Starfish Learning Box
กล่องการเรียนรู้บ้านปลาดาว
โรงเรียนบ้านปลาดาว เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคราะห์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา ตั้งอยู่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านปลาดาวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ โรงเรียนบ้านปลาดาวให้บริการแก่เด็กนักเรียน และครอบครัวชนกลุ่มน้อย รวมทั้งชุมชนชาวไทยท้องถิ่นใกล้กับอำเภอแม่แตง หลักสูตรของโรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นหลักสูตรที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
จากสถานการณ์ปัจจุบันได้มีโรคระบาดและมีการการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นเหตุให้โรงเรียนไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติที่โรงเรียน และทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล จึงได้ให้ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เช่น ผ่าน ทีวีระบบดิจิทัล 15 ช่อง ใช้ DLTV และ VTR และระบบออนไลน์อื่น ๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ไม่ได้มีความพร้อมจัดการเรียนการสอนทางด้านออนไลน์ด้วยเหตุหลาย ๆ ปัจจัย หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ตั้งอยู่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนชาติพันธุ์ จากการสำรวจนักเรียนพบว่า มีนักเรียนประมาณร้อยละ 20 ที่มีความพร้อมทางด้านออนไลน์ อีกร้อยละ 80 ที่บ้านไม่มีทีวีหรือทีวีไม่รองรับ DLTV มีโทรศัพท์แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีคอมพิวเตอร์ ผู้ปกครองไม่รู้หนังสือไม่สามารถให้คำแนะนำเด็ก ๆ ได้ เป็นต้น
ดังนั้น Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ จึงถูกออกแบบมาทั้งออฟไลน์ (Off line) และออนไลน์ (On line) เพื่อเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนบ้านปลาดาว โดยออกแบบให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมพัฒนาชุดทักษะและความรู้แบบบูรณาการ ผู้ปกครอง จะเป็นคนช่วยสนับสนุนให้เรียนรู้อย่างมีความหมายตามบริบทของชุมชนและช่วงวัยของผู้เรียน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการเรียนอย่างต่อเนื่องและได้รับทั้งความรู้ ทักษะ เจตคติ ซึ่งจะกลายเป็นสมรรถนะของผู้เรียน ดังนั้นทางโรงเรียนบ้านปลาดาวจึงได้ร่วมกันวางแผนเพื่อ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะและความรู้แบบบูรณาการโดยมีผู้ปกครองเป็นคนช่วยสนับสนุนให้เรียนรู้อย่างมีความหมายตามบริบทท้องถิ่น สังคม และช่วงวัยของผู้เรียน มีทั้งออนไลน์ (On line) และ ออฟไลน์ (Off line) เพื่อให้ตอบรับต่อนักเรียนและผู้ปกครองที่จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งบทเรียนไม่ยากจนเกินไป ผู้ปกครองสามารถทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนได้ และที่สำคัญคือเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะในศตวรรษที่ 21
Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้
Starfish Learning box หรือกล่องการเรียนรู้บ้านปลาดาว มีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงช่วงอายุ ทรัพยากร วิธีการจัดการเรียนรู้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสาร การเรียนรู้ของนักเรียนและการสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน ถูกออกแบบโดย ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เป็นกล่องเรียนรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด โดยคำถึงบริบทในชุมชน และทรัพยากรที่มีอยู่ เป็นกล่องการเรียนรู้ที่ส่งไปให้แต่ละครอบครัวเพื่อให้ผู้ปกครอง สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่บ้านได้ โดยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (PBL), Makerspace, และ 3R เพื่อให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ และคิดเลขเป็น และการออกแบบกล่องเรียนรู้โรงเรียนได้คำนึงถึงความยืดหยุ่นในเนื้อหาบทเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เลือกหัวข้อต่าง ๆ และเพื่อไม่ให้นักเรียนไม่เครียดเมื่อลงมือทำโดยไม่มีครูอยู่ใกล้ ๆ โดย Learning Box จะมีรายละเอียดดังนี้
.
กล่องการเรียนรู้ ระดับชั้นอนุบาล ประกอบไปด้วย
- Booklet ที่ครูประจำชั้นเป็นผู้ออกแบบและจัดทำ ซึ่งประกอบไปด้วย
-
- ชุดเครื่องมือพัฒนาทักษะชีวิตประจำวันของนักเรียนปฐมวัย เพื่อให้นักเรียนช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง การล้างมือเพื่อป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การรับประทานโดยการใช้ช้อน ส้อม การแต่งตัวเป็นต้น
- ชุดเครื่องมือด้านการเรียนรู้ ซึ่งจะมี 3R เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและคิดคำนวณผ่านกิจกรรม Active learning
- ชุดเครื่องมือการจัดการเรียนแบบโครงงานโดยผ่านกิจกรรมพื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน ซึ่งชุดการเรียนนี้ครูจะออกแบบเป็นรายสัปดาห์เพื่อยืดหยุ่นเวลาให้กับนักเรียนและผู้ปกครองสามารถเลือกเวลาที่สะดวกได้ เช่น การปลูกผัก การทำอาหาร การร้อยลูกปัด หรือประดิษฐ์จากของเหลือใช้ การทำหน้ากากอนามัย เป็นต้น
-
- โปสเตอร์แผนภูมิขั้นตอนทำกิจกรรมพื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อให้นักเรียนและครอบครัวจัดมุมในบ้านได้
- แบบบันทึกรายสัปดาห์และแบบประเมินสำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น
- อุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองประกอบการเรียนรู้ เช่น ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด สีเทียน ดินน้ำมัน กรรไกร กาวลาเท็กซ์ กระดาษสี หน้ากากผ้า เป็นต้น
กล่องการเรียนรู้ ระดับประถมศึกษา ประกอบไปด้วย
- Booklet ที่ครูประจำชั้นและครูประจำวิชาเป็นผู้ออกแบบและจัดทำ ซึ่งประกอบไปด้วย
-
- ชุดเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) แบบบูรณาการในหัวข้อที่นักเรียนเป็นคนเลือกเอง โดยกำหนดให้ทำ 1 เรื่องต่อ 1 ภาคเรียน เพื่อให้ง่ายต่อนักเรียนในการลงมือทำ ครูได้กำหนดหัวข้อให้นักเรียนได้เลือกทำ เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) PM 2.5 การปิดเทอมที่ยาวนาน สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอแม่แตง เป็นต้น
- ชุดเครื่องมือการจัดการเรียนแบบโครงงานโดยผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน ซึ่งชุดการเรียนนี้ครูจะออกแบบเป็นรายสัปดาห์เพื่อยืดหยุ่นเวลาให้กับนักเรียนและผู้ปกครองสามารถเลือกเวลาที่สะดวกได้ เช่น การปลูกผัก การประดิษฐ์จากขวดพลาสติกหรือกล่องกระดาษ หรือของเหลือใช้อื่น ๆ การทำอาหารและการถนอมอาหาร เป็นต้น
-
- โปสเตอร์แผนภูมิขั้นตอนทำกิจกรรมพื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อให้นักเรียนและครอบครัวจัดมุมในบ้านได้
- แบบบันทึกรายสัปดาห์และแบบประเมินสำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น
- อุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองประกอบการเรียนรู้ เช่น ดินสอ ยางลบ ปากกา น้ำยาลบคำผิด ไม้บรรทัด ดินสอสี คัทเตอร์ ปืนกาว ใส้ปืนกาว กาวลาเท็กซ์ กระดาษสี ชุดไขควง หน้ากากผ้า เป็นต้น
- แบบประเมินตามสภาพจริงและบันทึกรายสัปดาห์สำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น ซึ่งสามารถทำเป็นคลิปวีดีโอ หรือถ่ายเป็นรูปภาพเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหรือสามารถทำออกมาในรูปแบบ E-portfolio ได้ สำหรับผู้ที่มีความพร้อมในเรื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
จุดเด่น หรือลักษณะพิเศษของผลงานนวัตกรรม
- Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ นวัตกรรมของโรงเรียนบ้านปลาดาว เป็นกล่องการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 และ มีพัฒนาการครบทั้ง 4 ด้าน เช่น ด้านร่างกาย อารมณ์ – จิตใจ สังคม สติปัญญา
- Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ ออกแบบสำหรับเด็กแต่ละช่วงชั้น เพื่อให้ได้รับความรู้และทักษะเหมาะสมกับอายุและช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ พัฒนาสมรรถนะ ทักษะการเรียนรู้ และทักษะด้านสังคมและอารมณ์ ผู้เรียนสามารถพกพา เลือกเวลาที่จะเรียนรู้ได้ สะดวกต่อการเรียนรู้และการใช้งานของผู้เรียน
- ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและผู้เรียนในการสร้างสรรค์ผลงานจาก Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ ผู้ปกครองสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ โดยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (PBL), กิจกรรมพื้นที่นักสร้างสรรค์ (Makerspace) เพื่อเพิ่มทักษะในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมทักษะสำคัญผ่านกระบวนการ STEAM Design Process และ 3R เพื่อให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนได้, คิดเลขเป็น ผ่านกิจกรรมเน้นการลงมือทำ Active learning และกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตประจำวันของเด็กปฐมวัย เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง การล้างมือเพื่อป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
- Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ ช่วยฝึกการสร้างความรับผิดชอบให้กับผู้เรียน ในการดูแลและการเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดบ้านและชีวิตในบ้านเป็นฐานการเรียนรู้
- Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ มีแบบประเมินตามสภาพจริง โดยมีเกณฑ์ที่ชัดเจนและบันทึกรายสัปดาห์สำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น ซึ่งสามารถทำเป็นคลิปวิดีโอหรือถ่ายเป็นรูปภาพเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานหรือสามารถทำออกมาในรูปแบบ E-portfolio ได้
- ลงพื้นที่ในชุมชน (Community Outreach) เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองและส่งเสริมความสัมพันธ์และสุขภาวะทางกายและใจ (wellbeing) ของนักเรียนบ้านปลาดาว และช่วยเหลือเด็กที่ผู้ปกครองไม่รู้หนังสือหรือไม่สามารถสอนได้ตามชุมชนต่างๆ โดยเน้นการเว้นระยะห่าง และโรงเรียนได้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้กับคุณครู เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ผ้าเปียกแอลกอฮอล์ เป็นต้น และร่วมกับครูอาสาในชุมชนและนักเรียนรุ่นพี่ที่อยู่ในชุมชนที่พร้อมจะช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนรู้
การลงพื้นที่ในชุมชน (Community Outreach)
กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) จึงทำให้เกิดผลสำเร็จจากการใช้นวัตกรรม ดังนี้
- ด้านผู้เรียน
- นักเรียนเกิดทักษะการอ่าน การเขียน และการคำนวณ โดยมีการบูรณาการในแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ศิลปะ และ อื่น ๆ
- นักเรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ – จิตใจ และด้านสังคม
- นักเรียนสามารถช่วยเหลือตนเองเรื่องการเตรียมความพร้อมในการอยู่ในโรงเรียนได้
- นักเรียนมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานตามความสนใจ โดยผ่านกระบวนการ Steam Design Process
- นักเรียนสามารถค้นคว้า ออกแบบ วางแผน แลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิด สร้าง พัฒนาผลงาน ซึ่งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
- นักเรียนมีการพัฒนาทักษะด้านความรู้ และทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
- นักเรียนได้รู้จักตนเอง และค้นพบความถนัด ความสามารถเฉพาะด้าน และพัฒนาให้มีตามศักยภาพของตนเอง
- นักเรียนมีทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน สร้างให้เป็นนักคิด นักแก้ปัญหา และเป็นคนมีเหตุผล
- นักเรียนมีทักษะขั้นสูงในการวางแผนแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการ EDICRA
- นักเรียนมีทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ ได้ลงมือปฏิบัติ (Active Learning) วางแผน คิดแก้ปัญหา สืบค้นและรวบรวมข้อมูล สร้างสรรค์ พัฒนาปรับปรุง และนำเสนอเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการ
- นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยใช้นวัตกรรม Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้
- ด้านครู บุคลากรและโรงเรียน
- ครูมีทักษะการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเน้นการลงมือปฏิบัติ (Active Learning)
- เกิดนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ใหม่ ที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
- ครูและบุคลากรได้มีส่วนร่วมลงพื้นที่ เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนนักเรียน พร้อมทั้งอธิบายแนะนำส่วนของผู้ปกครอง ผู้ที่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านตัวนวัตกรรม Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้
- Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ เป็นนวัตกรรมแบบอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ
- เป็นตัวอย่างแนวคิดการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เกิดปัญหาไม่สามารถเดินทางมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ เนื่องจากสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
- Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ทุกสถานที่โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งได้อธิบายลำดับ ขั้นตอน และวิธีการใช้สื่อ วัสดุ และอุปกรณ์
- ด้านผู้ปกครอง
- ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ สนับสนุน แนะนำนักเรียนเพื่อให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ สำเร็จตามเป้าหมาย
- ผู้ปกครองได้รับรู้ถึงกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียน และเกิดทักษะการเรียนรู้ตามกระบวนการต่าง ๆ ของโรงเรียน ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายที่อยู่รอบตัว เช่น การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และการทำอาหาร เป็นต้น
- ผู้ปกครองเห็นถึงความสามารถ ความถนัดของนักเรียน และช่วยส่งเสริมพัฒนาตามศักยภาพ
- ผู้ปกครองสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รับรู้ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน
- ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนมีจิตอาสาช่วยดูแล สนับสนุน แนะนำนักเรียนในเขตบริเวณใกล้เคียง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองอาสาของแต่ละชุมชน
- ด้านชุมชน
- ชุมชนช่วยสนับสนุนเพื่อให้บุตรหลานในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ช่วยส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายภายในท้องถิ่นของตนเอง และบริเวณใกล้เคียง
- สถานศึกษาอื่น ๆ ได้นำแนวคิด วิธีการของ Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ ไปเป็นนวัตกรรมตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ
สรุปสิ่งที่เรียนรู้และการปรับปรุงให้ดีขึ้น
Learning Box หรือกล่องการเรียนรู้ นวัตกรรมบ้านปลาดาวที่ออกแบบมาเพื่อนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ที่บ้านในช่วงโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งแบบออฟไลน์ (Off line) และออนไลน์ (On line) เพื่อนักเรียนบ้านปลาดาว ให้ผู้ปกครองสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กที่บ้านได้ โดยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (PBL), Makerspace, และ 3R เพื่อให้เด็กอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น การปฏิบัติที่พบเห็นจากการดำเนินกิจกรรม คือ
-
- ด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม
- ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา
- ด้านความร่วมมือของผู้ปกครองที่คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำ
- ด้านการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ
- การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง
- การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง
- ด้านความสัมพันธ์ด้านครอบครัว
- การรู้จักสังคม แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน
- ทักษะชีวิต
- ทักษะอาชีพ
สิ่งทีควรปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น
การออกแบบ Booklet ควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ควรออกแบบให้หลากหลายระดับความรู้ ความสามารถของนักเรียนให้ได้มากที่สุด
สรุป
จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการเรียนรู้จะเกิดผลสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมได้นั้นต้องมีการจัดการเรียนรู้บูรณาการ ต้องมีความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือของครู บุคลากรและโรงเรียน ความร่วมมือของผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ สนับสนุน แนะนำนักเรียนเพื่อให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ชุมชนช่วยสนับสนุนเพื่อให้บุตรหลานในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
พบกับนวัตกรรมการศึกษาสไตล์ starfish education
ผู้เขียน : มาศชฎา จันทราทิพย์
ผู้ให้สัมภาษณ์ : สุรีรัตน์ จิตนารินทร์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการโรงเรียนบ้านปลาดาว
ผู้สัมภาษณ์ : มาศชฎา จันทราทิพย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนบ้านปลาดาว