่อการจัดการศึกษาตามแนวทางทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน โดยได้รับความสนใจจากคณะครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และผู้สนใจทั่วไปกว่า 190 คนเข้าร่วมประชุมรับฟังแถลงข่าวนี้ โดยมุ่งให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของ MOU ฉบับนี้ ซึ่งคือ
- เพื่อให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิและคุณภาพการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม โดยที่ไม่มีอุปสรรคทางภาษามาขวางกั้น
- เพื่อสนับสนุนให้ครูประจำการและครูท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาตามแนวทางทวิ/พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่
- เพื่อรองรับและหนุนเสริมการขยายผลของการจัดการศึกษาตามแนวทางทวิ/พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานและการขับเคลื่อนงานผ่านพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมออนไลน์และเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้สนใจ เหมาะสำหรับ
- ผู้ที่มีความประสงค์จะจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ที่ประสบกับอุปสรรคทางด้านการสื่อสาร ภาษา และการเรียนการสอน ให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ
- ผู้สนใจทั่วไป เช่น อาจารย์มหาลัย นักวิชาการ แหล่งทุน นักศึกษา ฯลฯ
ผู้ที่ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแนวทางทวิ/พหุภาษา โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานระดับชั้นอนุบาล 2 จะได้เรียนรู้
- ทฤษฎี แนวทางและหลักการในการสอน
- วิธีการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 2
- เทคนิคและวิธีการสำหรับการพัฒนาและผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์
- รวมถึงจะได้เรียนรู้วิธีการวัดและประเมินผลผู้เรียนตามตัวชี้วัดฐานสมรรถนะอีกด้วย
หลักสูตรนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. หลักสูตรสำหรับผู้สนใจทั่วไป (จำนวน 9 ชั่วโมง)
ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเข้าเรียนในระบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้เรียนต้องทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนเรียนและหลังเรียน หลักสูตรนี้ประกอบด้วย 8 หน่วยการเรียนรู้ และแต่หน่วยการเรียนรู้จะเป็นวีดีโอการบรรยาย การสาธิต และการสอน ผู้เรียนต้องทำแบบทดสอบความเข้าใจประจำหน่วย แต่ไม่จำเป็นต้องส่งชิ้นงาน เพื่อรับเกียรติบัตร
2. หลักสูตรสำหรับผู้ที่ต้องนำไปใช้สอนจริง (จำนวน 45 ชั่วโมง)
ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเข้าเรียนในระบบออนไลน์ได้โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับใบประกาศนียบัตร เป็นจำนวนเงิน 200 บาท ผู้เรียนต้องทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนเรียนและหลังเรียน และทำแบบทดสอบความเข้าใจประจำหน่วย อีกทั้งยังต้องส่งชิ้นงานแต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ เมื่อชิ้นงานผ่านการประเมินจึงจะได้รับใบประกาศนียบัตร* นอกเหนือจากใบเกียรติบัตรทั่วไป * ใบประกาศนียบัตรนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อรับรองผู้ที่ต้องนำไปใช้สอนจริง
รายละเอียดหลักสูตรประกอบด้วย 8 หน่วยการเรียนรู้
นอกจากนี้เพื่อหนุนเสริมสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมในจังหวัดเชียงใหม่และโรงเรียนที่สนใจ ได้มีการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรอื่นๆ เพื่อการจัดการเรียนการสอนแนวทางทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่ฐาน อาทิ หลักสูตรการพัฒนาและผลิตสื่อการสอนในโครงการฯ (สำหรับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา) หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแนวทางทวิ/พหุภาษาฯ ระดับชั้นอนุบาล 3 และประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยบางหลักสูตรจะมีการเผยแพร่เพิ่มเติมให้ใช้งานภายในสิ้นปีนี้และพัฒนาต่อเนื่องในปีถัดๆ ไป
สามารถลงทะเบียนเรียนหลักสูตร ได้ที่นี่ >>> คลิกที่นี่ <<<
สามารถรับชมการประชุมย้อนหลังได้ทาง Facebook Live >>> คลิกที่นี่ <<<
รับชมการเปิดหลักสูตร
รับชมผลการใช้งานและความพึงพอใจของผู้ใช้งาน
รับชมขั้นตอนการสมัครเรียน
ติดต่อ-สอบถาม มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์
ผู้เขียน: อรณี จริยาพจน์งาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ เลขานุการชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์