โรงเรียนบ้านควนเก พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล
พัฒนาการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ด้วยการจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย
ด้วยความปรารถนาในการหาทางออกให้กับการศึกษา ความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้บริหารสถานศึกษาให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้และยกระดับคุณภาพทุกด้านให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านควนเก ภายใต้การบริหารจัดการของนายอะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก
โรงเรียนบ้านควนเก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนประชารัฐรุ่นที่ 3 และโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล รุ่นที่ 1
จุดเริ่มต้นสู่การเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
นายอะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก เล่าว่า ด้วยโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าการจัดการศึกษาก็ควรพัฒนาและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ดังนั้นผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนต้องมีการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย จึงแสวงหาโอกาสเพื่อบริหารจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งเห็นว่าพรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นความหวังในการหาทางออกให้กับการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านควนเก จึงสมัครใจเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การพัฒนาการเรียนรู้สู่ความเปลี่ยนแปลง
โรงเรียนบ้านควนเกจัดการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมของจังหวัดสตูล 3 นวัตกรรม ได้แก่
- กระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย (RBL)
“โครงงานฐานวิจัย” เป็นนวัตกรรมที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลใช้กันทุกโรงเรียน ซึ่งโครงงานฐานวิจัย ประกอบไปด้วย 5 หน่วยการเรียนรู้ 14 ขั้นตอน ซึ่ง 5 หน่วยเรียนรู้ประกอบด้วย 1. ได้เรื่อง 2. ได้โครงงานวิจัย 3. ข้อมูล 4. ทางเลือกปฏิบัติการใหม่ 5. สรุป “โครงงานฐานวิจัย” เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ เปลี่ยนเส้นทางการเรียนรู้จากเดิมที่ครูเป็นผู้นำความรู้มาให้เด็กมาเป็นโค้ช ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองก่อน แต่ละชั้นเรียนของโรงเรียนบ้านควนเกจะจัดการศึกษาในเรื่องโครงงานฐานวิจัย 1 เรื่องต่อ 1 ปี โดยใช้เวลาสัปดาห์ละ 5-6 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นครูจะพยายามพูดคุย/สอบถามถึงสิ่งที่นักเรียนสนใจและสามารถศึกษาได้ในชุมชน และร่วมกันวางแผน/ออกแบบการทำโครงงาน จากนั้นนักเรียนลงพื้นที่เพื่อสำรวจ/สอบถามข้อมูลเรื่องที่สนใจเรียนรู้จากคนในชุมชน ในการลงพื้นที่นักเรียนมีการแบ่งหน้าที่กันทำงานเนื่องจากมีเวลาจำกัด โดยแบ่งให้มีคนคอยถามคำถาม และมีคนจดบันทึกข้อมูลที่ได้และบันทึกเสียงไว้ เมื่อนักเรียนทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองทำให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ข้อมูลแล้วนักเรียนนำมาตรวจสอบ วิเคราะห์ ประเด็นข้อมูลที่ได้ และคืนข้อมูลให้ชุมชน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนสรุปและนำเสนอ และในช่วงปลายภาคเรียนโรงเรียนบ้านควนเกจัดเวที “เรื่องเล่าวิชาเล่น” เป็นเวทีที่เปิดให้นักเรียนนำเสนอสิ่งที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาตลอดทั้งเทอมต่อผู้ปกครองและครู โดยให้นักเรียนทุกคนได้ขึ้นเวทีนำเสนอ และผู้ปกครองและคนในชุมชนที่ได้มาร่วมรับชมกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าในการเรียนโครงงานฐานวิจัยนั้นทำให้นักเรียนมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก - ครูสามเส้า
ประกอบด้วย ครูโรงเรียน ครูผู้ปกครอง ครูชุมชน และมีเครือข่ายผู้ปกครองห้องละ 4 คนเป็นตัวแทนในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและชุมชน
– ครูโรงเรียน จัดการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและโครงงานฐานวิจัย
– ครูผู้ปกครอง ร่วมจัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย นาฬิกาชีวิต
– ครูชุมชน จัดการเรียนรู้กิจกรรมที่นักเรียนสนใจ โครงงานฐานวิจัยและภูมิปัญญาท้องถิ่น - ดิจิตอลแพลตฟอร์ม Satun Sandbox และพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551
– หลักสูตรภูมิสังคมโรงเรียนบ้านควนเก พ.ศ. 2563
– หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ( Hybrid BC) พ.ศ. 2564
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- ผลที่เกิดกับผู้เรียน ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ให้ผู้เรียนกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก และกล้าตัดสินใจแก้ปัญหา พึ่งพาตนเอง เกิดทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมของจังหวัดสตูลได้อย่างมีความสุข
- ผลที่เกิดกับครู ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นนักจัดการเรียนรู้หรือกระบวนการให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ครูมีความรู้และทักษะในทางวิชาการ การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ ทักษะการทำงานเป็นทีมและพัฒนาด้านการใช้สื่อเทคโนโลย
- ผลที่เกิดกับผู้บริหาร ผู้บริหารได้ปรับเปลี่ยนความคิดในการจัดการศึกษา โดยใช้คำถามมากกว่าคำสั่ง ทำให้ทราบว่าการฟังมากดีกว่าการพูด จึงเกิดการบริหารแบบ top down 20% และ button up 80% ทำให้มีเป้าหมายร่วมกันและเดินไปด้วยกัน ทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม
- ผลที่เกิดกับผู้ปกครอง/ชุมชน ผู้ปกครองและชุมชนมีความสุขและพึงพอใจ เมื่อเห็นนักเรียนเกิดทักษะต่างๆมากขึ้น คือ ทักษะการคิดการพูด การแสดงออก ทักษะชีวิต ทักษะการทำงานเป็นทีม และสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้และที่สำคัญ ผู้ปกครองก็ได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปพร้อมๆกัน
การจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19
- จัดการเรียนรู้วิชาพื้นฐาน 5 กลุ่มสาระ โดยจัดให้เรียนวันละ 1 วิชา ได้แก่ วันจันทร์เรียนวิชาภาษาไทย วันอังคารเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วันพุธเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ วันพฤหัสบดีเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และวันศุกร์เรียนวิชาสังคมศึกษา เป็นการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบผสมผสาน คือ On Line , On Hand , On Demand โดยเรียนแค่ช่วงเช้าของแต่ละวัน ใช้เวลาเรียนวันละ 3 ชั่วโมง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง แบ่งเป็นช่วงโดยครูใช้วิธีสังเกต การตอบสนองของนักเรียนว่าสนใจและให้ความร่วมมือในการเรียนอยู่หรือไม่ อาจใช้เวลาสอนแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งก่อน แล้วพักก่อนโดยการใช้อาจใช้เวลา 30 นาที หรือที่ครูเห็นเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายจากนั้นเปิดห้องสอนใหม่ละกลับสู่ เนื้อหาการเรียนอีกครั้ง และในแต่ละวิชา ครูจะมีการบ้านเป็นใบงานให้นักเรียนทำแค่ 1 ใบงาน/สัปดาห์เท่านั้น เพื่อนักเรียนจะได้ไม่รู้สึกว่าการทำงานเป็นภาระจนเกินไป
- จัดการเรียนรู้วิชาบูรณาการโครงงานฐานวิจัย (RBL) ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นั้นปรับวิธีจากเดิมที่นักเรียนจะทำโครงงานระดับละ 1 โจทย์ แต่เมื่อต้องจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 จึงยืดหยุ่นให้นักเรียนสามารถเลือกเองได้ในการทำโจทย์โครงงานว่าจะทำคนเดียวหรือจับคู่ ทำเป็นกลุ่ม หรือทำเป็นครอบครัวแม้จะอยู่คนละระดับชั้นก็ได้ ซึ่งโจทย์ที่นักเรียนทำก็คือเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนสนใจ
- จัดการเรียนรู้นาฬิกาชีวิต คือ การให้นักเรียนเขียนบันทึกกิจวัตรประจำวัน เป็นการเล่าเรื่องกิจกรรมที่นักเรียนทำในทุก ๆ วัน ตั้งแต่ตื่นนอน-เข้านอน เพื่อเตือนความจำ และบรรยายความรู้สึกกับสิ่งที่ได้พบเห็น ได้กระทำไป ในการจัดการเรียนการสอนครูจะวิเคราะห์และคัดแยกกลุ่มความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครองทั้งด้านอุปกรณ์การเรียน ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ และด้านต่าง ๆ ไว้ 3 กลุ่มโดยแบ่งตามสี คือ สีเขียว = กลุ่มที่มีความพร้อม สีเหลือง = กลุ่มที่มีความพร้อมแต่มีเงื่อนไข สีแดง = กลุ่มที่ไม่มีความพร้อม คัดแยกไว้เพื่อจะได้รู้ละจัดวิธีการเรียนได้ตามความพร้อมของตัวบุคคล
ส่งท้าย
จากคำบอกเล่าของนายอะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก ทำให้ผู้เขียนเห็นถึง ความกล้าที่จะตัดสินใจลงมือเปลี่ยนแปลง และจากทุกถ้อยคำบอกเล่าทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะนำพาทุกคนให้ปรับเปลี่ยน การจัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่เข้ากับบริบทของนักเรียนและคนในชุมชน ความเชื่อมั่นในตัวครูว่าสามารถพัฒนาไปได้อีกอย่างต่อเนื่อง และทุกการกระทำผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ล้วนหวังให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียน ด้วยความร่วมมือกันของผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในจังหวัดสตูลและภาคีจากภายนอก เพื่อร่วมกันจัดการจัดการศึกษาของจังหวัดสตูลโดยคนสตูล ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาของนักเรียน และร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมในอุดมคติ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจไม่เห็นได้ในเวลาอันสั้น แต่โรงเรียนบ้านควนเกทำให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจะพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดต่อไป
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน/สัมภาษณ์ : นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์ : อะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์