โรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร) ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ที่ 5 บ้านโนน ตำบลโพนข่า อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 18 คน มีนักเรียน 180 คน เปิดทำการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากการสัมภาษณ์ นายรังสรรค์ กรึงไกร ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร) ถึงสาเหตุที่ได้เลือกใช้นวัตกรรม ทราบว่า โรงเรียนบ้านโพนข่า มีความสนใจที่จะพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ผู้บริหารและคณะครูจึงเข้าร่วมศึกษาการจัดการสอน โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนที่มีกระบวนการพัฒนาความคิดของผู้เรียน โดยมีวิธีการสอนแบบปลายเปิดหรือวิธีการสอนที่เน้นแก้ปัญหาเชิงแบบโครงสร้าง นักเรียนศึกษาโครงสร้างประเด็นปัญหา โดยผู้เรียนสามารถแสดงความคิดอย่างอิสระเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา รูปแบบในการใช้แก้ปัญหาของผู้เรียน และสุดท้ายในการจัดการเรียนการสอนผู้เรียนจะนำเสนอแนวคิดของตัวเองโดยอิสระ ไม่มีผิด ไม่มีถูก โรงเรียนบ้านโพนข่า นำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ โดยได้ดำเนินการทำ MOU กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างเครือข่ายและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารงานในการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะส่งนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ภาควิชาคณิตศาสตร์ มาจัดการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมปีการศึกษาละ 2 คน การจัดการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) โดยมีขั้นตอนในการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
1) ร่วมมือการเขียนแผน แพลน ทีมศึกษาชั้นเรียนร่วมกันออกแบบแผนจัดการเรียนรู้
2) ปฏิบัติการสอนและร่วมสังเกตชั้นเรียน จัดการเรียนการสอนแบบใช้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 นำเสนอสถานการณ์ปัญหา โดยเน้นวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งมีลักษณะของการเปิด 3 ลักษณะคือ
1) กระบวนการเปิดแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้นมีหลายแนวทาง
2) ผลลัพธ์เปิดคำตอบถูกต้องหลายคำตอบ
3) แนวทางการพัฒนาเปิด สามารถพัฒนาไปเป็นปัญหาใหม่ได้
ขั้นที่ 2 นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อได้ใบกิจกรรม นักเรียนในกลุ่มก็จะช่วยกันคิดหาวิธีของแต่ละคน เสร็จแล้วจะคุยกันในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปและเหตุผล เพื่อได้คำตอบว่าเพราะอะไร มีวิธีการอย่างไร
ขั้นที่ 3 อภิปรายร่วมกันทั้งชั้นเรียน เมื่อนักเรียนได้คำตอบพร้อมกับเหตุผลแนวคิดและวิธีหาคำตอบจะนำเสนอหน้าชั้นเรียนเพื่อให้เพื่อนได้ทราบถึงวิธีการคิดของนักเรียน หลังจากนั้น ครูร่วมอภิปรายเพื่อพัฒนาไปเป็นปัญหาใหม่ เพื่อนำมาพัฒนาต่อไป
ขั้นที่ 4 สรุปและเชื่อมโยงแนวคิดทั้งขั้นเรียน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกิจกรรมที่ครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปของบทเรียนที่มีความเหมือนและแตกต่างในการหาคำตอบของแต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะสรุปเป็นแนวคิดร่วมกัน
3) สะท้อนผลร่วมกัน ทีมศึกษาชั้นเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันสะท้อนผลชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน
กระบวนการการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร) โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ได้ทำการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คณะครูร่วมกันสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 1 มีการ PLC ทุกวันพุธ และสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 2 มีการ PLC ทุกวันพฤหัสบดี มีการสะท้อนผล การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และยังขยายผลไปสู่กลุ่มสาระอื่นๆ และได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับกิจกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) โดยใช้โปรแกรม kahoot เป็นโปรแกรมสร้างคำถาม – คำตอบและผลการประเมิน ปรากฏว่าผู้เรียนชื่นชอบและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้นและได้นำไปบูรณาการปรับใช้กับวิชาอื่นๆ
ผลที่เกิดต่อนักเรียน ครู และชุมชน คือ ด้านผู้เรียน ผู้เรียนมีทักษะการคิดที่หลากหลายรูปแบบและสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น
ด้านครู ครูได้มีการวางแผนและการทำงานร่วมกัน เกิดการเรียนรู้และการทำงานเป็นทีม มีการ PLC ระหว่างผู้บริหารและคณะครู
ด้านชุมชน ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน(Lesson Study)และวิธีการ แบบเปิด (Open Approach) โดยให้ความสำคัญและเล็งเห็นว่ามีประโยชน์กับตัวผู้เรียนพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ในปีการศึกษาต่อไป ท่านผู้อำนวยโรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร) อยากจะพัฒนาในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ (O-NET) ขยายผลสู่กลุ่มสาระอื่นๆ และมีการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที 21
ท้ายที่สุดนี้ผู้สัมภาษณ์มีความคิดเห็นว่า จากการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ส่งผลให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ได้อย่างหลากหลายและยังทำให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เรียนรู้อย่างมีความสุข และยังสามารถบูรณาการใช้กับวิชาอื่นได้อีกด้วย บวกกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การให้โปรแกรม kahoot ในการจัดการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสนุกและได้เรียนรู้ไปในตัว ถือว่าเป็นนวัตกรรมการสอนที่น่าสนใจ โรงเรียนอื่นๆจะสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้
ผู้เขียน : กนกพร บุญแซม
ผู้ให้สัมภาษณ์ : รังสรรค์ กรึงไกร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร) จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์ : กนกพร บุญแซม
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร) จังหวัดศรีสะเกษ