ลงพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน ได้สัมผัสภูมิปัญญาของคน เห็นคุณค่าความรู้ใกล้ตัว
———-
กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย (RBL) 14 ขั้นตอน พร้อมบูรณาการด้วยนวัตกรรมครูสามเส้า
เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ จ.สตูล
———-
โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 บ้านห้วยน้ำดำ ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกร อาทิ ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ (ทุเรียน เงาะ ลองกอง) ค้าขาย และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ในชุมชนมีทั้งคนนับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธอาศัยอยู่ละแวกเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงหลังการเป็นสถานศึกษานำร่อง
จากการสัมภาษณ์ นางรัชนี ทองเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นผู้เกษียณอายุราชการ) ได้ให้ข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว สิ่งที่โดดเด่นคือการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการสถานศึกษาในด้านการเรียนการสอน เช่น การจัดทำหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตร การใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการทำงานที่สร้างความท้าทายและความสนุกสนานในการทำงาน เป็นการทำงานอย่างมีความหวังว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ โรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากงบอุดหนุนรายหัว เพื่อใช้พัฒนานวัตกรรม มีการรวมกลุ่มของโรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่ที่ใช้นวัตกรรมลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนที่มีอุดมการณ์และเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน มีการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เพื่อนำมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนให้มีคุณภาพต่อไป
หลักการการบริหารสถานศึกษา
โรงเรียนได้มีการนำกระบวนการ PDCA มาใช้บริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร
- P : วางแผนสร้างความเข้าใจกับครู ผู้ปกครอง ชุมชน เกี่ยวกับการเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การจัดทำหลักสูตร การพัฒนาครู การจัดรูปแบบการสอน การใช้งบประมาณ การพัฒนานวัตกรรม
- D : ดำเนินการตามแผนที่ได้กำหนดรายละเอียด ดังนี้
- ประชุม ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน หัวหน้าหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ในเขตบริการของโรงเรียน เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- ปรับปรุงหลักสูตรเป็นหลักสูตรภูมิสังคม คือ มีการศึกษาทุนทางสังคมของชุมชน เช่น ทุนเศรษฐกิจทุนวัฒนธรรม ทุนอาชีพ ทุนภูมิปัญญา ทุนเงินตรา และกำหนดสาระตามทุนต่างๆเหล่านี้เข้าไปในหลักสูตร
- พัฒนาบุคลากร เกี่ยวกับการสอน แบบ Active learning / การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย
- ปรับปรุงหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
- จัดการเรียนรู้แบบ Active learning
- วัดและประเมินผลตามสมรรถนะ
- ชุมชน/ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
- C : ประเมินและสรุปผล
- นิเทศติดตามผลการจัดกิจกรรม โดยการสังเกต สอบถาม ออย่างต่อเนื่อง
- จัดกิจกรรม PLC ทุกสัปดาห์ ( ทุกวันศุกร์ เวลา 14.00-16.30 น ) เพื่อให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และเรื่องอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
- ครูรายงานสรุปผลการดำเนินงานเป็นรายบุคคล
- A : ปรับปรุงแก้ไขและวางแผนใหม่ต่อไป นำข้อมูลที่ได้จากการนิเทศติดตาม และ การ PLC มาช่วยเหลือครู และปรับปรุงการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นวัตกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้
- ด้านบริหาร การบริหารแบบมีส่วนร่วมโดยใช้นวัตกรรมครูสามเส้า (ครูในโรงเรียน/ครูผู้ปกครอง/ครูในชุมชน)
- ด้านงานวิชาการ การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานฐานวิจัย 5 หน่วย 14 ขั้นตอน ประกอบด้วย
- หน่วยที่ 1 หน่วยได้เรื่อง มี 2 ขั้นตอน คือ
- เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว
- วิเคราะห์เลือกเรื่อง
- หน่วยที่ 2 โครงงาน มี 3 ขั้นตอน คือ
- พัฒนาโจทย์วิจัย
- ออกแบบงานวิจัย
- นำเสนอโครงงานวิจัย
- หน่วยที่ 3 สืบค้นข้อมูล มี 3 ขั้นตอน คือ
- สร้างเครื่องมือ
- ลงพื้นที่เก็บข้อมูล
- ตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูล
- หน่วยที่ 4 ทางเลือกใหม่ ( ปฏิบัติการทางสังคม ) มี 4 ขั้นตอน คือ
- ศึกษาข้อมูลชุมชน
- กำหนดทางเลือกใหม่
- สร้างแผนปฏิบัติการ
- ทดลองปฏิบัติการ
- หน่วยที่ 5 สรุปและรายงานผล มี 2 ขั้นตอน คือ
- รายงานผล
- นำเสนอผลงานวิจัย
กิจกรรมเด่นเน้นลงมือทำที่นักเรียนชื่นชอบ
- หน่วยที่ 3 สืบค้นข้อมูล ขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนที่นักเรียนต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชน การเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และวางแผนการลงพื้นที่ สอบถาม สัมภาษณ์ ลงปฏิบัติด้วยตนเอง เรียนรู้จากผู้รู้ในชุมชน ทำให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าของความรู้ที่อยู่ใกล้ตัว ได้สัมผัสและเกิดความภูมิใจในภูมิปัญญาของคนในชุมชน ทำให้เห็นว่าความรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และการเรียนรู้ไม่ได้มีแค่วิชาการเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีวิชาชีวิตที่ต้องเรียนรู้ด้วย
- กระบวนการสร้างแผนและปฏิบัติการ เป็นขั้นตอนคืนข้อมูลชุมชน เมื่อนักเรียนลงพื้นที่เก็บข้อมูล นักเรียนสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ ประมวลผลข้อมูลและสามารถนำเสนอข้อมูลในชุมชนได้ทราบจากการเรียนรู้ของตนเอง
ผลลัพธ์หลังจากใช้นวัตกรรม
- นักเรียน มีการเรียนรู้ตั้งแต่การวางแผนการลงพื้นที่ นักเรียนต้องเตรียมก่อนลงพื้นที่ ทั้งเครื่องมือในการลงพื้นที่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของนักเรียนแต่ละคน นักเรียนต้องเขียนหนังสือขออนุญาต และต้องขออนุญาตจากผู้บริหารด้วยตัวของนักเรียนเอง เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ วางแผนงานการเดินทาง พาหนะที่ต้องเดินทาง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะลงพื้นที่ และ ตารางเวลาการลงพื้นที่แต่ละครั้ง นักเรียนได้ประสบการณ์จริงจากการที่ได้ปฏิบัติด้วยตนเอง นักเรียนทุกคนใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ตามความสามารถ กล้าแสดงออก มีทักษะการนำเสนอ
- ครู เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษา ครูได้เทคนิคการตั้งคำถาม ครูได้เรียนรู้พฤติกรรมและความสามารถของนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูเล็งเห็นว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนั้นพัฒนาศักยภาพนักเรียน
- ผู้อำนวยการ เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน อาทิ เทคนิควิธีการสอนของครู การใช้สื่อแหล่งเรียนรู้ของครูที่พัฒนาขึ้น พัฒนาการของครูและนักเรียน พฤติกรรมการแสดงออกของนักเรียนระหว่างการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
ซึ่งโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้าน ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ดังนี้
- ครู มีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน มีความกระตือรือร้นในการสอน มีการเตรียมการสอน ใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน อย่างหลากหลาย และคุ้มค่า
- นักเรียน ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้เรียนรู้ตามความสนใจ เกิดความกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์สามารถออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ นักเรียนอยากเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น
- ผู้อำนวยการ มีการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะเป็นโค้ช ให้กับครู และเป็นผู้นำทางวิชาการ
- ชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดูแลเอาใจใส่การเรียนของบุตรหลานมากขึ้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น เช่น ปราชญ์ชาวบ้านอาสามาช่วยสอนเกี่ยวกับภูมิปัญญาในชุมชนให้นักเรียน
โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ โรงเรียนนำร่องพื้นทีนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล มีความมุ่งมั่นให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ รู้จักวางแผน และแก้ไขปัญหา โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากการลงพื้นที่ปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อที่จะได้รู้จักคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ซึ่งโรงเรียนพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย แต่การทำงานต้องการบุคลากรสนับสนุน เพื่อช่วยให้ครูได้จัดการสอนอย่างเต็มที่ และในส่วนของการย้าย หรือบรรจุแต่งตั้งครู/ผู้บริหาร เข้ามาในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องการให้ผ่านการกลั่นกรองเป็นกรณีพิเศษ มีใจที่จะพัฒนา และเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกัน คำนึงถึงความสุขของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อจะได้มองเห็นเป้าหมายการทำงานในแบบเดียวกัน
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน/สัมภาษณ์ : นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์ : รัชนี ทองเงิน (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ บทสัมภาษณ์ พ.ศ. 2564)
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์