“ทำ ทัน ที” การนิเทศอย่างท้าทายสู่ความสำเร็จ
นายวัชระ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผล สพป.ยะลา เขต 3
สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้จะมาทำความรู้จักกับนายวัชระ จันทรัตน์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ที่มีความเจ๋ง เก่ง ดี และร่วมทำงาน ประสานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เชื่อมโยงการนิเทศให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบรรลุและประสบความสำเร็จ
ผู้เขียนได้เห็นมุมมองสำคัญของการเป็นศึกษานิเทศก์ ที่ผู้อ่านทุกท่านสามารถเรียนรู้จากแนวคิดและประสบการณ์การทำงานของ ศน.วัชระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างแน่นอนหากทุกท่านได้อ่านบทสัมภาษณ์ ต่อไปนี้
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้
เริ่มรู้จักและร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมกันเป็น 1 พื้นที่ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนฯ ในขณะนั้น และต่อมาแยกเป็นรายจังหวัดเป็น “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา” ในปัจจุบัน
การนิเทศกับงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การนิเทศจะเป็นการสนับสนุน เติมเต็ม เสนอแนะ ติดตามการจัดการเรียนการสอนของครู การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนำร่องทั้ง 13 แห่ง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 จะต้องมีนวัตกรรมการศึกษาอย่างน้อย 1 นวัตกรรม ต่อ 1 โรงเรียน อาจเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการ หรือนวัตกรรมการเรียนการสอนของครู เพื่อใช้ในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยศึกษานิเทศก์จะเป็นผู้ติดตามผลการใช้นวัตกรรมการศึกษาว่า โรงเรียนใดใช้นวัตกรรมการศึกษาใด รูปแบบเป็นอย่างไร ทั้งนวัตกรรมในระดับสถานศึกษาและในระดับชั้นเรียน
การเป็นศึกษานิเทศก์ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ในการทำงานเป็นศึกษานิเทศก์ไม่ง่าย และในฐานะตนเองเป็นผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาที่ต้องรับผิดชอบงานหลากหลาย ซึ่งส่วนตัว ศน.วัชระ จะรับผิดชอบการพัฒนาคุณภาพการศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ การงานอาชีพ และคอมพิวเตอร์ และนิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอนของครูให้สามารถใช้นวัตกรรมการศึกษานำมายกยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และอยู่ในเกณฑ์การพัฒนาเชิงบวกที่น่าพอใจ
หลักการทำงาน “3ท” และ Mindset ในการทำงาน “ทำ ทัน ที”
หลักการและแนวคิดของการทำงานอย่างท้าทายของ ศน.วัชระ หลังจากที่ได้รับนโยบายได้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว จะใช้หลักการทำงาน 3ท คือ “ทำ ทัน ที” โดย ศน.วัชระ และทีมศึกษานิเทศก์จะใช้หลักการ “ช่วยคิดพาทำ” และ “กัลยาณมิตร” ในการทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อให้ครูและโรงเรียนเกิดความรู้สึกสบายใจและไม่กดดันในการทำงานว่า “การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไม่ใช่เรื่องยาก” ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจและออกแบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาที่มีความเข็มแข็งและมีประสิทธิภาพจะทำให้โรงเรียนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ อย่างก็ตามในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ส่วนสำคัญอีกประการ คือ Mindset ในการทำงาน ซึ่ง ศน. วัชระ ได้อธิบาย Mindset ได้อย่างน่าสนใจ คือ ศึกษานิเทศก์จะทำอย่างไรให้โรงเรียนนำร่อง “มีความคิดนอกกรอบ” โดยใช้นวัตกรรมมายกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ทั้งในด้านการบริหารงานวิชาการ การบริหารจัดการสถานศึกษา การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล ตามที่ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติไว้ ซึ่งตัวศึกษานิเทศก์เองก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นกลาง เปิดกว้าง รับฟังความคิด และมีความคิดเชิงพัฒนา ให้มุ่งมั่นว่า “ฉันจะพัฒนาโรงเรียนนำร่องอย่างไร ฉันจะช่วยเติมเต็มอย่างไร ฉันจะติดตามการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างไร และฉันจะติดตามการบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างไร” ให้โรงเรียนนำร่องเกิดคุณภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ช่วยคิดพาทำและกัลยาณมิตร
หลักการสำคัญในทำงานร่วมกันระหว่างศึกษานิเทศก์และโรงเรียน คือ การช่วยให้โรงเรียนนำร่องเห็นโอกาส หาจุดเด่น และมุ่งพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำมาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้ นำมายกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่ง ศน.วัชระ มีแนวทางและวิธีการเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับครูและโรงเรียนใน 2 ลักษณะคือ
- ศึกษาการบริหารจัดการสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนของครูจากโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้นแบบ 3 จังหวัด (จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล) เพื่อศึกษารูปแบบ ลักษณะ และกลไกในการทำงาน
- ศึกษางานวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนนำร่องเกิดแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน
ยกตัวอย่าง โรงเรียนตาเนาะแมเราะ ที่มีจุดเด่นและมีต้นทุนเดิมในเรื่องการทำเกษตร โดยทีมศึกษานิเทศก์จะเข้าไปช่วยพัฒนา ส่งเสริม ต่อยอด โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน พัฒนาโรงเรียนสู่การเป็นโรงเรียนอารยเกษตร “โคก หนอง นา” แห่งน้ำใจและความหวัง ซึ่งโรงเรียนใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ คือ โครงงานเป็นฐาน โดยจัดการเรียนรู้บูรณาการเรียนรู้ทุกรายวิชาได้อย่างน่าสนใจและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ อาทิ การสำรวจสายน้ำในอำเภอเบตง การสำรวจคุณภาพน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร อาทิ เกี่ยวกับการทำสวนทุเรียน เป็นต้น
ปัญหา อุปสรรค ความรู้สึก และความเปลี่ยนแปลงจากการทำงาน
จากการทำงานที่ผ่านมา ศน.วัชระ ได้อธิบายความท้าทายในการทำงานของตนเองในการทำงาน โดยจะแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ
- ช่วงที่ 1 ริเริ่มเพื่อเริ่มต้น การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนที่จะต้องให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง โดยนำนวัตกรรมมายกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ มีความยาก มีโรงเรียนขอออกจากการเป็นสถานศึกษานำร่องเพราะรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มภาระการทำงานของโรงเรียนเอง ซึ่งทีมศึกษานิเทศก์พยายามพาโรงเรียนค้นหาจุดเด่น โอกาสที่มี นำมาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เดิมของโรงเรียนเพื่อลดความกังวลและให้เกิดความสบายใจมากขึ้น
- ช่วงที่ 2 ต่อยอดเพื่อการพัฒนา เป็นการนิเทศเพื่อนำโรงเรียนค้นหาต้นทุน จุดเด่น และโอกาส นำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมของโรงเรียน โดยใช้เทคนิคการนิเทศ “ช่วยคิดพาทำ” เพื่อลดความกังวลของครูผู้สอน ต่อยอดจากสิ่งที่ครูผู้สอนทำอยู่แล้ว ให้ครูเห็นคุณค่าของนวัตกรรมของตนเอง ชื่นชมให้กำลังใจ เติมเต็ม และให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้ครูมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งบทบาทศึกษานิเทศก์ต้องเข้าไปช่วยให้นวัตกรรมดังกล่าวนำไปสู่แผนการจัดการเรียนรู้และลงสู่การปฏิบัติและลงมือทำให้ได้
- ช่วงที่ 3 การพัฒนารูปแบบการนิเทศ ศน.วัชระ ได้นำรูปแบบการนิเทศ 6 ขั้นตอน เข้ามาใช้ในการพัฒนา ได้แก่ 1. วิเคราะห์ฐานเดิม (Analyzing) 2. เสริมการเรียนรู้ (Informing) 3. สู่การปฏิบัติ (Implementing) 4. ร้อยรัดกำลังใจ (Reinforcing) 5. ภายในสะท้อนคิด (Reflecting) 6. ตามติดการประเมิน (Evaluating) เพื่อส่งเสริมระบบการนิเทศภายในโรงเรียนให้มีความเข้มแข็ง ดังแผนภาพ
- ช่วงที่ 4 เชื่อมโยงนวัตกรรมสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ โรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมทดลองใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. (หลักสูตรฐานามรรถนะ) เกิดความกังวลและสับสน ในการเริ่มกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งศึกษานิเทศก์ต้องไปผู้นำทางให้กับครูและโรงเรียนในการกำหนดเป้าหมาย หาจุดเด่น จุดด้อย โอกาส อุปสรรค และคิดค้นคำขวัญสั้น ๆ (School Concept) เพื่อเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลสำเร็จ และสร้างความมั่นใจให้กับโรงเรียนนำร่องให้สามารถนำนวัตกรรมมาเชื่อมโยงกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อสู่หลักสูตรสถานศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ
จากการสัมภาษณ์ ศน.วัชระ ได้อธิบายถึง การทำงานอย่างท้าทายของตนเองคือ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำงานและแนวคิดของตนเอง คือ “การใช้พื้นที่เป็นฐานจัดการศึกษาด้วยตนเอง” ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จังหวัดยะลาได้เป็นจังหวัดนำร่องเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบกับมีโอกาสได้เรียนรู้นอกพื้นที่ ได้ศึกษาดูงานโรงเรียนที่มีการพัฒนาที่มีคุณภาพและเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัด อาทิ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนมีชัยพัฒนา และได้ตกพลึกในความคิดที่จะพัฒนาโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกคนมีทักษะอาชีพและทักษะการทำงานติดตัว ไม่ใช่เพียงความรู้จากตำราหรือหนังสือ เพื่อนำไปสอบหรือศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ผู้เรียนจะต้องมีทั้งความรู้ทักษะในการทำงาน การเป็นผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งนวัตกรรมที่โรงเรียนใช้จะเป็นส่วนช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ และช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และสมรรถนะให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพในอนาคตได้
ยกตัวอย่าง โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 (บ้านบ่อน้ำร้อน) ที่จัดการเรียนรู้โดยโครงงานเป็นฐาน ตั้งแต่ ป.1 – ม.3 โดยกำหนดเป้าหมาย (School Concept) 1 ห้องเรียน 1 โครงงานอาชีพ และในทุกสิ้นปีการศึกษาจะมีการนำเสนอผลงานในระดับสถานศึกษา โดยเฉพาะผู้เรียนมัยธมศึกษาปีที่ 3 จะต้องทำผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายในระดับชุมชน จะเห็นได้ว่า โรงเรียนมีการพัฒนาและคิดนอกกรอบมากขึ้น เป็นความท้าทายและเป็นความงอกงามของโรงเรียนเอง ที่นำนวัตกรรมไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และสมรรถนะให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
มุมมองและประสบการณ์สู่ความสำเร็จ
นอกจากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมา ศน.วัชระ ได้อธิบายถึงมุมมองสำคัญที่เป็นภาพหวังที่จะทำให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบรรลุผลสำเร็จ 3 ประการคือ
- ต้องเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากบริบทของโรงเรียน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน กล่าวคือ “ใช้นวัตกรรมการศึกษารูปแบบฉันใด ได้ผลลัพธ์ฉันนั้น” ไม่ว่าโรงเรียนจะมีปัญหา ผู้บริหารสถานศึกษามีการโยกย้ายบ่อย ครูขาดแคลน หรืออยู่ในพื้นที่ไม่สงบ ก็พัฒนานวัตกรรมเป็นของโรงเรียนเองได้ และมีผลลัพธ์ตามบริบทของสถานศึกษาอีกทั้งเป็นนวัตกรรมที่มีคุณภาพ
- ต้องให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จจากการเรียนรู้ในโรงเรียนมากที่สุด มากกว่าความรู้จากหนังสือหรือแบบเรียน แต่เป็นการประสบความสำเร็จที่เกิดจากประสบการณ์ระหว่างเรียน เกิดทักษะการทำงาน การประกอบอาชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้
- ต้องเป็นหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ มวลประสบการณ์ที่สำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิด ความรู้ ทักษะ เจตคติ และสมรรถนะ ซึ่งจะเกิดในระหว่างการศึกษาในโรงเรียน โดยใช้นวัตกรรมที่โรงเรียนคิดค้นและพัฒนาขึ้นนำมาบูรณาการกับหลักสูตรฐานสมรรถนะให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนด (School Concept) และสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จริง
การทำงานอย่าง “ท้าทาย”
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ผู้เขียนขอให้ ศน.วัชระ สรุปการทำงานและองค์ความรู้ของตนเองเป็น 1 คำ ซึ่ง ศน.วัชระ ได้สรุปเป็นคำว่า
ท้าทายสู่ความสำเร็จ
และได้อธิบายต่อไปว่า การทำงานอย่างท้าทายในการนิเทศเพื่อให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประสบความสำเร็จ โดยใช้รูปแบบ “กระจกเงาสะท้อนคิด“ หลักการนิเทศเพื่อสะท้อนตัวตนและการทำงานของครูด้วยกระบวนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ช่วยให้ครูได้เกิดแรงบันดาลใจเป็นแรงระเบิดจากภายในที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้ของตนและขยายผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาโรงเรียนนำร่องอื่นให้มีคุณภาพและนำไปยกระดับสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์
ผู้ให้สัมภาษณ์: วัชระ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผล สพป.ยะลา เขต 3
ผู้เขียน/เรียบเรียง: อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประะกอบ: วัชระ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผล สพป.ยะลา เขต 3